‘คาบูลแตก’เปิดโปง แนวทาง‘ลัทธิไบเดน’


เพิ่มเพื่อน    

เหตุการณ์ “คาบูลแตก” ที่อัฟกานิสถานทำให้นักวิเคราะห์ระหว่างประเทศบางคนบอกว่านี่คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า
    “ลัทธิไบเดน” หรือ The Biden Doctrine
    ข้อสรุปนี้มาจากคำประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนนี้ที่ตีความนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกที่ประกาศให้ได้รับทราบโดยทั่วกันว่า ต่อแต่นี้ไป
    สหรัฐจะไม่ช่วยประเทศอื่น “สร้างชาติ” (nation-building) ด้วยการส่งทหารเข้าไปช่วยรบ
    สหรัฐฯ จะไม่ให้ทหารของตนไปสู้รบในสงครามต่างแดนที่ไม่สนองตอบผลประโยชน์ของอเมริกาเอง
    สหรัฐฯ จะไม่ติดกับดักในสงครามยื้อเยื้อนอกบ้าน
    สหรัฐฯ จะต่อสู้ภัยคุกคามการก่อร้ายที่มีผลกระทบต่อตนด้วยเทคโนโลยีที่พุ่งเป้าไปที่ผู้หวังร้ายต่อสหรัฐฯ
    แต่จะไม่ส่งกองกำลังของตนเข้าไปเผชิญหน้ากับศัตรูของสหรัฐฯ โดยตรงอีกต่อไป
    ย้อนกลับไปสมัยของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งเป็นผู้สั่งให้ทหารมะกันยกพลไปที่อัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อน
    หลักคิดและวิถีปฏิบัติของสหรัฐฯ  ขณะนั้นแตกต่างไปจากที่ไบเดนกำลังบอกกล่าวกับชาวโลกวันนี้อย่างเห็นได้ชัด
    เพราะบุชประกาศว่าแนวทางของสหรัฐฯ คือการดำรงบทบาทเป็นมหาอำนาจผู้มากด้วยบารมี
    อเมริกาวันนั้นไม่ลังเลที่จะบอกว่าเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ คือการเผยแผ่หลักการแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยไปทั่วโลก...เพื่อลดภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงต่ออเมริกา
    ไม่ต้องสงสัยว่ายุคของบุชนั้นอเมริกาถือว่าภารกิจสำคัญประการหนึ่งของอเมริกาในการมีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศคือการช่วย “ก่อร่างสร้างชาติ” (nation-building)
    หลังจากตอลิบันรุกคืบเข้ายึดเมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ โจ ไบเดน ตั้งคำถามดัง ๆ ในแถลงการณ์ต่อคนอเมริกันและชาวโลกว่า
    "เราจะต้องสูญเสียชีวิตคนอเมริกันไปอีกกี่คนจึงจะคุ้มค่า? กองทัพอเมริกันไม่สามารถจะสู้รบและไม่ควรจะตายในสงครามที่แม้แต่กองกำลังอัฟกันยังไม่เต็มใจจะสู้เพื่อตนเองเลย" 
    ไบเดนยืนยันว่าการตัดสินใจถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว 
    แม้ว่าผลที่ตามมาจะทำให้คะแนนนิยมของเขาลดลง 7 จุด ซึ่งแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
    ไบเดนย้ำว่า "ถ้าผมไม่รีบถอนทหารของเราออกจากอัฟกานิสถาน ก็อาจจะต้องส่งทหารอีกหลายหมื่นคนเข้าไปแทน เพราะเรื่องอาจบานปลายเป็นสงครามได้ ถ้าหากทหารของเราถูกโจมตี"  
    เขาย้ำว่าไม่เสียใจกับการตัดสินใจถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานและจะเดินหน้าในแนวทางนี้อย่างเต็มที่
    แต่ก็ยอมรับว่าสถานการณ์พลิกผันไปรวดเร็วเกินกว่าที่คาดไว้ 
    วิกฤตการเมืองที่ตามมาสำหรับไบเดนคือบรรดาสมาชิกสภาคองเกรสทั้งภายในพรรคเดโมแครตของเขาและรีพับลิกันที่จ้องจะหาเรื่องเขาอยู่แล้วต่างก็ออกมาวิพากษ์ “การถอยร่นอย่างหายนะ” จากอัฟกานิสถานครั้งนี้
    ไบเดนแก้ลำด้วยการบอกว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถานต่อจากนี้ โดยการมอบเงิน 500 ล้านดอลลาร์แก่องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรการกุศล เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันหลายแสนคน
    ไบเดนพยายามจะแก้ข้อกล่าวหาว่าการตัดสินใจเช่นนี้เท่ากับเป็นการ “ทรยศหักหลัง” ชาวอัฟกันที่ถูกหลอกให้ต่อสู้กับตอลิบัน
    แต่พอเข้าหน้าสิ่วหน้าขวานจริง ๆ อเมริกากลับถอนตัวกลับบ้านปล่อยให้สู้ตามลำพัง
    ไบเดนรับปากเพียงว่าจะปกป้องคนของตน ถ้าตอลิบันขัดขวางการอพยพคนของตนกลับบ้านด้วยการบอกว่า 
    "หากกองกำลังสหรัฐฯ ถูกตอลิบันโจมตีระหว่างการอพยพผู้คน ทหารอเมริกันจะตอบโต้อย่างรุนแรงเต็มกำลังอย่างแน่นอน”
    แต่บาดแผลอันใหญ่หลวงนี้จะทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ยังมีความไว้เนื้อเชื่อใจ “พี่ใหญ่ใจเสาะ” อย่างนี้อีกหรือไม่
    ปักกิ่งไม่รอช้า เตือนไต้หวันทันทีว่าถ้ายังฝากอนาคตไว้กับวอชิงตัน อาจจะต้องเจอกับการถูกทิ้งขว้างแบบเดียวกับอัฟกานิสถานก็ได้
    “ลัทธิไบเดน” จะกลายเป็น “เสาหลักใหม่” ของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคที่โลกกำลังสับสนวุ่นวายกับโรคร้ายโดวิด-19 และความปั่นป่วนของเศรษฐกิจผันผวนอย่างหนักหรือไม่...ไทยเราต้องเฝ้าระวังให้จงหนักทีเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"