“ในหลวง-พระราชินี” พระราชทานเครื่องมือการแพทย์แก่ กทม.ไว้รับมือผู้ป่วยโควิด-19 ยอดติดเชื้อใหม่ยังพุ่ง 18,501 ราย ดับเพิ่ม 229 ราย “ธนกร” โวยอดคนรักษาหายกลับบ้านสูงเกินกว่า 2 หมื่น 20 วันติดแล้ว “สธ.” ฟุ้งบริหารจัดการเตียงคล่องขึ้น แต่ไอซียูยังลำบาก “ศบค.ชุดเล็ก” เคาะแล้วเตรียมหาช่องผ่อนคลายยกยวง “นั่งกินในร้าน-เปิดห้าง-ร้านเสริมสวย-สปา” แต่ยังคงเคอร์ฟิว ปลัด สธ.แจงยิบข้อกำหนดนั่งกินในร้านสุดเฮี้ยบ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม เวลา 09.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องมือการแพทย์ และเครื่องช่วยหายใจ (ระบบปริมาตรและความดัน) แก่สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย และรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีนายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ เป็นตัวแทนรับพระราชทานเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร โดยเครื่องมือการแพทย์พระราชทาน ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ ยี่ห้อ Hamilton รุ่น G5 จำนวน 8 เครื่อง และเครื่องตรวจติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพระบบรวมศูนย์ (Central Monitor) 10 เครื่อง
ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,501 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 18,350 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,944 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,406 ราย และมาจากเรือนจำ 139 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,120,869 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 20,606 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 923,621 ราย อยู่ระหว่างรักษา 186,934 ราย อาการหนัก 5,174 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,090 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 229 ราย เป็นชาย 127 ราย หญิง 102 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปี 151 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคเสี่ยง 57 ราย เป็นเด็กอายุ 12 ปี 1 ราย อยู่ที่ จ.ชลบุรี โดยมีโรคประจำตัวคือโรคมะเร็งต่อมไพเนียร์ และเป็นการเสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย อยู่ที่ กทม. โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตที่ กทม. 71 ราย ทำให้ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 10,314 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 26 ส.ค. ได้แก่ กทม. 4,178 ราย, สมุทรปราการ 1,887 ราย, สมุทรสาคร 982 ราย, ชลบุรี 973 ราย, นครราชสีมา 693 ราย, นนทบุรี 504 ราย, ราชบุรี 493 ราย, ระยอง 472 ราย, ฉะเชิงเทรา 459 ราย และบุรีรัมย์ 432 ราย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.มีการตรวจแบบ ATK พบผลบวกทั่วประเทศ 2,339 ราย โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้นำมารวมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เนื่องจากต้องการตรวจยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง
โอ่ยอดคนกลับบ้าน 20 วันติด
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยมีสัญญาณดีขึ้น ในขณะที่ยอดผู้ป่วยที่รักษาหายสามารถกลับบ้านได้ ตัวเลขอยู่ที่กว่าสองหมื่นรายติดต่อกันเป็นเวลา 20 วันแล้ว และจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้านนั้นมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน 10 วันด้วย ถือเป็นข่าวดีในช่วงเวลานี้อย่างมาก โดยสถิติสูงสุดผู้ป่วยหายกลับบ้านคือ วันที่ 14 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 23,672 ราย โดยยอดผู้ป่วยทั่วประเทศที่หายกลับบ้านสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 อยู่ที่ 896,195 คน ยอดผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,092,006 คน ขณะที่ยอดผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาลดลงเหลืออยู่ที่ 186,934 คนแล้ว ขอให้ทุกคนอดทน ยึดหลักปฏิบัติในการป้องกันอย่างเข้มงวดตามหลักสากล และปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันลดโอกาสการติดเชื้อเพิ่ม และถือเป็นการลดความกดดันต่อแพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้าอีกด้วย
ขณะที่นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษก ศบค.ยธ.กล่าวว่า มีเรือนจำที่พ้นจากการแพร่ระบาดเพิ่ม 1 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงสงขลา เพราะไม่มีการระบาดเพิ่ม ส่งผลให้มีเรือนจำสีแดงที่พบการระบาด 38 แห่ง และเรือนจำสีขาวที่ไม่มีการแพร่ระบาด 104 แห่ง ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวน 139 ราย มาจากเรือนจำสีแดง 97 ราย และในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 42 ราย รักษาหายเพิ่ม 304 ราย เสียชีวิต 5 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 3,381 ราย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมยังเกิดคลัสเตอร์โรงงานกระจายในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง จึงได้ขอความร่วมมือโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จำนวน 3,300 แห่ง ทำการประเมินผ่าน Thai Stop COVID Plus โดยโรงงานที่ยังไม่พบพนักงานติดเชื้อขอให้ยังคุมเข้มต่อไป แต่หากโรงงานพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 10% ของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดก็ไม่ควรปิดบัง ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สั่งการและให้คำแนะนำ หลังจากนั้นให้พิจารณาปิดพื้นที่หรือสถานที่และทำความสะอาดพื้นผิวทันที โดยจัดการแบบ Bubble and Seal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
สธ.ยันบริหารเตียงไหลลื่นขึ้น
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ว่า สถานการณ์เตียงในต่างจังหวัดเริ่มตึง แต่จังหวัดที่มีปัญหามีไม่มาก เพราะการบริหารค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในแต่ละจังหวัด ขณะที่ใน กทม.ภาพรวมของการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) ยอดสะสมอยู่ที่ 86,188 ราย ช่วงต้นๆ มีติดขัดบ้าง แต่ตอนนี้ระบบค่อนข้างไหลลื่นแล้ว มีการขยายคู่สายเป็น 2-3 พันคู่สาย โดยเฉลี่ยแต่ละวันตอนนี้เฉพาะผู้ป่วยใหม่ในกรุงเทพฯ ประมาณวันละ 4 พันคน มีผู้ป่วยที่ยินยอมทำ HI วันละกว่าพันคน ส่วนศูนย์พักคอย Community Isolation (CI) ในกรุงเทพฯ เปิดดำเนินการแล้ว 64 แห่ง มีจำนวนเตียง 8,694 เตียง จำนวนครองเตียง 3,410 เตียง คงเหลือ 5,284 เตียง รับผู้ป่วยใหม่ 251 ราย สะสม 15,749 ราย ส่วนที่เหลือก็จะเข้าไปรักษาในฮอสพิเทลหรือเข้าโรงพยาบาล ทั้งนี้จากการทำ HI และ CI ทำให้จำนวนการรอคอยเตียงลดลงอย่างชัดเจน ระยะเวลาการรอคอยเตียงดีขึ้น รอคอยเกิน 24 ชม.มีไม่มากนัก
"สถานการณ์สีเหลืองดีขึ้นเยอะ ส่วนสีแดงยังต้องรอคอยอยู่ โดยจากที่คนไข้ในกรุงเทพฯ เกินพันขึ้นไป ทำให้เรากลัวว่าเตียง ICU ไม่พอ ตอนนี้ยังบริหารจัดการค่อนข้างยาก ต้องดูวันต่อวัน แต่จำนวนที่รอคอยเกิน 24 ชม.ดีขึ้น” นพ.สมศักดิ์กล่าว
สำหรับสถานการณ์ในต่างจังหวัดนั้น นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,887 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึงปัจจุบัน 73,824 ราย และมีผู้เสียชีวิต 14 ราย เป็นเพศชาย 8 ราย และเพศหญิง 6 ราย ส่วนที่ จ.สมุทรสาครพบผู้ป่วยใหม่ 982 ราย
ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 286 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ที่ อ.บ้านกรวด ขณะที่เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ได้ประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการถนนคนเดินเซราะกราววอล์กกิงสตรีท จากมติปิดถนนคนเดินเซราะกราวตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. โดยจะมีการเยียวยาผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าที่มีล็อกประจำรายละ 500 บาท ซึ่งมีอยู่ประมาณ 430 ล็อก
ที่ จ.นครพนม ยังคงมีความต่อเนื่องจากคลัสเตอร์กลุ่มผู้ใช้แรงงานในศูนย์กระจายสินค้าเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม ซึ่งล่าสุดจังหวัดได้มีคำสั่งให้บุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวมทั้งสิ้น 29 จังหวัด ต้องไปพัก ณ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐที่ราชการกำหนด (State Quarantine) และต้องผ่านการคัดกรองก่อน ขณะที่ จ.อำนาจเจริญ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 39 ราย รวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอก 3 จำนวน 2,507 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยคงสะสมที่ 18 ราย
สำหรับจังหวัดในภาคใต้ จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อโควิด 197 ราย ยอดสะสม 18,500 ราย ส่วน จ.ปัตตานี ปรากฏว่าใน 2 วันที่ผ่านมายอดผู้ติดเชื้อลดลงมาก โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อใหม่ 99 ราย และเสียชีวิตอีก 3 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 14,588 ราย รักษาหาย 10,836 ราย และเสียชีวิตสะสม 213 ราย
ผ่อนคลายร้านและคงเคอร์ฟิว
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ได้พิจารณามาตรการผ่อนคลายบางส่วนตามข้อเสนอของ สธ. ก่อนเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน ในวันที่ 27 ส.ค. เวลา 09.30 น.
โดย ศปก.ศบค.เตรียมเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่ผ่อนคลายมาตรการบางประเภทในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำกัดการเดินทางที่ผ่อนคลายเป็นขอความร่วมมือ หรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง และห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และกำหนดมาตรการบริการขนส่งข้ามเขตพื้นที่สีแดงเข้ม ส่วนเรื่องการจัดกิจกรรมนั้น ให้ผ่อนคลายการจัดกิจกรรมหรือรวมคนได้ไม่เกิน 25 คน ขณะที่เรื่องร้านอาหาร บริโภคในร้านได้ตามประเภทร้าน และกำหนดเกณฑ์ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ โดยเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. แต่ยังคงงดการจำหน่ายและงดดื่มสุราในร้าน ส่วนศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดบริการได้แบบมีเงื่อนไข โดยเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ยกเว้นกิจกรรมเสี่ยงบางอย่างที่ยังไม่ให้เปิดบริการ อาทิ สถาบันกวดวิชา, โรงภาพยนตร์, สปา, สวนสนุก, สวนน้ำ, ฟิตเนส, ห้องออกกำลังกาย, สระว่ายน้ำ, ห้องประชุมและจัดเลี้ยง
สำหรับร้านเสริมสวย ร้านนวด สถานเสริมความงามนั้น ผ่อนคลายให้เปิดบริการได้ ยกเว้นร้านนวดที่เปิดได้เฉพาะนวดเท้า ส่วนเรื่องสถานศึกษาทุกระดับ สถานกวดวิชา ผ่อนคลายให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนทำกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยมีมาตรการกำกับอย่างเคร่งครัด ส่วนสถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬานั้น ผ่อนคลายให้เปิดบริการได้ในประเภทกีฬากลางแจ้ง หรือในร่มที่เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศ และการซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท โดยผ่านความเห็นชอบและรับทราบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. โดยเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. สำหรับการจัดการแข่งขันต้องจัดโดยไม่มีผู้เข้าชม โดยผู้ที่จะร่วมการแข่งขันต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือ 1 เข็ม และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ขณะที่ผู้จัดการแข่งขันต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง เรื่องการจำกัดการเดินทางนั้นผ่อนคลายเป็นไม่จำกัดการเดินทาง ส่วนเรื่องการจัดกิจกรรมนั้นผ่อนคลายเป็นห้ามรวมคนไม่เกิน 50 คน ขณะที่พื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้มผ่อนคลายเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรวมคน โดยรวมคนได้ไม่เกิน 100 คน โดยให้มีผลวันที่ 1 ก.ย. ขณะที่สถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่นในลักษณะคล้ายกันนั้น ยังคงปิดบริการในพื้นที่ทุกระดับสีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม สำหรับผลสรุปข้อเสนอดังกล่าวต้องรอความชัดเจนจากมติที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับมาตรการที่ สธ.เสนอเพื่อผ่อนคลายในส่วนของสถานประกอบการและร้านอาหารในระบบปิดนั้น สธ.ได้เสนอให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ 50% และปิดร้านในเวลา 20.00 น. พร้อมมีเงื่อนไขการผ่อนคลายที่ได้ตกลงกับผู้ประกอบการในพื้นที่สีแดงเข้ม
ก่อนหน้านี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงถึงการผ่อนคลายมาตรการสถานประกอบการ ร้านอาหารในระบบปิด ว่าจะนั่งทานในร้านได้ประมาณ 50% และปิดร้านในเวลา 2 ทุ่ม โดยต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.ระดับบุคคล หรือผู้ที่เข้ารับบริการต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention หรือการป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล เป็นการป้องกันตนเองระดับสูง 2.ระดับองค์กร ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Program จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.สภาพแวดล้อมของสถานประกอบการหรือร้านอาหารต้องเว้นระยะห่าง ระบบระบายอากาศ สุขอนามัย สะอาด ปลอดภัย โดยเฉพาะสถานประกอบการระบบปิด 2.ผู้ประกอบการ/พนักงาน หรือผู้รับบริการที่ต้องอยู่ภายในสถานประกอบการต้องได้รับวัคซีนครบ 2 โดส หากเคยติดเชื้อต้องหายพ้นระยะการแพร่เชื้อแล้วมากกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน และมีการตรวจ ATK ในทุกสัปดาห์ แต่หากมีอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมากอาจต้องตรวจทุก 3 วัน รวมไปถึงการปฏิบัติร่วมกับมาตรการ DMHTA
“ส่วนลูกค้าหากต้องเข้ารับบริการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องมีการแสดงบัตรเขียว (Green Card) เพื่อแสดงว่าได้รับวัคซีนครบ 2 โดส หรือบัตรเหลือง (Yellow Card) แสดงว่าเคยติดเชื้อหายแล้วมากกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน หรือมีการตรวจ ATK ในทุกสัปดาห์ โดยมีอายุการใช้งาน 1 สัปดาห์ ในกรณีที่เข้ารับบริการหากไม่มีทั้งบัตรเขียวหรือเหลืองก็ต้องได้รับการตรวจ ATK จากที่ตรวจเองที่บ้าน แต่ต้องซื่อสัตย์ด้วย หรือที่สถานประกอบการ หากพบว่าผลเป็นลบ ผู้ประกอบการจะออกบัตรเหลืองให้เพื่อยืนยันการเข้ารับบริการ และ 3.ต้องมีการกำกับติดตามประเมินผลจาก สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น” นพ.เกียรติภูมิกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |