“มาด้วยใจ...ไม่มีใครจ้าง !! ”


เพิ่มเพื่อน    

ข้าวปลาอาหารจากพี่น้องต่างจังหวัดส่งมาช่วยชาวชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

“มาด้วยใจ”  ทีมแพทย์ชนบทนั่งรถซาเล้งเข้าไปตรวจคัดกรองโควิดที่ชุมชนย่านอ่อนนุช  กรุงเทพฯ  เมื่อเร็วๆ นี้

 

          ขึ้นชื่อเรื่องแบบนี้แล้ว  ท่านผู้อ่านคงจะคิดในใจว่า “มันต้องเป็นเรื่องม็อบหรือการชุมนุมทางการเมืองแน่ๆ”  แต่เปล่าหรอกครับ  เพราะเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้  เป็นเรื่อง “การชุมนุมทางน้ำใจ” ของพี่น้องเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศที่ส่งข้าวปลาอาหาร  รวมถึงการระดมกำลังของทีมแพทย์ชนบทและจิตอาสามาช่วยเหลือชาวชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่โดนพิษโควิดเล่นงานจนเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมย่าน...

 

ข้าวจากนารวม ‘บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ’

          ป้าสนอง  รวยสูงเนิน  แกนนำเครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ  อ.ชุมแพ  จ.ขอนแก่น  บอกว่า  ชาวชุมชนบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลเมืองชุมแพมี 13 โครงการ  สมาชิก 1,052 ครัวเรือน  ต่างก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเหมือนกัน  เพราะชาวชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย  หาเช้ากินค่ำ  มีอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ  รับจ้างทั่วไป  ขับรถรับจ้าง  ฯลฯ  เมื่อทางเทศบาลประกาศปิดตลาดสด  ปิดสถานีเดินรถ บขส.  ปิดถนนคนเดิน  เพื่อควบคุมโควิด  ทำให้ชาวบ้านที่เคยทำมาหากินในย่านนี้ต้องเดือดร้อน  เพราะถนนไม่มีคนเดิน 

          “แต่ก็ถือว่า  คนที่อยู่ต่างจังหวัดยังเดือดร้อนน้อยกว่าคนในกรุงเทพฯ  เพราะเรายังพอมีพื้นที่ปลูกผัก  ปลูกข้าว  หาปู  หาปลา  หาหน่อไม้มาทำกินได้  อากาศก็ยังปลอดโปร่ง  บ้านเรือนไม่แออัด  เมื่อรู้ข่าวว่าพี่น้องชุมชนในกรุงเทพฯ เดือดร้อนเพราะโควิด  ต้องตกงาน  ไม่มีรายได้  ขาดข้าวปลาอาหาร  ขาดยา  ขาดสมุนไพร  ผู้นำชุมชนในภาคต่างๆ จึงประชุมกันผ่านซูม  ผ่านกลุ่มไลน์  บอกข่าวว่าพี่น้องในชนบทจะช่วยเหลือพี่น้องชุมชนในกรุงเทพฯ ได้อย่างไร ?  ใครมีพริก  มีผัก  มีสมุนไพร  มีข้าว  มีปลาร้า ปลาแห้ง  ก็ให้ส่งมาตามกำลังที่มีอยู่  แล้วรวบรวมส่งรถบรรทุกไปกรุงเทพฯ”  ป้าสนองในฐานะแกนนำคนหนึ่งของภาคอีสานบอกความเป็นมา

 

สมาชิกเครือข่ายบ้านมั่นคงฯ เมืองชุมแพ ประชุมรับมือสถานการณ์โควิด

 

          เครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพเป็นตัวอย่างหนึ่งของการมองการณ์ไกล  โดยสร้างแหล่งอาหารของชุมชนขึ้นมา  ราวปี 2547 พวกเขาที่เดือดร้อนเพราะไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง  ต้องบุกรุกที่ดินรัฐและเอกชนปลูกสร้างที่อยู่อาศัย  ถูกขับไล่  จึงรวมตัวกันจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองชุมแพและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เช่าที่ดินรัฐหรือซื้อที่ดินใหม่เพื่อสร้างบ้านเป็นของตัวเอง  (ปัจจุบันสร้างบ้านเสร็จและเข้าอยู่อาศัยแล้ว  รวม 13 โครงการ  สมาชิก 1,052 ครัวเรือน /สืบค้นรายละเอียดได้ใน google “บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ”)

          หลังจากนั้นในปี 2553 พวกเขาได้ระดมหุ้นจากสมาชิกเครือข่ายจัดซื้อที่นา  เนื้อที่ประมาณ 38 ไร่  (ราคา 2.6 ล้านบาท) เพื่อทำนารวม  ปลูกผักต่างๆ  เลี้ยงปลา  ได้ข้าวเปลือก (ข้าวเหนียว) ประมาณปีละ 20 ตัน  นำผลผลิตมาขายเข้ากองทุน  ส่วนที่เหลือแบ่งปันให้ผู้เดือดร้อน   ล่าสุดคือส่งมาช่วยเหลือพี่น้องชุมชนในกรุงเทพฯ ที่กำลังโดนพิษโควิดเล่นงานอยู่ในขณะนี้

          “ตอนนี้มันเหมือนกับเป็นสงครามโรคที่รุนแรงมาก  และเรามองไม่เห็นตัวมัน  แต่ก็เดือดร้อนกันไปหมด  พี่น้องในชนบทก็ได้รับผลกระทบด้วย  แต่เรายังช่วยเหลือตัวเองได้  ส่วนพี่น้องในกรุงเทพฯ ตอนนี้มีความลำบากกว่า  เราจึงต้องช่วยเหลือกันเพื่อให้รอดจากสงครามครั้งนี้”  ป้าสนองย้ำ

 

ธารน้ำใจจากชนบทสู่เมืองกรุง

          ไม่เพียงข้าวเหนียว  พริกแห้ง  สมุนไพร  ฯลฯ  จากเครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพเท่านั้น  พี่น้องชาวชุมชนภาคอีสานที่รวมตัวกันในนามเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน  เครือข่ายบ้านมั่นคง  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนฯ  เช่น   จังหวัดขอนแก่น  ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ  ศรีสะเกษ  เลย  สกลนคร  ฯลฯ  รวมทั้งพี่น้องจากภาคเหนือ  ภาคกลาง  ภาคตะวันตก  ภาคใต้  ภาคตะวันออก  ยังได้ทยอยส่งข้าวปลาอาหาร  ผลไม้   พริก  ผักต่างๆ  เพื่อใช้เป็นอาหารและมีฤทธิ์เป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโควิดด้วย  เช่น  หอมแดง  ขิง  ข่า  ตะไคร้  กระชาย  กระเทียม  มะกรูด  มะนาว  ฯลฯ

 

“มาด้วยใจ”  ชาวชุมชนในกรุงเทพฯ มาช่วยกันคัดแยกอาหารก่อนแบ่งปันไปสู่ชุมชนต่างๆ

 

          วีนัส  ตีรพัฒนพันธุ์  จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’ ผู้ประสานงานการรับมอบสิ่งของเพื่อนำไปช่วยเหลือชุมชนบอกว่า  พอช. มีภารกิจในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ  ชุมชนต่างๆ เหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สมาชิก  เมื่อพี่น้องเครือข่ายต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคทราบข่าวความเดือดร้อนของชาวชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด  จึงช่วยกันกระจายข่าวเพื่อรวบรวมผลผลิตที่ตัวเองมีอยู่นำใส่รถบรรทุกส่งมาที่ พอช. กรุงเทพฯ    เพื่อให้พี่น้องชุมชนต่างๆ  มาแบ่งปันกันไป 

          การส่งมอบน้ำใจให้แก่พี่น้องชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมเป็นต้นมา  โดยเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน-เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน จ.กาญจนบุรี  หลังจากนั้นจึงมีเครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ ทั่วภูมิภาคทยอยส่งข้าวปลาอาหารเข้ามาจนถึงปัจจุบัน  (ประมาณ 30 ตัน)  นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน  เช่น  บริษัทน้ำตาลมิตรผลมอบแอลกอฮอล์เพื่อใช้ทำเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรค  บริษัทไทยเบฟฯ มอบน้ำดื่มและแตงโมที่รับซื้อช่วยเหลือเกษตรกร 4,000 กิโลกรัม  ชมรมฟอร์ดสมุทรปราการมอบของใช้สำหรับผู้ป่วย ชมรมฮักหล่มสักมอบสบู่และยาสีฟัน  สมาคมบริษัทจดทะบียนไทยมอบข้าวสาร 1,000  กิโลกรัม  ฯลฯ

          ทั้งนี้ข้าวปลาอาหารและสิ่งของต่างๆ กระจายลงไปสู่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ  นนทบุรี  สมุทรปราการ  ปทุมธานี  และนครปฐม  รวมทั้งชุมชนในเครือข่ายสลัม 4 ภาค  ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู  บ้านพูนสุข จ.ปทุมธานี   และชุมชนคลองเตย  รวมแล้วกว่า 42 เมือง/เครือข่าย

 

ข้าวสารจำนวน 200 ถุง รวม 1,000 กิโลกรัมจากสมาคมบริษัทจดทะบียนไทย

 

ร่วมกันสร้างวัคซีนในชุมชน

          แม้ว่าขณะนี้การฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ  โดยเฉพาะในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ซึ่งถือเป็นแหล่งแพร่เชื้อคลัสเตอร์ใหญ่ของประเทศ 

          ขณะเดียวกันชาวชุมชนต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้นั่งงอมืองอเท้า  หรือรอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว  โดยเฉพาะในชุมชนที่มีการรวมตัวกันพัฒนาชุมชน  มีคณะกรรมการชุมชน  มีอาสาสมัครสาธารณสุข  (อสส.)  มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)  รวมทั้งจิตอาสาในชุมชนที่รวมตัวมาช่วยเหลือกันในยามยากลำบากนี้

          นุชจรี  พันธ์โสม  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  ซอยรามคำแหง 39  กรุงเทพฯ  บอกว่า  สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางมีสมาชิก 20 ชุมชน  ประชากรรวมกว่า 20,000 คน   ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง  เป็นพนักงานร้านอาหาร  พนักงานในห้าง  ร้านนวด  คาราโอเกะ  แม่บ้าน  ขับแท็กซี่  ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง  รปภ. ฯลฯ  ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าตั้งแต่โควิดระลอกแรกปี 2563 เพราะมีการปิดงาน  ถูกเลิกจ้าง  ไม่มีรายได้

          ชุมชนสมาชิกจึงใช้เงินกองทุนที่มีอยู่  รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ  ร่วมสนับสนุน   จัดทำครัวกลางเพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563  นอกจากนี้ยังใช้ที่ว่างในชุมชนประมาณ 1 ไร่ (ที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) ปลูกผักสวนครัว  เลี้ยงปลาดุก  เพื่อนำมาทำเป็นอาหาร  และเป็นแหล่งอาหารสำรองของชุมชน   รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันการแพร่เชื้อ  แจกเจลล้างมือ  หน้ากากอนามัย  ฯลฯ

          “ส่วนโควิดปีนี้  เราได้เตรียมสถานที่พักคอยในชุมชนหรือ CI (Community Isolation) ที่ชุมชนรุ่งมณี  เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่รุนแรง  โดยใช้ศูนย์เด็กเล็กในชุมชน  รองรับผู้ป่วยได้ 10 เตียง  ตอนนี้มีชาวบ้านที่ติดเชื้อมาพักรักษาตัว 5 คน  และมี CI ของ กทม. ตั้งอยู่ในวิทยาลัยพณิชยการอินทราชัยใกล้ชุมชน  รองรับผู้ติดเชื้อได้ 90 คน  โดยเราส่งจิตอาสาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในชุมชนจำนวน 8 คน เข้าไปเรียนรู้การทำงานและช่วยงานพยาบาลใน CI แห่งนี้  เช่น  การลงทะเบียนผู้ป่วย  การจัดคิวเตียง  การดูแลผู้ป่วย  รวมทั้งออกไปเยี่ยมครอบครัวผู้ติดเชื้อและให้ความรู้ป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชนด้วย  ต่อไปจิตอาสาของเราก็จะช่วยดูแลคนในชุมชนได้  เป็นการป้องกันและสร้างวัคซีนในชุมชนขึ้นมา”  นุชจรีบอก

 

ช่วยกันวางเตียงกระดาษที่ศูนย์เด็กเล็กชุมชนรุ่งมณี

 

          เธอบอกด้วยว่า  ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงหรือมีสถานะสีเขียว  หากเตียงใน CI ยังไม่ว่าง  จะให้กักตัวในบ้าน (Home Isolation)  โดยทีมจิตอาสาจะให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ  เช่น  การดูแลตัวเอง  การแยกตัวออกจากคนในครอบครัว ฯลฯ  และประสานงานกับ สปสช.เพื่อจัดส่งยา  เครื่องวัดอ๊อกซิเจน   เพื่อวัดค่าอ๊อกซิเจนในเลือด  และรายงานผลทางไลน์ให้ทางศูนย์สาธารณสุขทราบทุกวันเพื่อติดตามอาการและดูแลผู้ป่วย  โดยทีมงานจิตอาสาจะส่งข้าวกล่องให้ 3 มื้อ  ขณะนี้มีผู้กักตัวในบ้าน 11 ครอบครัว  จำนวน 39 คน

          ชุมชนบ้านเกาะ  เขตคันนายาว  กรุงเทพฯ  เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เตรียมพร้อมรับมือกับโควิด  โดยที่ผ่านมาแกนนำในชุมชนได้เข้าอบรมความรู้เรื่องไวรัสโควิด-19  การป้องกันการติดเชื้อ   การเตรียมจัดตั้ง  Home Isolation  ฯลฯ   โดยมีคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพาให้ความรู้ผ่านระบบซูม 

          ขณะที่ชุมชนได้เตรียมบ้านว่างหลังหนึ่งเพื่อเป็นที่พักสำหรับผู้ติดเชื้อ  รองรับได้ประมาณ 7-8 คน  มีอาสาสมัครในชุมชนประมาณ 30 คน  ช่วยกันทำงาน  ประสานกับคลินิกอบอุ่น  และศูนย์สาธารณสุข 69 เขตคันนายาว  เพื่อให้คำแนะนำและดูแลผู้ป่วย  ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อในชุมชนกว่า 100 คน  (ส่วนหนึ่งรักษาตัวที่บ้านและหายแล้ว)  หากใครเจ็บป่วยรุนแรงก็ต้องส่งไปรักษาข้างนอก  และยังมีครัวกลางทำอาหารแจกผู้ติดเชื้อ  มีข้าว  มีผัก  มีสมุนไพรจากเครือข่ายองค์กรชุมชนในต่างจังหวัดที่ส่งมาช่วยเหลือ

 

สานพลังสังคมสู้ภัยโควิด

          นอกจากความตื่นตัวของชุมชนต่างๆ  ที่เตรียมพร้อมรับมือกับสงครามที่มองไม่เห็นศัตรูแล้ว  การตรวจโควิดเชิงรุกในชุมชนแออัด  เพื่อคัดแยกผู้ที่ติดเชื้อออกมารักษา  ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายเหมือนไฟลามทุ่ง   นับว่ามีความสำคัญอย่างเร่งด่วน  เพราะหากประชาชนไม่รู้ตัวว่าตนเองติดเชื้อ (เพราะอาการยังไม่รุนแรง) ก็จะทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปได้ง่าย  โดยเฉพาะในชุมชนแออัดที่มีประชาชนอยู่อาศัยกันหนาแน่น

          ดังนั้นด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน  เช่น  ชมรมแพทย์ชนบท  สปสช.  ภาคประชาสังคม  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  กลุ่มเส้นด้าย  ศูนย์สาธารณสุข กทม.  พอช.  ผู้นำชุมชน  ฯลฯ  จึงได้ร่วมกันจัดตรวจโควิดเชิงรุกในชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา  รวมแล้ว 3 ครั้ง  โดยยึดหลัก “ตรวจให้เร็ว  รักษาให้เร็ว”  เพื่อลดการแพร่เชื้อ  ลดอัตราการเจ็บป่วยหนัก  และลดภาวะเตียงล้น  บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ

 

ชาวชุมชนคลองเตยทุกเพศวัยมาตรวจคัดกรองโควิดกับทีมแพทย์ชนบทเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

          ทั้งนี้มีชาวชุมชนได้รับการตรวจไปแล้วกว่า 200,000  คน  ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษารวดเร็วภายในวันเดียว  เพราะทีมแพทย์ชนบทจะแจกยาให้แก่ผู้ติดเชื้อตามอาการ  เช่น  ฟ้าทะลายโจร  ฟาร์วิพิราเวียร์   รวมทั้งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงด้วย 

          โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4-10 สิงหาคมที่ผ่านมา  มีผู้ตรวจจำนวน 145,556 คน  ใน 369 ชุมชน  พบผู้ติดเชื้อจำนวน 16,186 คน  (11.1 %)  ได้รับยาฟาร์วิพิราเวียร์รวม  9,343 คน  ได้รับยาฟ้าทะลายโจร  3,614 คน   และมีกลุ่มเสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีน  7,761 คน   โดยผู้ที่ติดเชื้อจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย  ขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบการรักษาของ สปสช.  ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาทันที  โอกาสที่จะรักษาหายและเชื้อไม่แพร่กระจายจึงมีมาก

          นี่คือตัวอย่างการสานพลังทางสังคม  โดยพี่น้องเครือข่ายชุมชน  ภาคประชาสังคม  และหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วน  “มาด้วยใจ  ไม่มีใครจ้าง”  เพื่อผ่านวิกฤตโควิด  หรือสงครามโรคครั้งนี้ไปด้วยกัน !!

ci community-isolation home-isolation การชุมนุมทางน้ำใจ จิตอาสา ชมรมฟอร์ดสมุทรปราการ ชมรมฮักหล่มสัก ชุมชนบ้านเกาะ ชุมชนภาคอีสาน ชุมชนในกรุงเทพฯ ตรวจโควิดเชิงรุก ตรวจให้เร็ว -รักษาให้เร็ว นุชจรี -พันธ์โสม บริษัทน้ำตาลมิตรผล บริษัทไทยเบฟฯ บ้านมั่นคง บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ ป้าสนอง -รวยสูงเนิน พอช พี่น้องเครือข่ายชุมชน มาด้วยใจ...ไม่มีใครจ้าง วีนัส -ตีรพัฒนพันธุ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน-(องค์การมหาชน) สมาคมบริษัทจดทะบียนไทย สร้างวัคซีนในชุมชน สร้างแหล่งอาหารของชุมชน สานพลังสังคมสู้ภัยโควิด เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายบ้านมั่นคง เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนฯ เทศบาลเมืองชุมแพ แพทย์ชนบท โครงการ-‘บ้านมั่นคง’

เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"