ปลดล็อกหลังใช้กม.ลูก ‘ป้อม’ย้ำส่วนเรื่องคลายต้องคุย/พท.ซัดลิงแก้แห


เพิ่มเพื่อน    

  “บิ๊กป้อม” ระบุคลายล็อกกี่ขั้นตอนต้องมาคุยกันก่อน พร้อมปลดล็อกให้ทันที แต่หลังกฎหมายลูก 2 ฉบับประกาศใช้ นัดถกพรรคการเมืองสิ้น มิ.ย.นี้ ปธ.กกต.เผยรัฐบาลจะแก้ไขคำสั่ง 53/60 ให้พรรคทำบางเรื่อง ขณะที่ พท.เย้ยทางออกไร้ความชัดเจน แค่ลิงแก้แห ย้ำต้องปลดล็อก-ไม่ร่วมวงถก "เอนก" แจง รปช.ไม่ใช่ซ้ายหรือขวา ปัดโหนเจ้า ยันต้องทำไพรมารีโหวต หนุนผู้ว่าฯ มาจากเลือกตั้ง  

    เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เสนอ 3 ทางออกแก้ปัญหาการจัดการเลือกตั้ง คือ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.), พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และมาตรา 44 ว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รู้ว่าจะใช้ มาตรา 44 หรือไม่ เพราะยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่ได้พูดคุยกัน ส่วนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่มีการส่งเรื่องมาให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)พิจารณา จึงยังตอบไม่ได้ ส่วนในด้านความมั่นคง เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
    พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดวันหารือกับพรรคการเมือง ขอดูวันก่อน อาจเป็นช่วงปลายเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ไม่ต้องรอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กลับจากไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะนายกฯ ได้มอบหมายให้ตนมาดูเรื่องนี้แล้ว ขณะนี้ยังไม่ได้เลือกสถานที่ในการพูดคุย เพียงแค่กำหนดวันว่าอาจจะเป็นช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้เท่านั้น
    เมื่อถามว่า มีคนกลัวว่าหากเลือกใช้สถานที่สโมสรทหารบก จะซ้ำรอยรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เพราะไปแล้วไม่ได้กลับออกมา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “โอ๊ย คิดมากไปได้”
    ถามถึงกรณีวงเสวนาที่มีพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องไปถามเขาดูว่ามีเจตนาอะไร ซึ่งเขาอยากแก้ แต่แก้ไม่ง่าย ส่วนที่มีการเสนอว่าอยากให้รัฐบาลและ คสช.ออกจากตำแหน่ง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งนั้น ก็เสนอไปได้ทั้งนั้น
    เมื่อถามว่า มีปัจจัยใดที่ทำให้ คสช.สามารถปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ โดยไม่ใช่แค่คลายล็อก รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ยังไม่ปลด เขาบอกว่าคลายล็อก มีกี่ขั้นตอนค่อยว่ากันไป ต้องมาพูดคุยกันก่อน ซึ่งการจะปลดล็อก จะปลดทันทีหลังจากกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้แล้ว แต่ตอนนี้กฎหมายยังไม่ออก ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่คลายล็อกนั้นคลายได้ ยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเกิดในเดือน ก.พ.62 ส่วนที่นายวิษณุยังไม่กล้ายืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งนั้นเขาอาจจะห่วงเรื่องกฎหมาย
    "ถ้ากลัว ผมก็ไม่ต้องปลด ไม่กลัว กลัวอะไร เราทำไปตามกฎหมาย ก็ไม่มีอะไร” พล.อ.ประวิตรกล่าวเมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากมีการคลายล็อกแล้วจะมีการออกมารวมตัวชุมนุม  
    นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงผลการหารือกับรัฐบาลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า กกต.ได้ชี้แจงถึงปัญหาที่ติดขัดของพรรคการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/60 ว่ามีเรื่องไหนที่พรรคการเมืองสามารถทำได้ก่อนระหว่างรอ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับ และได้ขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กกต.คิดว่าจะใช้เวลาในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ ไม่ทำไม่ได้ แม้รัฐบาลจะมองว่าอาจเข้าข่ายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง รัฐบาลก็จะไปพิจารณาหาวิธีการเพื่อให้ กกต.รับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนได้ โดยที่จะไม่มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และประกาศ คสช.ที่ 57/2557 
พท.เย้ยลิงแก้แห
    "เมื่อได้ข้อมูลแล้ว กกต.ก็จะวินิจฉัยว่าจะเลือกใช้รูปแบบใดในแต่ละเขต รวมใช้เวลาประมาณ 50 วัน ซึ่งพรรคการเมืองจะมีข้อมูลในส่วนนี้เพื่อไปทำเรื่องไพรมารีโหวต ที่คาดว่าพรรคจะมีเวลา 35 วัน คิดว่าพรรคที่มีความพร้อมและมีศักยภาพจะสามารถทำได้ ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลา 85 วัน จะเหลือ 5 วันก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ" 
    ประธาน กกต.กล่าวว่า ในส่วนของคำสั่ง 53 ทางรัฐบาลจะมีการแก้ไขให้พรรคทำในบางเรื่อง เช่น จัดประชุมเพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค ประกาศอุดมการณ์ จัดหาสมาชิก เพราะปัจจุบันองค์ประกอบของการประชุมที่มีอยู่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ได้มีการขอให้ไม่ต้องใช้หัวหน้าสาขาพรรคมาเป็นองค์ประชุม ซึ่งกฤษฎีกาจะไปดูรายละเอียดและยกร่างการแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเสนอรัฐบาลและนายวิษณุ ก็จะนำหารือกับนายกฯ และ คสช. ส่วนจะมีการแก้ไขเมื่อไหร่ อย่างไร ก็เป็นอำนาจของคสช.ในการหารือการเลือกตั้ง ยังคงเป็นไปตามโรดแมป ไม่เลื่อน แต่อาจจะมีการขยับปรับเปลี่ยนบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วนจะเกิดการเลือกตั้งอะไรก่อน ก็ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายใดมีผลบังคับใช้ก่อน กกต.ได้ชี้แจงว่าหากจะมีการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ควรจะเว้นระยะห่างกันประมาณ 3 เดือน เพราะเลือกตั้งท้องถิ่นมีเรื่องร้องเรียนมาก และกำลังคนของ กกต.ก็มีจำกัด
    ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วงประชุมดังกล่าวพบปัญหาจากคำสั่ง 3-4 ประการ อาทิ การประชุมใหญ่พรรคการเมืองที่ทำไม่ได้ การตั้งสาขาพรรคที่ทำไม่ได้ การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ยังเป็นปัญหา ยังเสนอแนวทางใช้พ.ร.ก., พ.ร.บ. หรือมาตรา 44 เพื่อให้หัวหน้า คสช.เป็นผู้ตัดสินใจ แต่ถ้อยคำที่นายวิษณุใช้คือการคลายล็อกไม่ใช่ปลดล็อก ปัญหาใหญ่ที่ว่ามาทั้งหมดเกิดจาก คสช. มองการใช้อำนาจ มองเรื่องความมั่นคง มากกว่าการนำประเทศไปสู่แนวทางประชาธิปไตย คสช.ใช้มาตรา 44 แก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านการพิจารณาของสนช. จึงเกิดความวุ่นวายพันกันยุ่งไปหมด วิธีที่จะแก้ปัญหาตอนนี้ เหมือนลิงแก้แห แก้อันนี้ก็จะเจออันนั้นต่อ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการออกคำสั่ง คสช.แทบทั้งสิ้น ใช้มา 4 ปี ยังไม่พออีกหรือ จะใช้ต่อไปถึงไหน 
     "ทางแก้ที่ถูกต้องคือการปลดล็อก ไม่ใช่คลายล็อก เมื่อปัญหาเกิดจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ควรยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก รวมถึงยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการล็อกกิจกรรมทางการเมือง ให้ใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองปกติ จะไม่เกิดความวุ่นวาย สิ่งที่เกรงว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการแก้นู่นแก้นี่ อาจกลายเป็นการขยายโรดแมปออกไปอีก วุ่นวายไปใหญ่ เพราะอาจเกิดการไม่ยอมรับ"
    เมื่อถามกรณีที่ พล.อ.ประวิตรจะเรียกพรรคการเมืองประชุมสิ้นเดือน มิ.ย.นั้น นายชูศักดิ์ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่เปลี่ยนแปลงท่าที เรายังยืนยันจุดยืนเดิม เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ คสช. ที่จะเชิญพรรคการเมืองมาร่วมประชุม วันนี้ คสช.ดูเหมือนจะกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้น เพราะพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ออกตัวจะสนับสนุน คสช.เป็นจำนวนมาก ทำให้ คสช.ยิ่งขาดความชอบธรรมในการเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุย
แนะใช้ ม.44 แก้ไพรมารีฯ 
    นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวได้เพียงข้อเสนอในการแก้ปัญหา โดยให้ คสช.ไปตัดสินใจ ทั้งการออกพ.ร.ก., พ.ร.บ. หรือมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปอะไรที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ ไม่ระบุว่าจะปลดล็อกเมื่อไร คลายล็อกอย่างไร หรือให้ไปหาสมาชิกทำได้อย่างไรบ้าง ทำไมไม่ทำให้ชัดเจนไปเสีย สรุปแล้วการประชุมเมื่อ 14 มิ.ย. ไม่มีอะไรชัดเจนเลย
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การหารือดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี เพื่อที่จะคลายล็อกให้พรรคการเมือง โดยข้อเรียกร้องของฝ่ายการเมืองตรงกัน คือต้องการให้ปลดล็อก แต่ คสช.ยังไม่ยอมปลดล็อกให้ทั้งหมด จึงให้เพียงแค่คลายล็อกบางส่วนให้เท่านั้น ส่วนจะให้เราทำอะไรได้บ้าง ยังไม่มีข้อยุติ ต้องรอการหารือระหว่างรัฐบาล คสช.กับพรรคการเมือง ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. การที่ คสช.คลายล็อกให้นั้น ก็เพื่อจะทำให้อะไรต่างๆ สามารถเดินไปตามกรอบโรดแมปที่กำหนดได้ สิ่งที่ คสช.จะไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทั้งหมด จะเป็นเรื่องเช่น การปราศรัย การเดินหาเสียง การทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเวลานี้ แต่ถ้ายิ่งใกล้บรรยากาศการเลือกตั้งเมื่อใด ก็ต้องควรจะปลดล็อกให้พรรคการเมืองทั้งหมด
    ส่วนปัญหาระบบไพรมารีโหวตนั้น นายนิพิฏฐ์มองว่า เป็นสิ่งที่ต้องคลายล็อกให้ ถ้าไม่คลายล็อก การทำไพรมารีโหวตจะทำยากมาก ถ้าจะให้เร็วที่สุดก็ต้องใช้ มาตรา 44 มาแก้ไขปัญหาตรงนี้ เพราะคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ออกโดยใช้มาตรา 44 อย่าพยายามเอาเทคนิคทางกฎหมายมาเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง และการที่รัฐบาลและ คสช.มักบอกว่าเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ 4 ปีแล้ว แต่อยากให้ลองคิดดูว่าประเทศอื่นๆ ในโลก เขาใช้เวลาในการเตรียมการ และจัดการเลือกตั้งแค่ 30-40 วัน แป๊บเดียวเอง แต่ประเทศเราใช้เวลา 150 วัน บวกอีก 90 วัน แล้วมาบอกว่าจะไม่ทันอีก ถ้ายิ่งเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก คงไม่ใช่การปฏิรูปแล้ว
    ขณะที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวถึงอุดมการณ์พรรครปช.ว่า สิ่งที่เป็นหัวใจของพรรคที่มีคุณภาพ คือ อุดมการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่นโยบาย และอุดมการณ์สำคัญกว่านโยบาย แต่ก็ดีคนละแบบ เรามักแบ่งพรรคตามอุดมการณ์มาตรฐาน เช่น ซ้ายหรือขวา อนุรักษนิยม หรือเสรีนิยม หรือสังคมนิยม และสวัสดิการนิยม หรือ กระทั่งชาตินิยม ประชานิยม เป็นต้น  รปช.ไม่ใช่ขวา  เพราะเรามีอุดมการณ์ไม่ใช้ตลาดเป็นเป้าหมาย แต่เป็นเพียงวิธีการ โดยพรรคมีเศรษฐกิจชุมชน สหกรณ์เศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจครัวเรือน เศรษฐกิจปากท้อง และเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ขณะเดียวกันพรรคก็ไม่ใช่ ซ้าย เพราะเรามุ่งรักษา ปกปักและพัฒนาของเก่า สถาบันเก่า ขนบและแบบแผนเก่า ความคิดเก่า ที่เป็นของไทยที่ดีด้วยความภูมิใจ ของเก่าที่ไม่ดีก็ไม่เก็บไว้ ส่วนหลายคนหาว่า รปช.โหนเจ้านั้น ขอชี้แจงว่าไม่ใช่และเราก็ไม่บังอาจด้วย
รปช.ชูเลือกตั้งผู้ว่าฯ
    “ภายใต้พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ประเทศเรามีสันติภาพ ปลอดสงครามมาถึงร่วมสองร้อยปีแล้ว ในเจ็ดสิบปีของรัชกาลที่ 9 นั้น สถาบันที่ชอบธรรมต่อเนื่อง เป็นความภูมิใจ เป็นที่ยอมรับของคนไทยมากที่สุด ก็คือพระมหากษัตริย์ เช่นนี้แล้วเราจึงกำหนดเป็นอุดมการณ์ที่จะน้อมรับพระบรมราชวินิจฉัยและพระราชปรีชาญาณเสมอ และตระหนักยิ่งในพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว ด้วยเราเชื่อมั่นในธรรมราชาธิปไตย” นายเอนกกล่าว
    นายเอนกกล่าวต่อว่า รปช.เน้นให้ประชาชนและสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรค กำหนดนโยบายพรรค เลือกกรรมการบริหารพรรค เลือกกรรมการวินัยและจริยธรรมที่จะมาควบคุม ตรวจสอบ ลงโทษผู้นำพรรค ส.ส. และรัฐมนตรีของพรรค รวมทั้งประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลต้องเริ่มภายในพรรค ตนขอประกาศว่า แม้คสช.หรือรัฐจะประกาศไม่ใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เราจะยังคงเลือกผู้สมัครของเราด้วยไพรมารีโหวต โดยให้เสียงของสมาชิกเป็นที่สุด 
    "เราจะปฏิรูปใหญ่ เช่น จะทำให้จังหวัดมีผู้ว่าราชการที่มาจากประชาชน แต่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับส่วนกลางและนายกรัฐมนตรี ทั้งจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และมีสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรี อยู่ในวาระสี่ปี หากเราทำได้ ในอนาคต การประชุมสำคัญของประเทศในภาครัฐจะไม่มีเพียงการประชุมคณะรัฐมนตรี หากยังต้องมีการประชุมนายกฯ กับผู้ว่าฯ ทุกเดือน บรรดาผู้ว่าราชการในระบอบปฏิรูปของเรา จะแข่งขันกันสร้างผลงานเอาใจประชาชนในจังหวัด มิใช่ตามใจแต่รัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงอย่างที่ทำกันมานับแต่ปี 2475 อย่างนี้แล้ว" นายเอนกกล่าว และว่า การเป็นตัวของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เราจะไม่สุดขั้ว สุดโต่ง 
    นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ว่าที่หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แถลงถึงข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการการเมืองฯ ของประธาน สนช., หัวหน้า คสช., รองประธาน สนช., สมาชิก คสช., สมาชิก สนช., นายกรัฐมนตรี, รองนายกฯ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวง, รัฐมนตรีช่วยฯ, ลดอัตราเงินเดือน 15-30 เปอร์เซ็นต์ ตามความเหมาะสม เสนอแก้ไข พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการประจำ 15-25 เปอร์เซ็นต์ และ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ตามความเหมาะสม เสนอแก้ไขระเบียบ อัตราค่าตอบแทนกรรมการบอร์ด CEO รัฐวิสาหกิจที่ผูกขาด และมีกำไร ให้ลดอัตราเงินเดือน 20-30 เปอร์เซ็นต์ และเสนอแก้ไขระเบียบ อัตราค่าตอบแทน กรรมการบอร์ด CEO รัฐวิสาหกิจ ที่ขาดทุนและบริหารแย่ ให้ลดอัตราเงินเดือน 50 เปอร์เซ็นต์
     "ภาระหนี้สาธารณะของประเทศในปัจจุบันมีถึง 6,400,711.48 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.04 ของ GDP" นายมงคลกิตติ์ระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"