พอตอลิบันยึดอัฟกานิสถานและสหรัฐถอยกรูดอย่างไม่เป็นขบวน หนึ่งในคำถามสำคัญที่โยงกับ “ภูมิรัฐศาสตร์” ก็คือจีนมีท่าทีต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอัฟกานิสถานอย่างไร?
ผมติดตามแถลงการณ์และคำให้สัมภาษณ์จากปักกิ่งในช่วงนี้ก็จับความได้ว่า จีนต้องการจะร่วมมือกับตอลิบันในการจัดระบบในอัฟกานิสถานแน่นอน
เพราะจีนมีเหตุผลหลายประการที่ไม่ต้องการเห็นความไร้เสถียรภาพในประเทศที่มีชายแดนติดไปทางด้านตะวันตก
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนหวัง อี้ ยืนยันว่าจะมีความสัมพันธ์ “ทางด้านสร้างสรรค์” กับรัฐบาลใหม่ในอัฟกานิสถาน
และยืนยันความพร้อมที่จะพูดคุยกับสหรัฐที่จะ “หาทางลง” ที่ไม่ให้เกิดความรุนเเรงในอัฟกานิสถาน
จีนไม่ลังเลที่จะบอกว่าสหรัฐไม่ควรจะถอนทหารออกไปอย่างฉับพลันกะทันหันจนเกิดความสับสนอลหม่านไปทั่ว
แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐบอกว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีหวัง อี้ ได้คุยกันทางโทรศัพท์
ทั้งคู่ปรึกษาหารือประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงและแผนอพยพประชาชนของตนออกจากอัฟกานิสถานให้เรียบร้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
หวัง อี้ ยืนยันว่าจีนจะพยายามช่วยให้ไม่เกิดหายนะด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน
และจะไม่ปล่อยให้ประเทศนั้นเป็นแหล่งผลิตและหลบซ่อนของผู้ก่อการร้าย
ประโยคหลังนี้มีความสำคัญไม่น้อย เพราะจีนมีความระแวงคลางแคลงมาตลอดหลายสิบปีก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงชาวอุยกูร์ที่เป็นอิสลามด้วยได้รับการฝึกอาวุธจากกลุ่มสุดโต่งในอัฟกานิสถาน
จีนเคยเตือนตอลิบันว่าอย่าได้ให้ท้ายหรือส่งเสริมให้กลุ่มติดอาวุธอุยกูร์ก่อเหตุร้ายในมณฑลซินเจียงของจีน
ปักกิ่งถือว่าซินเจียงเป็นเขตปกครองที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านความมั่นคง
จีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับกลุ่มติดอาวุธที่ถูกกล่าวว่าพยายามแยกดินแดนด้วยมาตลอด
อีกด้านหนึ่งจีนมีความสนใจแหล่งของสินแร่หายาก หรือ rare earth ในอัฟกานิสถานมายาวนาน เพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับหลายอุตสาหกรรมของจีน
การที่หวังอี้แสดงท่าทีทางบวกต่อตอลิบันในจังหวะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจึงมีความหมายเป็นพิเศษ
ความจริงลึกๆ แล้วจีนอาจจะไม่ได้ต่อต้านการที่สหรัฐไปมีบทบาทในอัฟกานิสถานมากนัก
เพราะจีนก็ต้องการเห็นการจัดการกับกลุ่มติดอาวุธมากมายหลายกลุ่มในประเทศนี้ เพราะบางกลุ่มก็ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของจีนเช่นกัน
ด้านหนึ่งจีนก็อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการที่จะถ่วงดุลความสัมพันธ์กับตอลิบัน
แต่ปักกิ่งก็ไม่ต้องการจะวางตัวเป็นศัตรูกับตอลิบัน ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในประเทศนั้น
สิ่งที่จีนจับตาก็คงไม่ต่างอะไรกับที่เกือบทั้งโลกกำลังพยายามจะทำความเข้าใจว่าแกนนำของตอลิบันยุคนี้จะปรับเปลี่ยนจุดยืนและแนวทางการบริหารประเทศที่แตกต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด
ด้านหนึ่งนักสังเกตการณ์ทั่วโลกก็เห็นว่าตอลิบันรุ่นนี้ต้องการจะมีภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
ตอลิบันยุคนี้ต้องการสร้าง “ความชอบธรรม” ในเวทีระหว่างประเทศด้วยการประกาศว่าจะเคารพในสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีมากกว่าเดิม
อีกทั้งยังพร้อมจะเปิดสัมพันธ์กับทั่วโลกแม้กระทั่งกับสหรัฐ และยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศด้วย
สำหรับจีนแล้วอัฟกานิสถานย่อมต้องอยู่ในแผนการพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในหลายๆ ด้าน รวมถึงการชักชวนให้ตอลิบันมาร่วมเครือข่ายระบบโครงสร้างพื้นฐานข้ามประเทศของจีน ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI)
ผมสังเกตว่าโฆษกของทางการจีนบอกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า จีนเปิดช่องทางการพูดคุยกับฝ่ายตอลิบัน “บนพื้นฐานของการเคารพอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของอัฟกานิสถานและเจตจำนงของคนทุกฝ่ายในประเทศ”
นักวิเคราะห์บางคนอาจจะมองว่า เมื่อสหรัฐถอนตัวออกไปแล้ว จีนก็อาจจะมองหาหนทางที่จะเข้ามาถม “สุญญากาศ” ที่สหรัฐทิ้งเอาไว้
เรื่องมันอาจจะไม่ได้ง่ายหรือเป็นภาพขาว-ดำเช่นนั้น
เพราะทุกอย่างกำลังอยู่ในจังหวะของการปรับเปลี่ยนและความไม่แน่นอนก็มีสูงในทุกๆ มิติ
แม้แต่ตอลิบันเองก็คงจะยังไม่แน่ใจว่ากลุ่มของตนจะต้องปรับตัวอย่างไรหลังจากใช้ชีวิตในฐานะนักรบในหุบเขามา 20 ปี และชัยชนะที่ได้มาอย่างรวดเร็วฉับพลันเช่นนี้ก็อาจจะเกินความคาดหมายไม่เพียงแต่ของวอชิงตันเท่านั้น
แต่แกนนำตอลิบันเองก็คงจะยังกำลังต้องตั้งหลักคิดและวางแผนสำหรับจังหวะก้าวเดินต่อไปก็ได้
เพราะแกนนำตอลิบันวันนี้คงตระหนักแล้วว่าการ “ยึดครอง” กับการ “ปกครอง” นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |