ถอย!บัตร2ใบไปต่อ กมธ.แก้รธน.หั่นทิ้ง4มาตรา/เสียงข้างมากควํ่าญัตติก้าวไกล


เพิ่มเพื่อน    

กมธ.รัฐธรรมนูญใส่เกียร์ถอยแล้ว หั่นร่างแก้ไขทิ้ง 4 มาตราที่งอกขึ้นมา อ้างกลัวยืดเยื้อถูกมองรัฐบาลเตะถ่วงเลยปัดฝุ่นใหม่ “นิกร” ยันไม่กระทบภาพใหญ่อยากได้บัตร 2 ใบ จำนวน ส.ส.และระบบคำนวณ “ภูมิใจไทย” ประกาศ 2 งด ทั้งงดออกเสียง-งดแสดงความเห็น ส่วน “จุรินทร์” ลั่นหนุนตั้งแต่วาระ 2 และ 3 “ที่ประชุมสภาวันแรก” ถกยาวญัตติธีรัจชัย สุดท้ายลงมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 374 ต่อ 60 งดออกเสียง 193 ส่วนวาระแก้ไข รธน. เลื่อนไปวันที่ 25 ส.ค. 
เมื่อวันอังคารที่ 24 สิงหาคม มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว และพิจารณาเรื่องด่วน ญัตติขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ซึ่งนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พูดถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาว่า รัฐบาลสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักการและเหตุผลในทุกเรื่องทุกประเด็น เพราะรัฐบาลไม่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเอง
    ขณะเดียวกัน ก่อนการประชุม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธาน กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ได้เรียกประชุมด่วน เพื่อทบทวนเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่วาระ 2  และ 3 ของรัฐสภา หลังจากที่มี กมธ.ทักท้วง และไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่เตรียมประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน 
ถามว่ากรณีแก้ไขก่อนประชุมถือว่าเสียหน้าหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า เป็นฝ่ายทำกฎหมาย ต้องรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เมื่อมี กมธ.ทักท้วงหลายคนจึงจัดประชุม กมธ.ให้ และผลการแก้ไขเปลี่ยนแปลง สามารถยื่นเป็นเอกสารให้ประธานรัฐสภาได้ทันก่อนการพิจารณา
โดยผลการประชุม กมธ.ได้มีมติให้ยกเลิกเนื้อหาสาระที่ กมธ.แก้ไข และให้ยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เช่นเดิม ประกอบด้วย 1.ยกเลิกมาตรา 85 ที่ กมธ.แก้ไขให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องรับรองผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน 2.ยกเลิกมาตรา 92 ที่ กมธ.แก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.นั้น (โหวตโน) ให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น และผู้สมัครเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งในรอบใหม่
3.ยกเลิกมาตรา 94 ที่ กมธ.แก้ไขให้ตัดทิ้ง กรณีการเลือกตั้งซ่อมภายหลังพ้น 1 ปี ห้ามกระทบกับการคํานวณ ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค 4.ยกเลิกวรรคสาม มาตรา 105 ที่ กมธ.แก้ไขขอให้ตัดทิ้ง กรณีการประกาศเลื่อนผู้มีชื่ออยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง และ 5.ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่เพิ่มขึ้น ในส่วนที่ กมธ.กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ หากแก้ไขเสร็จไม่ทัน ให้ กกต.มีอำนาจออกหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อใช้บังคับไปพลางก่อน 
    สำหรับมาตราที่คงไว้ตามที่ กมธ.แก้ไข คือ มาตรา 83 จำนวน ส.ส.และมาตรา 91 วิธีคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาตรา 86 เรื่องการกำหนดการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยยึดฐานประชากรเป็นเขตเลือกตั้ง และบทเฉพาะกาลที่ กมธ.เพิ่มใหม่ ในส่วนที่กำหนดให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้กับการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งถัดไป ซึ่งเหตุผลที่ กมธ.ยอมปรับปรุงเนื้อหาใหม่ ตัดทิ้งเนื้อหาหลายมาตราที่เพิ่มขึ้นมาจากวาระรับหลักการนั้น เนื่องจากมาตราต่างๆ ที่ กมธ.เพิ่มขึ้นมายังมีความเห็นถกเถียงกันหลากหลาย ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหามากกว่าญัตติที่รับหลักการได้หรือไม่ แม้ กมธ.จะอ้างอำนาจตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 124 ก็ตาม ซึ่งหากยังคงไว้อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยืดเยื้อ ทำให้รัฐบาลถูกมองมีเจตนาเตะถ่วง กมธ.จึงยอมตัดทิ้งเนื้อหาที่ไม่ลงรอยทิ้งไป เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 2-3 ได้อย่างราบรื่น และป้องกันการถูกยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ในฐานะเลขานุการคณะ กมธ. กล่าวว่า เหตุผลที่ทบทวน เพราะบางมาตราคงไว้ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่สร้างความเสียหายหรือกระทบต่อการเลือกตั้ง เนื่องจากหลักที่เป็นหัวใจคือ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.แบ่งเขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงระบบการคำนวณคะแนนแบบที่ต้องการแล้ว กมธ.เห็นว่าควรแก้ไขเท่าที่จำเป็น แม้จะไม่สวยงาม แต่หากความสวยงามถูกท้วงติงว่าไม่ถูกต้อง ความสวยงามต้องแก้ไข แม้จะสวยไม่มาก แต่ทำให้ถูก และได้รับความเห็นชอบทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่ดี 
ส่วนนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กมธ.ยังไม่มีเสนอการตัดมาตรามา แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งขณะนี้มีการขอแก้ไขข้อความสั้นๆ เพียง 1 บรรทัด 
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี กมธ.การทบทวนและปรับออก 4 มาตราว่า ต้องเป็นไปตาม กมธ. ซึ่ง ปชป.ก็พร้อมให้การสนับสนุน และไม่เฉพาะความเห็นในชั้น กมธ. แต่ก็พร้อมลงมติให้ผ่านในวาระที่ 3 ด้วย 
ภูมิใจหนูประกาศ 2 งด
    ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรค ภท. ได้แถลงถึงมติของพรรคว่า มีมติว่าจะดำเนินการ 2 งดคือ งดออกเสียง และงดใช้เสียง โดยงดใช้เสียงคือ วันนี้การอภิปรายวาระที่ 2 สมาชิกพรรคจะไม่ลุกขึ้นใช้เวลาของสภาเพื่ออภิปราย ส่วนขั้นตอนการลงมติทุกมาตรา เราจะงดออกเสียงทุกมาตรา เหตุผลเพราะเรายืนยันตั้งแต่แรกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก แต่การแก้ไขครั้งนี้เกี่ยวกับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์โดยตรง 
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรค ก.ก. กล่าวว่า พรรคสนับสนุนการแก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมกลายพันธุ์ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ส่วนที่กล่าวหาว่าพรรคขัดขวางเพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของพรรคด้วยกติกาการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่จริง 
    ต่อมาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวนเป็นประธาน ได้พิจารณาญัตติด่วนที่นายธีรัจชัยเสนอ โดยนายธีรัจชัยกล่าวว่า การประชุม กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้อ้างถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 วรรคสาม ที่กำหนดว่าการแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการ เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการ จนเป็นที่มาให้ที่ประชุม กมธ.มีมติให้แก้ไขมาตรา 85, มาตรา 86, มาตรา 92,  มาตรา 93, มาตรา 94 และมาตรา 105 วรรคท้าย รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติใหม่ แต่มี กมธ.บางส่วนคัดค้าน อ้างถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 114 วรรคสอง กำหนดว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้ชัดแจ้ง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งได้กำหนดหลักการชัดแจ้งว่าแก้ไขเพิ่มเติมเพียงสองมาตราเท่านั้น จึงไม่อาจแก้ไขมาตราอื่นที่เกิดเลยไปกว่านั้นได้
“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญอย่างระบบการเลือกตั้ง ส.ส. โดยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง และเกิดผลกระทบในภายหลังได้ ถือเป็นกรณีที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องพิจารณา ดังนั้น จึงขอเสนอญัตติให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมดังกล่าว เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ข้อบังคับข้อดังกล่าวต่อไป” นายธีรัจชัยกล่าว  
ซัด ก.ก.แค่ค้านบัตร 2 ใบ
    โดยหลังนายธีรัจชัยเสนอญัตติเสร็จสิ้น ก็มี ส.ส.และ ส.ว.แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งในส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค พปชร.และ ปชป. ต่างสนับสนุน กมธ.ว่ามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกินหลักการได้ หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรค ก.ก. คัดค้านเป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่ ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วน ส.ว.อภิปรายไปทำนองเดียวกันว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินหลักการที่เสนอมาได้ แต่ต้องเท่าที่จำเป็น ไม่ควรเกินเลยหลายมาตรา
    ขณะที่นายไพบูลย์ชี้แจงว่า ญัตติที่นายธีรัจชัยเสนอเป็นแค่การแสดงความเห็นส่วนตัวที่อยากคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเท่านั้น เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นข้อบังคับที่บัญญัติมานานแล้ว มาตราที่ กมธ.เสนอมาทั้งหมดไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องตีความ 
    ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า การตีความข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 124 ถ้าจะตีความเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาผู้ยื่นแปรญัตติเพียงอย่างเดียวก็ขัดกับนิติประเพณีที่ทำกันมา เพราะเป็นอำนาจ กมธ.ด้วย การแปรญัตติไม่ใช่เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น ถ้า กมธ.ไม่มีอำนาจเสนอแก้ไขแล้ว กมธ.จะมีอำนาจสงวนความเห็นได้อย่างไร ซึ่งมองว่ามีมาตราเดียวที่เข้ากับข้อบังคับที่ 124 คือการแก้ไขมาตรา 86 ที่ระบุมี ส.ส.เขต 350 คน ถ้าไม่แก้ไขแล้วจะทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหาได้ แต่การไปตีความมาตราที่เกี่ยวเนื่องอย่างกว้าง  อาจกระเทือนหลายมาตรา เพราะทุกมาตราเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าไปทำให้เกิดประเพณีใหม่ว่า ข้อบังคับที่ 124 แก้ไขได้กว้างขวาง ในอนาคตอาจเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2-3 มาตรา แต่มี กมธ.ไปแก้ไขเพิ่ม 10-20 มาตรา เลี่ยงการแก้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา เรื่องนี้ต้องตีความอย่างแคบ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. ระบุว่า การที่ประธานสภาฯ และสมาชิกจะวินิจฉัยญัตติได้ต้องมีประเด็นที่เป็นปัญหาให้เห็น หากดูตามญัตติที่พรรค ก.ก.เสนอ ไม่ได้เป็นประเด็นสอบถามอย่างชัดเจน หากญัตติไม่ชัดเจนแบบนี้ ก็ลำบากมากที่สภาจะวินิจฉัย สรุปแล้วญัตติจะถามว่าการแก้ไขมาตรา 86 และข้อสังเกตแนบท้ายที่ให้มานั้นเกี่ยวเนื่องกับหลักการหรือไม่ แบบนั้นใช่หรือไม่ หากใช่ สภาจะได้ลงมติกัน นอกจากนี้สภาจะต้องวินิจฉัยร่วมกันว่า เมื่อต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 83 ก็ต้องแก้ไขมาตรา 86 และ 91 เพราะเกี่ยวเนื่องกัน หากไม่แก้ 2 มาตรานี้จะมีปัญหาการตีความ และมีปัญหาต่อการบังคับใช้ในอนาคต มองว่าหากเป็นประเด็นที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ควรยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ที่สภาแห่งนี้เป็นผู้วินิจฉัย 
ญัตติธีรัจชัยแพ้เสียงส่วนใหญ่
และในเวลา 17.10 น.  หลังจากสมาชิกอภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติในญัตติของนายธีรัจชัย ปรากฏว่า นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. สอบถามว่า การลงมติในญัตติจะยึดข้อมูลตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในฉบับเดิมที่ยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่ในช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค.ใช่หรือไม่ และเพื่อความมั่นใจ ขอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ กมธ.ไปปรับปรุงแก้ไขมาเสร็จแล้วด้วย แต่นายไพบูลย์ปฏิเสธที่จะให้ดู อ้างว่ายังไม่ถึงวาระการพิจารณา จึงไม่สามารถให้ดูเนื้อหาที่แก้ไขใหม่ได้  
นพ.ชลน่านตั้งคำถามสอบถามที่ประชุมรัฐสภาว่า จะลงมติโหวตกันอย่างไร เพราะญัตติของนายธีรัจชัยเขียนแบบกว้างๆ จะตั้งคำถามการลงมติกันอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าญัตติต้องการถามว่า กมธ.เสียงข้างมากปฏิบัติหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญเกินเลยจากหลักการ หรือต้องการกล่าวหา กมธ.ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ 124 ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือหลักนิติธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีนี้รัฐสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นการตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สภาจะมีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะเรื่องที่ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้าญัตติไม่สมบูรณ์เช่นนี้ สภาก็ไม่จำเป็นโหวตญัตติดังกล่าว  
ทำให้นายธีรัจชัยลุกขึ้นตอบโต้ด้วยความไม่พอใจทันทีว่า มีผู้พยายามบิดเบือน เบี่ยงเบนประเด็นให้ญัตติตกไป โดยไม่ต้องลงมติโหวต ซึ่งนายไพบูลย์เสนอว่า เมื่อหลายคนอยากเห็นเนื้อหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ไปปรับปรุง ก็จะแจกร่างฉบับแก้ไขให้สมาชิกไปอ่าน เพื่อทำความเข้าใจแล้วค่อยมาตัดสินใจโหวตลงมติญัตตินายธีรัจชัยอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค.  
หลังจากใช้เวลาถกเถียงกันยาวนานว่าจะลงมติกันอย่างไรร่วม 1 ชั่วโมง ในที่สุดนายชวนยืนยันให้เดินหน้าลงมติญัตติของนายธีรัจชัย โดยตั้งคำถามว่าเห็นด้วยกับญัตติของนายธีรัจชัยในการกล่าวหา กมธ.หรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตตินายธีรัจชัยด้วยคะแนน 374 ต่อ 60 งดออกเสียง 193 ไม่ลงคะแนน 4 
และเวลา 18.15 น. เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าสมาชิกยังไม่ได้รับเอกสารการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ไปแก้ไขมาใหม่ ทำให้ ส.ส.หลายคนเสนอต่อที่ประชุมสภาขอให้เจ้าหน้าที่แจกเอกสารมาเพื่อนำไปศึกษาก่อนที่จะมีการลงมติ ต่อมานายไพบูลย์กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลของการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาใหม่ และขอให้นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 37 มาบังคับใช้โดยอนุโลมกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่ กมธ.ได้เสนอไว้ ซึ่งนายชวนเปิดโอกาสให้สมาชิกหารือว่า มีใครยังติดใจประเด็นใดหรือไม่ แต่ไม่มีสมาชิกติดใจหรือลุกขึ้นอภิปราย ทำให้นายชวนสั่งเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 25 ส.ค. และปิดประชุมเวลา 18.25 น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"