หลายฝ่ายประสานเสียงค้านโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล นักวิชาการชี้แก้ขาดแคลนน้ำไม่ถูกจุด แต่ละปีปล่อยน้ำรั่วไหลจากระบบมหาศาล ติง“บิ๊กป้อม”ประธานบอร์ดสิ่งแวดล้อม-กนช.คนเดียวกัน ขาดการถ่วงดุล ส.ส.-ชาวบ้านโวยกระบวนการรับฟังเทียม ไม่ฟังข้อโต้แย้ง
24 ส.ค.64 ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมชลประทานผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ด้วยการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้ำยวม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผ่านอุโมงค์ลอดผืนป่ากว่า 60 กิโลเมตร และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เรียบร้อยแล้ว ว่ารู้สึกแปลกใจที่โครงการนี้ผ่าน คชก.ได้อย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่มีประเด็นที่ คชก. ควรตรวจสอบเพราะสิ่งที่หน่วยงานเสนอมายังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ
ดร.สิตางศุ์กล่าวว่า จริงๆแล้วตนไม่ได้มองแค่โครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมเพียงโครงการเดียว แต่ยังมีโครงการผันน้ำขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ เช่นในภาคอีสานมีโครงการผันน้ำโขง ในภาคตะวันออกมีโครงการการผันน้ำข้ามลุ่มซึ่งอยู่ในชุดเดียวกันคือการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการหาน้ำต้นทุนเพิ่ม เนื่องจากในการบริหารจัดการน้ำนั้นมี 2 ด้าน คือ อุปสงค์และอุปทาน โดยที่ทางการไทยทำไม่หยุดยั้ง คืออุปทานอย่างเดียว ต่อให้จัดหาหรือทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอ แม้ต้องไปหาทรัพยากรน้ำมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนแนวคิดโดยการจัดการน้ำของตัวเองมากกว่า ซึ่งกรณีผันน้ำจากแม่น้ำยวม โครงการเฟสแรก มีปริมาณน้ำราว 2,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และในเฟส 2 อีก 2,000 ล้าน ลบ.ม. โดยอ้างว่าช่วยพื้นที่ชลประทาน 1.6 ล้านไร่
“เขาบอกพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่างและภาคกลาง มีน้ำไม่พอ จึงต้องหาน้ำมาแก้ปัญหาเพื่อให้พอสำหรับพื้นที่เดิม แต่พอเพิ่มน้ำอีก 2,000 ล้าน ก็จะขยายพื้นที่ใหม่อีก เมื่อถึงเวลาน้ำไม่พอก็หาน้ำมาเติมอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีวันที่น้ำจะพอ และไม่รู้จักจบจักสิ้น ที่สำคัญคือไม่มีแนวทางเรื่องของความสมดุลจากการพัฒนากับทรัพยากร ถ้าเราต้องการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำการเกษตร ควรเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำเกษตร ควรเป็นเกษตรแบบเทคโนโลยีได้แล้ว ไม่ใช่เกษตรแบบเมื่อร้อยปีก่อน ตอนนี้ประสิทธิภาพของการใช้น้ำในภาคเกษตรมีแค่ 50% เราปล่อยให้สูญเสียน้ำไป 50% ทำไมเราถึงไม่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทาน ถ้าเราไม่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง น้ำก็หายไปอยู่ตลอดเวลา” นักวิชาการผู้นี้ กล่าว
ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า นอกจากน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ในกรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เราก็ทำน้ำหายไป 30% ในระบบท่อที่จ่ายน้ำไปให้ประชาชน เฉพาะแค่ 3 จังหวัดคือ กทม. นนทบุรีและ สมุทรปราการ ปัจจุบัน การประปานครหลวงผลิตน้ำวันละ 5.5 ล้าน ลบ.ม. แต่ทำน้ำหายไปในระบบท่อจ่ายน้ำวันละ 1.2 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถนำไปทำนาได้วันละ 1,200 ไร่ หรือ 30 วันสูญเสียน้ำทำนาไป 36 ล้าน ลบ.ม.หรือ ปีละกว่า 400 ล้าน ลบ.ม.หรือเท่ากับปริมาณน้ำครึ่งหนึ่งของเขื่อนป่าสักฯ แล้วยังมีการประปาภูมิภาคอีก ซึ่งมีพื้นที่เยอะกว่าการประปานครหลวง น้ำที่หายไปวันละ 30% จากระบบส่งน้ำ เช่น ท่อรั่ว ท่อแตก แทนที่จะเอาเงินลงทุนหาน้ำมาเติม สู้เราเอามาลงทุนกับระบบเพื่อไม่ให้น้ำหายไปไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราลดเปอร์เซ็นสูญเสียน้ำลงสัก 5% หรือวันละ 2.7 แสน ลบ.ม. เดือนละ 8 ล้าน ลบ.ม. เราจะทำนาได้เพิ่มอีก 8 พันกว่าไร่
“เราไม่ตื่นเต้นกับการได้น้ำคืนมา แต่กลับไปตื่นเต้นกับโครงการที่ให้จีนเข้ามาช่วยลงทุนหาน้ำต้นทุนมากกว่า ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำมองว่า แทนที่จะหาทางเอาน้ำมาเติมแบบไม่รู้จักจบ อยากเสนอให้ช่วยกันพัฒนาประสิทธิภาพของระบบส่งน้ำของเราเอง ทั้งระบบชลประทาน ระบบจ่ายน้ำประปา เราบอกว่าอยากส่งออกข้าวเป็นที่ 1 ของโลก เราอยากพัฒนาอุตสาหกรรรม เราอยากได้ทุกอย่างเยอะหมด แต่ไม่รู้จักความสมดุลของการพัฒนา ไม่ได้ดูว่าเรามีทรัพยากรเท่าไร วิธีคิดของผู้บริหารต้องเปลี่ยน การลงทุนผันน้ำเพื่อมาทำนา ชาวนาประเทศไทยยังต้องทำงานด้วยวิถีเดิมๆ ไม่มีชาวนารวยทั้งที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพราะไม่มีการพัฒนาเลย ควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยชาวนาให้ทำน้อยแต่ได้มาก ไม่ใช่คาดหวังว่าพอน้ำเพิ่มแล้วชาวนาจะปลูกข้าวได้ 3-4 ครั้งต่อปี จะมาอ้างว่าเกษตรกรไม่ปรับตัวไม่ได้ ” ดร.สิตางศุ์ กล่าว
นักวิชาการด้านน้ำรายนี้กล่าวว่า โครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม เราจะมองแค่ปริมาณน้ำแบบเอาตัวเลขมาบวกหรือลบไม่ได้ โครงการที่ต้องสร้างอุโมงค์ผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ โดยผ่านป่าอุทยานฯ 1 แห่ง ป่าสงวนแห่งชาติ 6 แห่ง นี้ ส่งผลต่อความสมดุลในแง่ทรัพยากรธรรมชาตติด้วย การได้น้ำมา 1 หน่วยไม่ใช่แค่การแลกกับป่าแค่ 1 หน่วย แต่ป่า 1 หน่วยนั้นยังมีความหมายไปถึงสัตว์ป่า สัตว์น้ำ ความสมดุลของทรัพยากรดิน น้ำ และชีวิตอื่นๆ ที่พึ่งพาอาศัยกันตามห่วงโซ่อาหารและวัฎจักรของนิเวศด้วย และการผันน้ำข้ามลุ่มทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งอาจทำให้ปลาบางสายพันธุ์สูญพันธุ์ และทำให้ปลาท้องถิ่นบางชนิดหายไป แต่ไม่มีการประเมินเรื่องโอกาสของการสูญพันธุ์ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะมันประเมินไม่ได้ ทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างที่เราจะสูญเสียไปนี้เป็นการสูญเสียตลอดกาลที่เอาคืนมาไม่ได้
“หลังจากที่รายงานนี้ผ่าน คชก. แล้ว และจะถูกส่งไปถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เราพบว่าตัวประธานคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนๆ เดียวกับประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้วโครงการนี้จะไม่ผ่านได้อย่างไร จริงๆ แล้วสองตำแหน่งนี้ต้องถ่วงดุลย์ซึ่งกันและกัน มันคือ การพัฒนาและการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่ปรากฎตอนนี้ คือ มันไม่มีการถ่วงดุลอะไรอีกแล้ว รองฯ ประวิตร ก็ต้องพิจารณาตามเอกสารที่นำเสนอขึ้นมาตามลำดับ โดยกรมชลประทาน และ คชก. จะมีใครบอกท่านไหมว่ามีอะไรที่ไม่เหมาะสมและคุ้มค่าหรือไม่ จะมีใครบอกท่านว่าไปพัฒนาด้านดีมานด์ ดีกว่ามั้ย เราไม่อยากได้ยินคำพูดว่าสูญเสียพื้นที่ป่าแค่นิดเดียว เพราะทรัพยากรมีประโยชน์ทั้งหมด เราก็ควรใช้และสร้างอย่างสมดุล ทุกวันนี้พื้นที่กักเก็บน้ำดูเหมือนไม่พอ ปริมาณน้ำแต่ละปี 8 แสนล้าน ลบ.ม. และไหลลงทะเลมากกว่า 2 แสน ล้าน ลบ.ม. หลายครั้งเรามีปัญหาน้ำท่วมเพราะฝนตกนอกอ่าง เราจึงควรพิจารณาเก็บกักด้วยรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เขื่อนขนาดใหญ่ เราพูดถึงการเก็บกักไว้ในไร่นา แต่เรากลับส่งเสริมแค่ชื่อ ให้เป็นแค่สัญลักษณ์ของคำว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ แล้วกลับไปสนับสนุนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมหาศาลอย่างจริงจัง มันคือความย้อนแย้งของภาครัฐ ของผู้บริหารระดับสูง ที่ควรจะปรับเปลี่ยน mindset หรือ หลักคิดได้แล้ว” ดร.สิตางศุ์ กล่าว
นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนมีความกังวลหลายประเด็นต่อโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล เนื่องจากโครงการมีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมดอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งเขตป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ ย่อมส่งผลกระทบต่อป่าต้นน้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งกระบวนการทำอีไอเอที่มีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้ดำเนินการนั้น จากการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่า ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมที่แท้จริงในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น อีกทั้งหน่วยงานรัฐยังรีบเร่งผลักดันกระบวนการต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทั้งที่กระบวนการรับฟังความเห็นและการทำอีไอเอยังมีคำถามถึงผลกระทบด้านต่างๆ จากชาวบ้าน นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตถึงกลุ่มทุนด้านพลังงานและก่อสร้างจะเข้ามาลงทุนแทนรัฐบาลนั้น อาจเป็นการเข้ามาแสวงหาประโยชน์ร่วมกับกลุ่มทุนไทยหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตอบคำถามของประชาชน
“ทำไมต้องเร่งดัน EIA ให้ผ่านในช่วงโควิด เพราะรู้อยู่แล้วว่าหากการทำ EIA หรือการรับฟังเสียงประชาชนต้องให้ความกระจ่างต่อประชาชนให้ชัดเจน แต่จากเสียงจากในพื้นที่นั้น ชาวบ้านแทบไม่มีส่วนร่วมที่แท้จริง เป็นการสอบถามด้วยแบบฟอร์มเท่านั้น การเร่งผลักดันจากรัฐบาลและ ส.ส.บางกลุ่มเช่นนี้ย่อมจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้าน และขอฝากไปที่ฝ่ายวิชาการที่รับจ้างทำเวทีว่า เรื่องความถูกต้องหรือจรรยาบรรณทางวิชาการก็เป็นเรื่องสำคัญ” นายมานพ กล่าว
นายมานพ กล่าวอีกว่า นอกจากผลกระทบกับป่าต้นน้ำแล้ว พื้นที่ที่อุโมงค์ผ่านป่ากว่า 60 กิโลเมตร จะกระทบต่อวิถีชุมชนของชาวบ้านกะเหรี่ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปากอุโมงค์ที่บ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีการสร้างเขื่อนและปลายอุโมงค์ที่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนที่เคยถูกอพยพเมื่อครั้งสร้างเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปี 2507 จนปัจจุบันยังไม่ได้รับค่าชดเชย แล้ววันนี้กำลังจะต้องถูกอพยพโยกย้ายอีกครั้ง นอกจากนี้ระหว่างเส้นทางอุโมงค์ผ่านจะมีการนำดินที่ขุดขึ้นมาไปกองทิ้งไว้อย่างไร
“สิ่งสำคัญคือยุทธศาสตร์ของประเทศการพัฒนาแหล่งน้ำ ผมเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่ประเทศไทย กรมชลประทานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีองค์ความรู้แค่การสร้างเขื่อนหรือ หมายถึงถ้าน้ำหมดก็ต้องวิ่งหาน้ำจากแหล่งอื่นไปเรื่อยๆ แล้วกรณีนี้ลุ่มน้ำยวมที่ไหลลงแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน เป็นลุ่มน้ำนานาชาติ ระหว่างไทยกับพม่า คำถามสำคัญคือการผันน้ำจะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นอีกประเด็นที่ท้าทาย” นายมานพ กล่าว
น.ส.มึดา นาวานาถ ชาวบ้านท่าเรือ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 1 ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม กล่าวว่า เคยเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง คือ ที่ เวทีบ้านแม่เงา และเวที อ.สบเมย แต่เห็นว่ากระบวนการถูกจัดขึ้นอย่างมีเป้าหมายแอบแฝง เนื่องจากในเวทีแรกที่บ้านแม่เงา มีชาวบ้านเข้าร่วม 30-40 คน เกือบทั้งหมดไม่มีใครสื่อสารภาษาไทยได้ แต่กระบวนการจัดขึ้นโดยใช้ภาษาไทยภาคกลางและไม่มีล่ามภาษาถิ่น และนำเสนอเนื้อหาแบบภาษาราชการ แม้แต่ตนเองที่ฟัง อ่าน เขียนภาษาไทยได้ ยังแทบไม่เข้าใจเนื้อหาที่นำเสนอ อีกทั้งมีการให้ชาวบ้านทำแบบประเมินการจัดงานและเก็บสำเนาบัตรประชาชน โดยให้ชาวบ้านเซ็นชื่อโดยไม่เข้าใจข้อความในเอกสาร ซึ่งอาจเป็นการลงชื่อว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการแล้วนำไปประกอบรายงานการประชุม ซึ่งการจัดเวทีแบบนี้ไม่ใช่กระบวนการที่ถูกต้อง
“ขนาดเราเป็นคนฟังอ่านเขียนไทยได้ ยังฟังเนื้อหาบนเวทีเข้าใจยากเพราะเป็นภาษาทางราชการล้วนๆ ชาวบ้านย่อมจิตนาการไม่ออกว่าหน้าตาเขื่อนจะเใหญ่ขนาดไหน น้ำท่วมสูงระดับอย่างไร อุโมงค์ผันน้ำจะใหญ่ขนาดไหน ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการจัดเวทีแบบนี้จึงยกมือลุกขึ้นแสดงความเห็น แล้วถามชาวบ้านเป็นภาษาไทยว่ามีใครฟังภาษาไทยรู้เรื่องให้ยกมือ ทุกคนเงียบ แต่เมื่อถามเป็นภาษาปากเกอญอว่าใครฟังภาษาไทยไม่เข้าใจบ้าง เกือบทุกคนยกมือ เห็นชัดว่าแม้แต่คำถามง่ายๆ ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจภาษาไทย เวทีที่จัดขึ้นจึงไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ความเห็นที่แท้จริง อาจจัดแค่ต้องการถ่ายรูปชาวบ้านยกมือเอาไปประกอบรายงาน” น.ส.มึดา กล่าว
น.ส.มึดา กล่าวต่อว่า ในเวทีที่สบเมย มีการนำกำลังตำรวจ ทหาร กว่า 300 นาย เฝ้ารักษาการรอบสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และมีการส่งเจ้าหน้าที่ประกบตนเองตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในเวที ขณะที่ชาวบ้านแม้จะมีจัดล่ามให้แต่ไม่สามารถแปลให้ชาวบ้านได้ เพราะเป็นล่ามกะเหรี่ยงสะกอแต่ชาวบ้านเป็นกะเหรี่ยงโปว์ โดยการดูแลชาวบ้านในครั้งนี้ผิดจากปกติเพราะมีเจ้าหน้าที่คอยเอาใจชาวบ้านด้วยการบริการอาหารเครื่องดื่มตลอดอย่างใกล้ชิด เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างผิดวิสัย ตนมองว่าเวทีรับฟังครั้งนัั้นถูกจัดขึ้นเพื่อการทำให้ครบกระบวนการตามกฏหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพของการรับฟังความเห็นที่แท้จริง
“ในการสรุปผลความก้าวหน้าของรายงาน ไม่มีการข้อมูลของดิฉันและชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นคัดค้านในเวทีก่อนแต่อย่างใด ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่มีข้อมูลที่ชาวบ้านเห็นแย้ง ข้อมูลหายไปไหน ทำไมไม่ได้รับการบันทึกการประชุม ล่าสุดมีข่าวไปทั่วประเทศว่าปลายปีจะดำเนินการได้ทันที แต่ต้องการถามกลับว่าชาวบ้านในพื้นที่รู้ความคืบหน้านี้หรือไม่ พอมีข่าวชาวบ้านก็มาถามว่าจะทำกันอย่างไร ต้องไปหานายกรัฐมนตรีหรือไม่ ชาวบ้านโกรธเพราะที่ผ่านมาส่งจดหมายคัดค้าน คำร้องเรียน ทุกงานทุกเวทีชาวบ้านพูดตลอดว่าไม่เห็นด้วย ช่วยกันจัดงานวันหยุดเขื่อนโลก เราส่งแถลงการณ์คัดค้าน พยายามสื่อสารตลอดเวลา แต่ทำไมรัฐบาลไม่เคยได้ยินเสียงของชาวบ้านเลย” น.ส.มึดา กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |