สั่งทุกจว.เร่งฉีดวัคซีนหญิงท้อง


เพิ่มเพื่อน    

“หมอเบิร์ท” แจงตัวเลขฉีดวัคซีนไทยทะลุ 28 ล้านโดสแล้ว แต่ยังห่วงหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฉีดต่ำทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สั่งเร่งระดมทุกจังหวัดหาหญิงท้องเกิน 12 สัปดาห์เข้ามารับด่วน เผยเป้าหมายสิ้นปี 100 ล้านโดสเป็นไปได้หากจัดหาวัคซีนได้เพียงพอ “กทม.” เตรียมเปิดรถฉีดถึงบ้านในสัปดาห์หน้า
    เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงสถานการณ์ฉีดวัคซีนในไทยว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 24 ส.ค. มีการฉีดเพิ่ม 585,214 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 28,197,659 โดส โดยเป็นเข็มที่หนึ่ง 21,231,498 ราย, เข็มที่สอง 6,405,537 ราย และเข็มที่สาม 560,624 ราย ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้หารือเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่พบการเสียชีวิตจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 5 แสนคนภายในสิ้นปี แต่ปัจจุบันฉีดเข็มที่หนึ่งไปได้เพียง 27,519 ราย หรือ 5.5% ฉีดเข็มสองได้เพียง 2,078 ราย หรือ 0.4% 
“ข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยและเสียชีวิตจากการติดโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.- 11 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อ 185 ราย เสียชีวิต 29 ราย ค่ากลางอายุผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 33 ปี และยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุครรภ์ 29-42 สัปดาห์ สูงถึง 55% รองลงมาคือ 14-28 สัปดาห์ สูงถึง 41% นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยยังเป็นห่วงเรื่องดังกล่าว และได้ให้ข้อมูลการวิเคราะห์ของ สธ. ที่รวบรวมระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.63-13 ส.ค.64 เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ในสตรีตั้งครรภ์ พบว่า สตรีตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 1.85% ซึ่งสูงเป็น 2.5 เท่าของคนทั่วไป และยังพบอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก 11.8% ดังนั้น ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ จึงมีหนังสือไปยังทุกจังหวัด ให้เร่งระดมค้นหาหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์มาเข้ารับวัคซีน โดยอายุครรภ์ดังกล่าวจะมีความปลอดภัย เพราะเด็กมีอวัยวะครบแล้ว ไม่เป็นอันตราย และยังเป็นการส่งต่อภูมิคุ้มกันให้ทารกในครรภ์ด้วย”  
    เมื่อถามขณะนี้มีตัวเลขการฉีดวัคซีนของคนไทย 28 ล้านโดส แต่ได้ตั้งเป้า 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนเท่านั้น การจัดหาวัคซีน การบริหารจัดการ และการให้บริการต่างๆ คิดว่าจะทันตามเป้าที่วางไว้หรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า นโยบายรัฐบาลและศบค.กำหนดให้ปี 2564 จะมีการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส คิดตามอัตราส่วนประชากร 50 ล้านคน อัตราฉีดอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้นต้องฉีดให้ได้ 5 แสนโดสต่อวัน จะเห็นได้ว่าอัตราฉีดของไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราทำได้เกิน 5 แสนโดสต่อวัน ดังนั้น ยังอยู่ในแผนการจัดการ แต่สิ่งที่สำคัญการฉีดวัคซีนที่จะทำได้ตามแผนต้องมีการจัดหาวัคซีนให้ทันกับการฉีดด้วย จากการที่เราเริ่มฉีดเข็มแรกในวันที่ 7 มิ.ย. หลายคนจะครบฉีดเข็มสองในเดือน ก.ย. ฉะนั้นการจัดหาวัคซีนช่วงเดือน ส.ค. ยอดรวม 13.8 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นซิโนแวค 6.5 ล้านโดส, แอสตร้าเซนเนก้า 5.8 ล้านโดส, ไฟเซอร์จากยอดบริจาค 1.5 ล้านโดส และรวมซิโนฟาร์ม 1 ล้านโดส ดังนั้น เดือน ส.ค.เป็นไปตามแผนคือ ฉีดวันละ 5 แสนโดสขึ้นไป  
    พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า เดือน ก.ย.จะมีวัคซีนที่บางส่วนมาถึงแล้ว และบางส่วนทยอยมารวมแล้ว 15 ล้านโดส ประกอบด้วยซิโนแวค 6 ล้านโดส, แอสตร้าเซนเนก้า 7 ล้านโดส, ไฟเซอร์มาเพิ่มอีก 2 ล้านโดส ส่วน ต.ค. ซิโนแวคมาอีก 6 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส และ พ.ย.จะจัดสรรวัคซีนให้ได้รวมๆ ประมาณ 17 ล้านโดส และจากการที่รัฐบาลเจรจากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ สะท้อนให้เห็นการแพร่ระบาดที่มีตัวเลขสูงขึ้นของประเทศไทย ทางผู้ผลิตให้คำมั่นว่าจะจัดสรรให้ไทยตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.เป็นต้นไป เดือนละ 7 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย คือถ้ามีกำลังผลิตได้มากขึ้น ไทยจะได้รับการจัดสรรที่มากขึ้นกว่านี้ ส่วนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสในเดือน ส.ค. แล้ว ก.ย.มา 2 ล้านโดส, ต.ค. 8 ล้านโดส, พ.ย.และ ธ.ค.มาอีกเดือนละ 10 ล้านโดส 
    “สิ่งสำคัญกระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค เนื่องจากหลายคนไปที่จุดฉีดวัคซีนแล้วไม่มั่นใจวัคซีนซิโนแวค จึงขอย้ำว่าการใช้วัคซีนไขว้หรือวัคซีนผสมฉีดเข็มหนึ่งเป็นซิโนแวค ตามด้วยเข็มสองแอสตร้าเซนเนก้า จะทำให้มีภูมิคุ้มกันสูง สามารถป้องกันโรค ป้องกันอัตราป่วยหนัก และป้องกันการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัยกล่าว
ด้าน นพ.เฉวตสรร​ นาม​วาท​ ผู้​อำนวยการ​กอง​ควบคุม​โรค​และ​ภัย​สุขภาพ​ใน​ภาวะ​ฉุกเฉิน​ กรมควบคุม​โรค ​กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-23 ส.ค. เทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม​ จำนวนป่วยต่อวันย้อนหลังของไทยอยู่ที่ 20,000 ราย และเวียดนามอยู่ที่ 10,000 ราย แต่ผู้เสียชีวิตรายใหม่เวียดนามสูงกว่าเราตกอยู่ 350 ต่อวัน ส่วนไทยเฉลี่ยอยู่ 250 ต่อวัน เนื่องจากครอบคลุมของวัคซีนเข็มแรกของไทยอยู่ 28% ส่วนเวียดนามอยู่ที่ 15% ดังนั้นผลของวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลดการเสียชีวิต​ 
“ส่วนการฉีดวัคซีน​ไขว้นั้น ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยซิโน​ฟาร์ม​เข็มที่ 3 ภูมิคุ้มกัน​เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบแอสต​ร้า​เซน​เน​ก้า​ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกัน​อยู่ที่ 76.5 สูงกว่าซิโนแวค 2 เข็มถึง 3 เท่า โดยถ้าเป็นสถิติประเทศอังกฤษ ความสามารถป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิต​สูงเกินกว่า 90% เพราะฉะนั้นถ้ามีการไขว้แล้วภูมิอยู่ในระดับเดียวกัน ก็ถือว่าได้ผลดีน่าพอใจ ส่วนการฉีดซิ​โน​แวคเข็มแรก ตามด้วยแอสต​ร้า​เซน​เน​ก้า​เข็มที่ 2 ภูมิขึ้นอยู่ที่ 78.65 และเมื่อฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสต​ร้า​เซน​เน​ก้า​เข็มที่ 3 ภูมิขึ้นสูงถึง 271.17 เกิน 10 เท่าเมื่อเทียบกับซิโนแวค 2 เข็ม”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 29 ว่า วัคซีนโควิด-19 มีเพียง 3 แพลตฟอร์มเท่านั้นที่ได้อนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินได้ในโลก คือเชื้อตาย ซึ่งฉีดเป็นตัวแรกดี แต่ไม่ใช่ตัวบูสเตอร์ที่ดี ส่วนไวรัสเวกเตอร์ และ mRNA นับว่าเป็นตัวบูสเตอร์ที่ดี  และขณะนี้วัคซีนแพลตฟอร์มซับยูนิต ที่มีการพูดถึงกันมากคือ โนวาแวกซ์, อันฮุย (Anhui) ของจีน และ GSK ของบริษัทซาโนฟี ที่กำลังพยายามผลิตออกมา เพราะวัคซีนชนิดซับยูนิตนั้นทำไม่ง่าย 
    ศ.นพ.ยงกล่าวถึงการศึกษาความปลอดภัยและภูมิต้านของวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าที่นำมาปรับเป็นสูตรไขว้ ว่าผลการติดตามในคนไข้ที่ฉีดสลับวัคซีน 70-80 คน พบว่าค่าไตเตอร์หรือภูมิคุ้มกันสูงเท่ากับฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม และขณะเดียวกันแอนติบอดีก็เพิ่มขึ้นหลังฉีดห่างกันเพียง 3 สัปดาห์ ต่างจากแอสตร้าฯ ที่ต้องฉีดห่างจากเข็มแรกกัน 8-10 สัปดาห์ แต่ย้ำว่าการฉีดสลับต้องเริ่มต้นด้วยเชื้อตายถึงจะดี หากฉีดด้วยแอสตร้าฯ เข็มแรกตามด้วยซิโนแวค ค่าไตเตอร์จะขึ้นต่ำมาก ส่วนการกระตุ้นเข็ม 3 ในบุคลากรทางการแพทย์นั้น จากข้อมูลผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม บูสต์ด้วยแอสตร้าฯ 1 เข็ม จำนวน 500 คน ในจำนวนนี้ 190 คนพบว่าแอนติบอดีขึ้นสูงมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับซิโนแวค 2 เข็ม และค่าการตรวจภูมิคุ้มกัน หรือ The surrogate Virus Neutralization Test (sVNT) พบว่า sVNT ต่อสายพันธุ์ปกติ (Wild type) หรือต่อสายพันธุ์อัลฟา ก็จะมีภูมิขึ้น 100% ส่วน sVNT ต่อสายพันธุ์เดลตานั้นแอนติบอดีดีมากเกือบ 100% แต่ภูมิจะลดลงมาในสายพันธุ์เบตา
    ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงการให้บริการรถฉีดวัคซีนถึงบ้านว่า ได้จัดรถฉีดวัคซีนถึงบ้าน  (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) ซึ่งจะมีทีมหมอ พยาบาล นั่งรถไปฉีดเชิงรุกให้ถึงหน้าบ้าน เคลื่อนที่ไปตามชุมชนต่างๆ ใกล้บ้านให้ได้มากที่สุด โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดได้สัปดาห์หน้านี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"