“การส่งออก” น่าจะกลายเป็นไม่กี่เครื่องยนต์ที่ยังสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ หลังจากที่หลายๆ เครื่องยนต์ต้องสะดุดลง จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปี 2563 และหลายฝ่ายประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะกว่าจะคลี่คลาย ขณะที่เศรษฐกิจไทยหลังจากนั้นก็อาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นในการฟื้นตัวเพื่อกลับไปยืนในระดับก่อนเกิดการระบาดของไวรัสตัวร้าย
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ก็ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขการส่งออกในเดือน ก.ค.2564 พบว่า ขยายตัวสูงถึง 20.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาพรวมการส่งออกในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2564) การส่งออกขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่ารวมที่ 1.54 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 16.20% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 1.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 28.73%
โดย 5 ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้งคือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักสำคัญของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป และจีน อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดี โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบและสินค้าเพื่อการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าลงก็กลายเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน ซึ่งส่งผลดีต่อราคาสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ทำให้ได้ราคาดีขึ้น และจากความพยายามของกระทรวงพาณิชย์ในการเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
โดยจากปัจจัยเสริมที่ช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยในปีนี้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง หลายฝ่ายต่างประเมินกันว่าภาพรวมตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่าเลขสองหลักอย่างแน่นอน เช่น กระทรวงการคลังที่เพิ่งปรับคาดการณ์ตัวเลขส่งออกในปีนี้เพิ่มเป็น 16.6% จากเดิมที่ 11% ขณะที่ก็มีบางส่วนมองว่าแม้การส่งออกที่แข็งแกร่งอาจจะไม่ได้เข้ามาชดเชยการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ได้ทั้งหมด แต่ก็เรียกว่าเป็นตัวหลักที่ช่วยลดทอนความเสียหายได้เป็นอย่างดี ด้านกระทรวงพาณิชย์เองยังคงยืนยันเป้าหมายตัวเลขการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 4% เช่นเดิม แม้ว่า 7 เดือนแรกส่งออกจะโตแรงไปถึง 16.20% แล้วก็ตาม
พร้อมระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีผลกระทบตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และอาจจะต่อเนื่องไปในเดือน ส.ค.และ ก.ย.2564 ได้ เพราะเมื่อล็อกดาวน์แล้วก็จะมีผลต่อภาคการผลิตที่โรงงานบางแห่งต้องปิดตัวลง บางแห่งผลิตได้ไม่ต่อเนื่องก็จะกระทบกับภาคการส่งออก รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศเพื่อนบ้านที่ติดขัดเรื่องการข้ามแดนก็มีผลต่อการส่งออก โดยเฉพาะผลไม้และสินค้าบางประเภท
ขณะที่ “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ Economic Intlligence Center : EIC” ระบุว่า การส่งออกในเดือน ก.ค. เริ่มมีสัญญาณชะลอลง จากผลของการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน รวมไปถึงสหรัฐและยุโรป นั่นอาจส่งผลให้การส่งออกในระยะต่อไปยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านอุปทานที่เริ่มส่งสัญญาณผลกระทบเช่นเดียวกัน สะท้อนจากจำนวนโรงงานที่ต้องปิดตัวชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาจากการติดเชื้อในโรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก
หากการระบาดในประเทศยังคงรุนแรงและทำให้โรงงานต้องปิดตัวมากหรือนานขึ้น ก็จะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการผลิตเพื่อการส่งออกในระยะต่อไปได้ อีกทั้งปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอาเซียน อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ก็ยังเป็นปัจจัยที่กดดันอย่างต่อเนื่อง
นั่นอาจสะท้อนถึงการชะลอตัวของภาคส่งออกที่เกิดขึ้น ยังสอดคล้องกับประมาณการส่งออกของ EIC ที่เคยมองไว้ว่า การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะชะลอความร้อนแรงลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยพื้นฐานที่จะเริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงปลายปีก่อน รวมถึงปัญหาผลกระทบการระบาดรอบล่าสุดทั่วโลกที่ยังเป็นปัจจัยกดดันภาคส่งออกในช่วงที่เหลือของปี โดย EIC ยังคงคาดการณ์การส่งออกปีนี้ที่ 15.0% และยังต้องจับตาความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 รอบล่าสุด ที่กระทบทั้งด้านอุปสงค์ (ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก) และด้านอุปทาน (การปิดโรงงาน ในประเทศ และปัญหา supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้น).
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |