ระวัง 4 โรคต้อทำร้ายดวงตา 


เพิ่มเพื่อน    

โรคต้อทางตามีหลากหลายชนิด 4 โรคต้อที่พบบ่อยๆ ที่เรารู้จักคุ้นเคย คือ ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และต้อหิน ซึ่งมีอาการแตกต่างกันในแต่ละชื่อโรค โรคต้อบางชนิดถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการดูแลหรือรักษา อาจอันตรายถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ เราควรรู้เท่าทันโรคต้อทั้ง 4 เพื่อรับมือและสามารถรักษาดวงตาของเราให้ปลอดภัย 
    พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคต้อหรือตาต้อที่เกิดขึ้นกับดวงตานั้น เกิดจากหลากหลายสาเหตุ อาการและความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ระคายเคืองตา ไปถึงตามัว หรือทำให้ตาบอดได้ ต้อต่างๆ ในตาที่คุ้นชินกันดีมี 4 ชนิด คือ  


    1.ต้อลม (Pinguecula) ลักษณะจะเป็นเนื้อนูนที่เยื่อบุตาด้านข้างกระจกตาหรือตาดำ จะอยู่เฉพาะที่เยื่อบุตาขาว (Conjunctiva) ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณหัวตาด้านในบริเวณใกล้จมูก แต่สามารถเกิดที่หางตาและหัวตาพร้อมกันได้ เมื่อเยื่อบุตานูนขึ้น จะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองตามากขึ้น สาเหตุมาจากรังสียูวี เช่น จากแสงแดด และเมื่อโดนลมหรือฝุ่น จะทำให้เคืองตามากขึ้นได้จากการอักเสบหรือผิวตาแห้งง่าย พบได้ในทุกเพศทุกวัย พบได้มากในประเทศเขตร้อน เพราะสัมพันธ์กับการเจอแดด โดยส่วนใหญ่อายุที่พบจะมากกว่า 30 ปีขึ้นไป อาการที่เกิดขึ้นคือ เคืองตา แสบตา คันตา ตาแดงอักเสบ การรักษาต้อลมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค การสวมแว่นกันแดดอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีกิจกรรมนอกอาคาร ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นต้อลมได้และไม่ให้อักเสบมากขึ้น
     2.ต้อเนื้อ (Pterygium) มีลักษณะเป็นเนื้อสามเหลี่ยม โดยมีหัวอยู่ที่กระจกตา เนื้อเยื่อเหมือนเยื่อบุตาซึ่งมีเส้นเลือดวิ่งเข้าไปเกาะอยู่บนกระจกตาดำ จะแดงมากน้อยขึ้นอยู่กับมีปริมาณเส้นเลือดบริเวณต้อเนื้อและการอักเสบ ต้อเนื้อส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหัวตาด้านในใกล้จมูก แต่สามารถเกิดที่หางตาและหัวตาพร้อมกันได้เช่นเดียวกัน ต้อเนื้อจะเกิดจากการถูกแสงอัลตราไวโอเลต (UV) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมักพบในคนที่อาศัยในเขตอากาศร้อน ใช้ชีวิตประจำวันกลางแจ้ง หรือโดนแสงแดดในบริมาณมาก การป้องกันจะเหมือนต้อลม คือ ควรหลีกเลี่ยงแดดจ้า โดยเฉพาะช่วยสายถึงบ่ายต้นๆ หากทำกิจกรรมกลางแจ้งควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้ง และพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลม ฝุ่น ควัน ที่ส่งผลทำให้กระตุ้นการอักเสบระคายเคืองมากขึ้นได้ 
    3.ต้อกระจก (Cataract) การเสื่อมของเลนส์ตาตามอายุทำให้เลนส์แก้วตาขุ่นลง มักพบในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่เกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น เป็นตั้งแต่กำเนิด หรือจากอุบัติเหตุกับดวงตา หรือการได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น ทุกคนมีโอกาสเป็นต้อกระจกตามวัยเพราะความเสื่อมของร่างกาย อาจเป็นเร็วช้าต่างกัน อาการที่พบคือ มองเห็นเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง เห็นสีเพี้ยน ภาพซ้อน ตามัวในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เมื่ออยู่กลางแดดตาจะสู้แสงไม่ได้ ยังไม่มีการรักษาด้วยการกินยาหรือหยอดตา เมื่อสายตามัวลงจะมีผลต่อการใช้ชีวิตควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันวิธีที่เป็นมาตรฐานที่นิยมคือ วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อและใส่เลนส์แก้วตาเทียม (Phacoemulsification with Intraocular Lens) การป้องกัน แนะนำให้ใส่แว่นกันแดดทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง เพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ไม่ให้ดวงตาถูกกระแทก เลี่ยงการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น และเมื่ออายุมากขึ้น ควรตรวจตาปีละครั้ง เพราะส่วนใหญ่การเกิดต้อกระจกสัมพันธ์กับความเสื่อมตามวัย 
    4.ต้อหิน (Glaucoma) โรคที่มีความเสื่อมของเส้นประสาทและขั้วประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็น ลานสายตาแคบลง มักพบความดันในลูกตาสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้โรคแย่ลง ส่งผลทำลายเส้นประสาทตาและขั้วประสาทตา ทำให้เกิดการสูญเสียลานสายตาอย่างถาวรได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ เพราะกลุ่มใหญ่ๆ ของต้อหินไม่มีอาการบอกล่วงหน้า แต่ถ้าเป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลันอาจมีอาการปวดตา ตาแดง ต้อหินบางชนิดความดันลูกตาไม่สูง แต่ต้องคุมความดันตาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมมากขึ้น ถ้าหากไม่ทำการรักษาจะทำให้ลานสายตาค่อยๆ แคบลงจนตาบอดได้ในที่สุด สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ที่พบมากคืออายุ 40 ปีขึ้นไป ต้อหินที่พบมีทั้งต้อหินเฉียบพลันที่มีอาการปวดตาในทันทีทันใดและเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ และต้อหินเรื้อรังที่ไม่มีอาการใดๆ ต้องตรวจตาและวัดความดันลูกตาถึงสามารถรู้ได้ ฉะนั้นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็กสายตาเป็นประจำทุกปี. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"