"กสทช." โยน "คสช." ชี้ขาด 3 ค่ายมือถือพร้อมใจล้มประมูลคลื่น 1800 MHz หาช่องเยียวยา เอกชน บี้ปรับหลักเกณฑ์ก่อนร่วมวงรอบใหม่ "หมอลี่" อัดตั้งเป้าหวังรีดเงิน ส่งผลรัฐแบกความเสียหายระยะยาว ชี้ ม.44 ไม่ใช่ทางออก
เมื่อวันศุกร์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดรับเอกสารคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800MHz แต่ปรากฏว่า 2 โอเปอเรเตอร์ที่เหลืออยู่ ทั้ง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ตามหลังบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการรับซองประมูลนั้นเงียบเหงา
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ตามหลักการของประกาศเรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 จะต้องเกิดจากการที่ กสทช.จัดประมูลไม่ทัน แต่กรณีนี้คือไม่มีคนเข้าประมูล ทั้งๆ ที่ กสทช.จัดประมูลล่วงหน้าได้ ดังนั้น กสทช.จะประกาศยกเลิกมาตรการเยียวยาดังกล่าว โดยได้รายงานถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพื่อเตรียมเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
"ส่วนอีก 2 รายคือเอไอเอสและทรู เขาติดปัญหาเงินลงทุน 5 จีไม่พอ หากต้องจ่ายค่าประมูลคลื่นก้อนใหญ่ โดยไม่สามารถขยายการชำระเงินค่าประมูลได้ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 10 ก.ค. โดยจะนำเข้าที่ประชุม กสทช.ในวันที่ 27 มิ.ย. และเสนอให้รัฐบาลหาทางออก ทางไหนหาทางออกได้เร็วที่สุด เพื่อให้มีการประมูลภายในปีนี้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องรอไปถึงปีหน้า" นายฐากรระบุ
นายฐากรระบุว่า การที่ดีแทคอ้างว่ามีคลื่นเพียงพอ แต่เมื่อไม่มีมาตรการเยียวยาคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ของดีแทค ก็จะไม่มี ดีแทคจะเหลือแค่คลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะไม่มีคลื่น 1800 MHz ในการส่งให้ทั้งสองคลื่นทำงานได้ โดยเฉพาะคลื่น 2300 MHz ดีแทคก็ไม่สามารถใช้งานด้านเสียงได้
"ใครที่ฝันไม่ไกล ระวังจะไปไม่ถึง บอกว่าคลื่นพอ เราจะทำให้ไม่พอเอง จะอ้างว่าราคาแพง เราก็บอกแล้วว่าลดราคาไม่ได้ เพราะมันเป็นราคาที่เอไอเอสและทรูจ่ายเงินมา 75% แล้ว กสทช.ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ แต่หากให้แก้หลักเกณฑ์เป็น 9 ใบ ตรงนี้ทำได้ " นายฐากร กล่าว
ด้าน พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการเยียวยาจะอยู่ที่อำนาจของ กสทช.หรือไม่ ต้องรอนำเข้าที่ประชุมก่อน หลังจากนี้เมื่อไม่มีผู้ประมูล กสทช.ต้องปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ คาดว่าจะใช้เวลา 7-8 เดือน ถึงจะได้ประมูลอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าไม่สามารถลดราคาได้ เอกชนไม่มีทางกดดันให้กสทช.ทำตามที่เอกชนต้องการได้
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า การที่บริษัทตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ในรอบนี้ เพราะเห็นว่าเงื่อนไขและราคาไม่เหมาะสม เพราะคลื่นมีราคาแพงเกินไป อย่างไรก็ตาม หาก กสทช.ปรับเปลี่ยนเงื่อนไข อาทิ ปรับย่อยขนาดลงเป็นใบอนุญาตละ 5 MHz หรือยกเลิกเกณฑ์ N-1 บริษัทก็พิจารณาเข้าร่วมประมูล เนื่องจากมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้คลื่นความถี่เข้ามาเพิ่มเติม หากมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ
ขณะที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส แถลงว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลครั้งนี้ ยังไม่เหมาะสมต่อการลงทุนหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทในขณะนี้ โดยบริษัทได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนคลื่นความถี่มากถึง 55 MHz ซึ่งมากเพียงพอสำหรับการดำเนินการที่จะส่งมอบบริการให้กับลูกค้า
ขณะที่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เขียนบทความพิเศษแจงสาเหตุ ทำไม? ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 MHz ว่า หลักการพื้นฐานของการประมูลคลื่น คือการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากคลื่นได้สูงสุด ไม่ใช่ต้องการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด แต่สิ่งที่จะตัดสินว่าใครใช้ประโยชน์จากคลื่นได้ดีที่สุด ก็คือตัวเลขเงินที่เขาพร้อมจะจ่ายเป็นค่าคลื่น แล้วเอาคลื่นไปทำกำไร ถ้าทำกำไรไม่ได้ก็จะเจ๊ง จึงไม่ควรมีใครเสนอตัวเลขสูงเกินกว่าที่ตัวเองจะอยู่รอดได้ ส่วนใครที่ทำกำไรได้เก่งกว่า ก็จะเสนอตัวเลขได้สูงกว่า กสทช.จึงใช้การประมูลเพื่อหาว่ารายใดสมควรได้คลื่นไปให้บริการ ซึ่งก็คือรายที่เสนอราคาคลื่นได้สูงสุด แต่ไม่ใช่ว่า กสทช.มีเป้าหมายที่จะหาเงินให้ได้มากที่สุดจากการประมูล
"แต่เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลหลงทางไปมุ่งเน้นการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด ผลเสียก็จะเกิดกับอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแบกต้นทุนได้ และผู้บริโภคก็จะไม่สามารถรับบริการใหม่ๆ ได้ แต่ที่สำคัญ รัฐที่ต้องการได้เงินค่าคลื่นเป็นจำนวนมากก็เสี่ยงจะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือไม่ได้เลย" นายประวิทย์ระบุ
เขาระบุด้วยว่า เมื่อไม่มีผู้เข้าประมูล ประมาณการรายได้ก้อนนี้จึงพลาดเป้าไปหลายหมื่นล้านบาท แผนการใช้งบประมาณของรัฐก็อาจสะดุด หรือต้องหารายได้ทางอื่นมาชดเชย และเมื่อหมดสัมปทานแล้วเข้าสู่มาตรการเยียวยา ก็ยังพบปัญหาในส่วนเงินนำส่งรัฐ เพราะการให้บริการตามมาตรการเยียวยาที่ผ่านมา ยังมีปัญหาการฟ้องคดี และมีการแจ้งในที่ประชุม กสทช.ว่ารัฐยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว
"การใช้ ม.44 เพื่อขยายงวดชำระเงินก็ไม่ใช่ทางออก เพราะถ้าไม่จัดการราคาคลื่นให้เข้าสู่ราคาดุลยภาพ เอกชนก็ต้องเรียกร้องขอขยายงวดชำระเงินอยู่ร่ำไป การแก้ปัญหาการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวจากการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัวของประเทศด้วย หากประเทศเรายังตกอยู่ในวังวนการเล่นเกมราคาคลื่นแบบเด็กเล่นขายของ สุดท้ายทุกฝ่ายจะเสียประโยชน์ ค่าเสียโอกาสในการตกขบวนความเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 อาจจะไม่ใช่มีแค่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะกระทบถึงด้านสังคมและความมั่นคงด้วย" นายประวิทย์ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |