ยอดติดเชื้อโควิดลดต่อเนื่อง พบรายใหม่ 17,165 ราย เสียชีวิต 226 ราย หายป่วย 20,056 ราย "สธ." ระบุสัญญาณดีจ่อผ่อนคลายเร็วขึ้น พร้อมรับข้อเสนอสมาคมภัตตาคารไทยขอผ่อนคลาย เตรียมชง ศบค.เคาะ 27 ส.ค. "ครม." ปลดล็อกซื้อชุดตรวจโควิด 'ATK' ไม่ต้องผ่านรับรองจาก WHO "กรมวิทย์" เผยพบเดลตากลายพันธุ์ 4 ตัวเป็นลูกหลานเดลตาที่ระบาดในไทย คลัสเตอร์ต่างจังหวัดกระจายหลายพื้นที่
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,165 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 16,970 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,226 ราย ค้นหาเชิงรุก 1,744 ราย และเรือนจำ 192 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,038,951 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 20,056 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 881,829 ราย อยู่ระหว่างรักษา 192,334 ราย อาการหนัก 5,229 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,095 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 226 ราย เป็นชาย 120 ราย หญิง 106 ราย อยู่ใน กทม.มากสุด 68 ราย โดยเป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปี ถึง 58 ราย คิดเป็น 85% เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 4,025 ราย สมุทรปราการ 1,731 ราย สมุทรสาคร 1,288 ราย ชลบุรี 816 ราย ราชบุรี 558 ราย นครราชสีมา 445 ราย พระนครศรีอยุธยา 381 ราย ฉะเชิงเทรา 376 ราย นนทบุรี 365 ราย บุรีรัมย์ 331 ราย ส่วนการตรวจแบบ ATK และพบผลเป็นบวก 314 ราย
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตัวเลขติดเชื้อใหม่ที่เคยแตะหลัก 2 หมื่นราย จะอยู่วันที่ 3-4 ส.ค. หลังจากนั้นจะแกว่งตัวลดต่ำกว่า 2 หมื่นราย หากลดลงต่อเนื่องก็จะสอดคล้องกับโมเดลที่เราดูกันไว้ก่อนเดือน ส.ค.ว่าช่วงพีกสูงสุดจะอยู่ในเดือน ส.ค.น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้มาตรการผ่อนคลายต่างๆ มีโอกาสเป็นไปได้สูง
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้แทนสมาคมภัตตาคารไทยและอีก 8 สมาคม เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เพื่อยื่นข้อเสนอให้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการสำหรับร้านอาหารให้เปิดบริการได้หลังสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ได้รับทราบข้อเสนอมอบให้กรมควบคุมโรคและกรมอนามัยจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ โดยหลักการจะต้องมีการดำเนินการเพื่อความปลอดภัย 3 ส่วน ได้แก่ 1.การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมไม่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ เช่น เว้นระยะห่าง ไม่แออัด อากาศถ่ายเทได้ดี 2.พนักงานต้องปลอดโรค โดยการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือหากไม่ได้หรือยังได้ไม่ครบ 2 เข็ม ต้องตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ทุก 3-7 วัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองในการให้บริการลูกค้า และ 3.ลูกค้าต้องปลอดโรค อาทิ แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน, ผู้ที่เคยติดเชื้อต้องหายแล้ว 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน, มีผลตรวจ ATK รับรองว่าไม่ติดเชื้อ หรือมีการตรวจก่อนเข้าใช้บริการ
"จากการพูดคุยกับตัวแทนทั้งสมาคมภัตตาคารไทย และตัวแทนร้านอาหาร ยินดีให้ความร่วมมือ และส่วนหนึ่งก็ได้ดำเนินการเข้มในมาตรการป้องกันโควิดเป็นอย่างดี ทั้งภายในร้านอาหาร พนักงาน คนปรุงอาหาร และตามมาตรการที่ทางภาครัฐกำหนด เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้อย่างยั่งยืนและผู้รับบริการมีความปลอดภัย ทั้งนี้ ในระยะแรกจะเน้นในร้านอาหารที่เป็นห้องปรับอากาศและห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย โดยจะนำรายละเอียดหลักการเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ในวันศุกร์ที่ 27 ส.ค.นี้" ปลัด สธ.กล่าว
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนหนึ่งว่า ครม.รับทราบการขอปรับปรุงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2564 และการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 โดยขอแก้ไขข้อความจากเดิมหน้าที่ 17 ข้อ 6 ว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด” เป็นข้อความว่า “ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้ สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”
ผงะ! โควิดกลายพันธุ์
ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด-19 ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ตรวจสอบตัวอย่างเชื้อโควิดกว่า 2,000 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตากว่า 2,132 ตัวอย่าง สายพันธุ์แอลฟากว่า 100 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เบตาที่จำกัดวงกำลังระบาดอยู่ในโซนภาคใต้ที่เขตสุขภาพ 11 และ12 ประมาณ 29 ตัวอย่าง พบมากสุดใน จ.นราธิวาส รองลงมาคือ กระบี่ ภูเก็ต สงขลา ถ้าหากมีการควบคุมได้ สายพันธุ์เบตาก็จะหายไปจากไทย ดังนั้นขณะนี้สายพันธุ์หลักที่กระจายในประเทศไทยคือเดลตากว่า 93% ขณะที่ในกรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 97% และสายพันธุ์อัลฟาเพียง 3% ในส่วนภูมิภาคพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 85%
"จากข้อมูลเว็บไซต์ศูนย์จีโนมได้วิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยของเดลตาที่เกิดขึ้นไทย ซึ่งสายพันธุ์เดลตา หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ B.1.617.2 ที่ระบาดในไทยเป็นหลักและทั่วโลก แต่เนื่องจากมีการระบาดอย่างกว้างขวางมากขึ้นก็เกิดสายพันธุ์ย่อย ที่พบว่ามีการระบาดในประเทศไทย รวมไปถึงเดนมาร์ก อังกฤษ สเปน เป็นต้น โดยกรมวิทย์ได้ตรวจโฮล จีโนม หรือการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจสัปดาห์ละกว่า 400-500 คน จากคนไข้ที่มีอาการในระดับต่างๆ ทำให้พบว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยเดลตา ซึ่งอาการไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์เดลตาหลัก อาจเพราะจำนวนการติดเชื้อยังน้อย จึงต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และหากพบมีการกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ไทยขึ้นมาในอนาคตก็จะมีการรายงานและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ทุกคนรับทราบ" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากฐานข้อมูลโควิดโลก GISAID ที่ได้มีการประมวลผลการถอดรหัสจีโนมทั่วโลก โดยมีสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดในอู่ฮั่น แต่ด้วยการกระจายเชื้อเข้าสู่คนทำให้ระบาดอย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสจึงได้วิวัฒนาการแตกย่อยสายพันธุ์ออกไป โดยในไทยพบการกลายพันธุ์ของไวรัสในสายพันธุ์อัลฟา หรือ B.1.1.7 11%, สายพันธุ์เบตา หรือ B.1.351 14%, สายพันธุ์เดลตา หรือ B.1.617.2 71% ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่จะมีการกระจายแตกตัวออกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีกถึง 27 สายพันธุ์ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ B.1.617.2.1-B.1.617.2.22 หรือเรียกให้สั้นว่า AY.1-AY.22 ในไทยพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตามากสุด คือ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 3% พบในเขตปทุมธานี จำนวน 4 คน รองลงมาคือ AY.6 หรือ B.1.617.2.6 1% พบจำนวน 1 คน, AY.10 หรือ B.1.617.2.10 1% พบในเขต กทม. จำนวน 1 คน, AY.12 หรือ 5.1.617.2.15 1% พบในเขต กทม. ย่านพญาไทยจำนวน 1 คน
"จากฐานข้อมูลบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นลูกหลานที่แตกย่อยของสายพันธุ์เดลตาหลักที่ระบาดอยู่ในไทย ซึ่งจะต้องมีการควบคุมดูแลเพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง เพื่อติดตามเฝ้าระวังการระบาดและอาจจะเกิดการกระจายเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าดื้อกับวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์หลักหรือน้อยกว่าสายพันธุ์หลัก" หัวหน้าศูนย์จีโนมกล่าว
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เสริมว่า สายพันธุ์ย่อย AY.1-AY.22 ของเดลตายังคงคุณสมบัติของเชื้อที่แพร่กระจายรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดกว้างขวาง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากพบว่าติดเชื้ออาการค่อนข้างรุนแรง และมีการดื้อวัคซีน และในสายพันธุ์ย่อยเองก็จะมีการกลายพันธุ์ในตัวเพิ่มอีกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ อย่างเชื้อที่เรียกว่า เดลตา พลัส ที่ประเทศอินเดียเคยบอกว่าอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือสายพันธุ์เดลตา พลัส ที่กลายพันธุ์เป็น K417N ซึ่งยังไม่พบในไทย
"กระบวนการทางกรมวิทย์จะมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม เป็นการนำตัวไวรัสมาถอดรหัสพันธุกรรมใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ล่าสุดจากการถอดรหัส 1,955 ตัวอย่าง ที่สุ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา 71% สายพันธุ์เดลตา 23% ในจำนวนนี้ทำให้พบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาด้วยจากการตรวจสุ่มใน จ.ปทุมธานี 9 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์ย่อย AY.4 จำนวน 4 ตัวอย่าง และบุรีรัมย์ กำแพงเพชร เชียงใหม่ สมุทรปราการ ชลบุรี จังหวัดละ 1 คน, AY.6, AY.10 พบที่กรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง, AY.12 พบที่กรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง และสุราษฎร์ธานี 2 ตัวอย่าง ทั้งหมดพบในช่วง มิ.ย.-ส.ค.64 ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวัง เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีลักษณะความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ในส่วนของการแพร่กระจายยังคงจำกัดในพื้นที่ และกรมวิทย์จะดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไปจนถึงสิ้นปี 2564 จำนวนกว่า 6,000 ตัวอย่าง" นพ.สุรัคเมธกล่าว
คลัสเตอร์ 'ตจว.' อื้อ
จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ระบุผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,731 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 1,304 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 335 ราย อำเภอพระประแดง จำนวน 433 ราย อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 127 ราย อำเภอบางพลี จำนวน 314 ราย อำเภอบางบ่อ จำนวน 20 ราย อำเภอบางเสาธง จำนวน 75 ราย โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการ จำนวน 427 ราย เสียชีวิต 19 ราย
จ.สมุทรสาคร มียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่1,288 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก 94 ราย ในโรงพยาบาลภายในจังหวัด 805 ราย นอกจังหวัด 389 ราย เสียชีวิต 15 ราย อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล 19,999 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 294 ราย ซึ่งยอดการติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี พ.ต.อ.สมชาย ขอค้า ผกก.สภ.โคกขาม พร้อม กต.ตร.สภ.และที่ปรึกษาร่วมกันจัดทำโครงการโคกหนองนาโมเดล ปลูกผักสวนครัว ปลูกสมุนไพรปลอดสารพิษ และแจกจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้ประชาชน
จ.บุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ กำหนดพื้นที่ควบคุมห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากพื้นที่บ้านตลุงเก่า หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 9 ต.โคกม้า อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ มีกำหนด 14 วัน หลังเกิดคลัสเตอร์งานศพอดีตตำรวจเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ที่บ้านตลุงเก่า หมู่ที่ 3 ต.โคกม้า อ.ประโคนชัย มีผู้ติดเชื้อแล้ว 41 ราย
จ.ขอนแก่น นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอเมืองขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองขอนแก่น และผู้นำชุมชนในพื้นที่ลงพื้นที่บ้านหนองกุง ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตรวจคัดกรองเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงสูง 54 ราย หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อ 1 ราย เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ตลาดหนองกุง คลัสเตอร์ตลาดแห่งใหม่ ในเขต อ.เมืองขอนแก่น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |