แรงจูงใจ "ยานรก" ทะลัก ฟังประสบการณ์ “คลุมหัว”


เพิ่มเพื่อน    

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดสืบสวนขยายผลจับกุมคนในขบวนการหลายรายมูลค่ามหาศาล บางส่วนเป็นการส่งไปขายต่างประเทศขนส่งทางพัสดุในรูปของสินค้าทั่วไป กลายเป็นครึกโครมท้าทายพักใหญ่ 
ที่น่าสนใจคือ สถิติคดียาเสพติดจะนำไปสู่การยึดทรัพย์มูลค่ามหาศาลของผู้ต้องหา หลายรายมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท เส้นทางของเครือข่ายยิงตรงจากเหนือพาดผ่านภาคกลางลงสู่พื้นที่ภาคใต้ 
จากข้อมูลสถิติการจับกุมคดียาเสพติด ห้วงเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่ามีคดีทั้งหมด 26,298 คดี ผู้ต้องหาทั้งหมด 27,279 คดี ผู้ต้องหาทั้งหมด 27,279 คน ปริมาณของกลางยาเสพติด แบ่งเป็น ยาบ้า 55,021,502 เม็ด  ไอซ์ 1,160.11 กิโลกรัม เฮโรอีน 1,135.10 กิโลกรัม กัญชาแห้ง 5,666.88 กิโลกรัม คีตามีน 45.33 กิโลกรัม เอ็กซ์ตาซี 124, 551 เม็ด ยังไม่นับที่เล็ดลอดผ่านการตรวจจับของเจ้าหน้าที่อีกไม่รู้กี่เม็ด หรือกี่กิโล 
ตัวเลขที่พุ่งสูงช่วงนี้สะท้อนให้เห็นการเร่งหาเงิน "สีเทา" ทดแทนส่วนต่างที่ขาดหายไปจากรายได้ของบ่อน-แรงงานเถื่อน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังต้องทดแทน “ส่วย” ในแต่ละเดือนที่หดหายจากมือเจ้าหน้าที่ไปด้วยเช่นกัน 
เม็ดเงินที่ต้องส่งขึ้นไปตาม “ไฟลต์บังคับ” เตรียมตัวช่วงเลื่อน ลด ปลด ย้าย ในวงการสีกากี ที่หลายฝ่ายยังเชื่อว่ามีเรื่องของการซื้อขายตำแหน่งอยู่นั้น นับเป็นตัวเร่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจเห็นช่องในการ “ตักตวง” ช่วงที่ยาเสพติดทะลัก 
หันมาที่คดีของ “ผู้กำกับฯ โจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ที่นำถุงคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดเรียกรับเงินนั้น อาจเป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปว่าการรีดข้อมูลดังกล่าว “มีอยู่จริง” แต่ที่ช็อกก็คือ ภาพจริง เสียงจริงของความโหดเหี้ยมที่หลุดสู่สาธารณชนครั้งแรก  
สอดรับกับเรื่องเล่า ข่าวเมาธ์ เล่ากันว่า การซ้อมทรมาน คลุมถุงดำ ชอร์ตไข่ รีดข้อมูล ในคดีความมั่นคง คดียาเสพติด เป็น “วัฒนธรรมตกทอด” จาก ตร.สายสืบ ที่รับวิชากันมาแบบ “ทายาทอสูร” หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สีอื่นที่เคยถูกกล่าวหาว่าใช้วิธีนี้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต 
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวในรายการ “โหนกระแส” ถึงกรณีการใช้วิธีการตามคลิปในการสืบสวนผู้ต้องหาว่า การใช้วิธีดังกล่าวในการสอบสวนมีอยู่จริง เป็นเรื่องในอดีต แต่เทคนิคการสืบสวนขยายผลในการให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ไม่ต้องใช้วิธีนี้แล้ว สมัยก่อนก็ไม่ได้มีแค่เอาถุงพลาสติก คลุมหัว มีหลายเทคนิคเยอะแยะ แต่ก็ยอมรับว่าการสอบสวนก็เป็นเรื่องมรดกตกทอด ขึ้นอยู่กับว่าตำรวจคนนั้นทำงานกับผู้ใหญ่คนไหน ก็จะจำวิธี ซึมซับความรู้ความสามารถมา สำหรับตนเองก็หยิบส่วนดี มีความรู้ความชำนาญมาใช้ในการทำงาน 
 “ผมเป็นห่วงองค์กรตำรวจ เพราะยาเสพติดในประเทศไทยระบาดมาก เราจะเห็นว่าล็อตใหญ่ทั้งปีนั้นมีไม่เท่าไหร่ แต่การจำหน่ายรายย่อยเยอะมาก และกลายเป็นว่า ตร.เดี๋ยวนี้ไม่อยู่ในวินัย ไม่ได้นำผลการจับกุมฟ้องร้องดำเนินคดี กลายเป็นพฤติกรรมของ ตร.ที่ไม่เอาจริงเอาจัง เอาแต่จับกุม ตบตี รีดไถ เอาเงิน 1-2 หมื่นแล้วก็ปล่อย คนพวกนี้ก็ไปทำมาหากินต่อ ซึ่งคนค้ายาเสพติดเหล่านี้ให้เงินง่าย เพราะได้เงินมาง่าย เมื่อจ่ายเงินมาแล้วพ้นผิดก็ยอมจ่าย ยิ่งรายใหญ่ก็จ่ายมาก ตำรวจบางคนก็รวยเพราะเรื่องยาเสพติด และอยากอยู่หน่วยนี้เหลือเกิน”
สำหรับกรณีของ “ผู้กำกับฯ โจ้” นั้น พล.ต.ต.วิชัยกล่าวว่า รับรู้จากการบอกเล่าของลูกน้องเก่า ซึ่งเท่าที่ทราบก็มีมากกว่าที่เกิดขึ้น แต่พูดไม่ได้ เพราะต้องเป็นคดีและหลักฐานที่ปรากฏก่อน เช่น ขบวนการที่ทำนั้นเราต้องเข้าใจว่าเขาเคยอยู่ ตร.ปส. มีความรู้เรื่องยาเสพติด และรู้เครือข่ายว่าจังหวัดไหนใครเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในภาพรวมถ้า ตร.คนไหนไม่ดี ก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปหากิน ไปรีดไถ โดยไม่เอาข้อมูลไปปราบปรามยาเสพติดจริง แต่เอาไปหาผลประโยชน์ จึงเกิดเป็นผลแบบนี้ 
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการหนีออกนอกประเทศไปหรือยัง อดีตรอง ผบช.น. มองว่า หลักฐานขนาดนี้ต้องมอบตัว เพราะมีการตั้ง กก.สืบสวนสอบสวน เป็นคดีอาญาแล้ว มีภาพชัดเจนขนาดนี้จะหนีไปไกลหรือไม่ไกล ก็คงหนีไปก่อน แต่ถ้าไม่หนีต้องมอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์  เพราะโทษของเขาประหารชีวิต เนื่องจากโทษจากฐานกระทำความผิดหลายมาตรา เช่น มาตรา 149 เรียกรับผลประโยชน์ หรือมาตรา 289 ทำให้ถึงถึงความตายด้วยการทารุณ โหดร้าย หรืออาจจะเข้าข่ายเตรียมการ หรือไตร่ตรองไว้ก่อน บางเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้ดีเรื่องข้อกฎหมายและยังไปทำ จะหนักกว่า ถึงมีหลักฐานและรับสารภาพมันก็จนด้วยหลักฐาน การลดโทษแทบจะไม่มี เช่น กรณีของ “บรรยิน” ที่เป็น รมต.เป็นตำรวจเก่า 
สำหรับการที่ตั้งข้อสังเกต ผู้กำกับฯ โจ้เป็นตำรวจที่ชั้นยศน้อย แต่เคยส่งข้อความไปหาดาราสาวว่ามีเงินอยู่ในบัญชีของนอมินี 230 ล้านนั้น “คงต้องดูว่า เขาพูดจริงหรือไม่จริง แต่ต้องไปดูพฤติกรรม อำนาจหน้าที่ ว่าเข้าไปเกี่ยวข้องในสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาหรือไม่ เช่นเดี๋ยวนี้ก็เคยเกิดกรณีที่มี ตร.ยศเล็กๆ ไปทำโต๊ะบอล มีเงินเป็นหมื่นล้าน จึงต้องไปดูโจ้ว่า ตอนยศเล็กๆ ไปทำอะไรมา และมีเงินจริงอย่างที่เขาอวดอ้างหรือเปล่า ก็จะเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ” 
ขณะที่ พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการ 1 กองตำรวจสันติบาล 2 ยอมรับว่า ในอดีต 20-30 ปี มีการใช้วิธีการดังกล่าว ตนเองก็เคยใช้ แต่ไม่ได้ไปรีดเงิน ตอนนี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ บ้านเมืองเจริญแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ กรณีของผู้กำกับโจ้ มองว่าคงไม่ได้ทำแค่ครั้งแรก แต่คงเคยทำมาแล้วได้ และย่ามใจ เพียงแต่ไม่ได้มีประสบการณ์มากนัก ไม่รู้ว่าจะผ่อนจะหนักยังไง ทำให้เขาถึงกับเสียชีวิต 
"ผู้ต้องหายาเสพติดเป็นเบี้ยล่างตำรวจทั้งนั้น การที่เรียกรับประโยชน์เป็นหลักล้าน ตร.รายนั้นต้องมีฐานข้อมูลอยู่แล้วว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ค้ารายใหญ่ และการเรียกรับเงินต้องเป็นการสมยอมระหว่าง ตร.และผู้ต้องหา"
อดีต ตร.สายงานสันติบางรายนี้ เชื่อว่าผู้กำกับฯ โจ้ไม่ได้หนีออกทาง สปป.ลาวอย่างที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ เพราะหากพลิกดูประวัติเขาไม่มีสายสัมพันธ์ทางฝั่ง สปป.ลาว ส่วนทางแม่สายและแม่สอด ก็ไม่ได้มีความคุ้นเคย อีกทั้งพื้นเพรับราชการ และการใช้ชีวิตก็ติดหรู ไฮโซ ไม่ค่อยมีใครสนิมสนม หรือมีพรรคพวกช่วยเหลือเขาได้ อีกทั้งการใช้ชีวิตยากลำบาก หนีตามช่องทางธรรมชาติ ก็คงทำไม่ได้นาน 
    ความเห็นของ "สันธนะ" สอดรับกับเส้นทางรับราชการที่พบว่า “โจ้” ช่วงดำรงตำแหน่งรอง ผกก.กก.1 บก.ปส.4 ดูแลพื้นที่ภาคใต้ นอกจากทำคดียาเสพติดรายใหญ่จนสร้างชื่อให้ตัวเองเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติดมือพระกาฬ ก้าวเข้าสู่ “หลุมดำ” คลุกคลีกับนักธุรกิจสีเทา มาเฟียขาใหญ่ประจำถิ่น และมีช่องทางในการเล่นแร่แปรธาตุ หาส่วนต่าง และฟอกขาวธุรกิจรถเถื่อนที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"