24 ส.ค.64 - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด 19 โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบตัวอย่างเชื้อโควิด19 กว่า 2,000 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตากว่า 2,132 ตัวอย่าง สายพันธุ์แอลฟ่ากว่า 100 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เบตาที่จำกัดวงกระระบาดอยู่ในโซนภาคใต้ที่เขตสุขภาพ 11 และ12 ประมาณ 29 ตัวอย่าง พบมากสุดในจ.นราธิวาส รองลงมาคือ กระบี่ ภูเก็ต สงขลา ถ้าหากมีการควบคุมได้สายพันธุ์เบตาก็จะหายไปจากไทย ดังนั้น ณ ขณะนี้สายพันธุ์หลักที่กระจายในประเทศไทยคือเดลตากว่า 93% ขณะที่ในกรุงเทพฯพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 97% และสายพันธุ์อัลฟ่าเพียง 3% ในส่วนภูมิภาคพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 85%
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลเว็บไซต์ศูนย์จีโนมได้วิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยของเดลตาที่เกิดขึ้นไทย ซึ่งสายพันธุ์เดลตา หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ B.1.617.2 ที่ระบาดในไทยเป็นหลักและทั่วโลก แต่เนื่องจากมีการระบาดอย่างกว้างขวางมากขึ้นก็เกิดสายพันธุ์ย่อย ที่พบว่ามีการระบาดประเทศไทย รวมไปถึงเดนมาร์ก อังกฤษ สเปน เป็นต้น โดยกรมวิทยฯได้ตรวจ โฮล จีโนม หรือการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจสัปดาห์ละกว่า 400-500 คนจากคนไข้ที่มีอาการในระดับต่างๆ ทำให้พบว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยเดลต้า ซึ่งอาการไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์เดลต้าหลัก อาจจะเพราะจำนวนการติดเชื้อยังน้อย จึงต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และหากพบมีการกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ไทยขึ้นมาในอนาคต ก็จะมีการรายงานและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ทุกคนรับทราบ
ด้านศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย ว่า จากฐานข้อมูลโควิดโลก GISAID ที่ได้มีการประมวลผลการถอดรหัสจีโนมทั่วโลก โดยมีสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดในอู่ฮั่น แต่ด้วยการกระจายเชื้อเข้าสู่คนทำให้ระบาดอย่างรวดเร็วเชื้อไวรัสจึงได้วิวัฒนาการ แตกย่อยสายพันธุ์ออกไป โดยในไทยพบการกลายพันธุ์ของไวรัสในสายพันธุ์อัลฟา หรือ B.1.1.7 11%, สายพันธุ์เบตา หรือ B.1.351 14%, สายพันธุ์เดลตา หรือ B.1.617.2 71% ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่จะมีการกระจายแตกตัวออกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีกถึง 27 สายพันธุ์และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ B.1.617.2.1-B.1.617.2.22 หรือเรียกให้สั้นว่า AY.1-AY.22 ในไทยพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตามากสุดคือ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 3% พบในเขตปทุมธานีจำนวน 4 คน รองลงมาคือ AY.6 หรือ B.1.617.2.6 1% พบจำนวน 1 คน, AY.10 หรือ B.1.617.2.10 1% พบในเขตกทม. จำนวน1 คน, AY.12 หรือ 5.1.617.2.15 1% พบในเขตกทม. ย่านพญาไทจำนวน 1 คน
“โดยสายพันธุ์ย่อย AY.4 AY.6 AY.10 AY.12 ซึ่งมีการพบครั้งแรกในประเทศแถบยุโรป ซึ่งอาจจะไปได้ว่าทั้งหมดอาจจะกลายพันธุ์มาจากอินเดียแล้วกระจายไปทั่วโลก และไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจุดเริ่มต้นมาไทยไม่ว่าจะมาจากสถานที่กักตัว หรือสนามบินดอนเมือง แต่จากฐานข้อมูลบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นลูกหลานที่แตกย่อยของสายพันธุ์เดลตาหลักที่ระบาดอยู่ในไทย ซึ่งจะต้องมีการควบคุมดูแลเพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง เพื่อติดตามเฝ้าระวังการระบาดและอาจจะเกิดการกระจายเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ดื้อกับวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์หลักหรือน้อยกว่าสายพันธุ์หลัก” ดร. วสันต์ ระบุ
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวเสริมว่า สายพันธุ์ย่อย AY.1-AY.22 ของเดลตานั้น ยังคงคุณสมบัติของเชื้อที่แพร่กระจายรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดกว้างขวาง เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล หากพบว่าติดเชื้ออาการค่อนข้างรุนแรงและมีการดื้อวัคซีน และในสายพันธุ์ย่อยเองก็จะมีการกลายพันธุ์ในตัวเพิ่มอีกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ อย่างเชื้อที่เรียกว่า เดลตา พลัส ที่ประเทศอินเดียเคยบอกว่าอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือสายพันธุ์เดลตา พลัสที่กลายพันธุ์เป็น K417N ซึ่งยังไม่พบในไทย
นพ.สุรัคเมธ กล่าวต่อว่า โดยกระบวนการทางกรมวิทย์ฯจะมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม เป็นการนำตัวไวรัสมาถอดรหัสพันธุกรรมใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ล่าสุดจากการถอดรหัส 1,955 ตัวอย่างที่สุ่มตั้งแต่เดือนพ.ค. พบเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า 71% สายพันธุ์เดลตา 23% ในจำนวนนี้ทำให้พบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาด้วยจากการตรวจสุ่มในจ.ปทุมธานี 9 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์ย่อย AY.4 จำนวน 4 ตัวอย่าง และบุรีรัมย์ กำแพงเพชร เชียงใหม่ สมุทรปราการ ชลบุรี จังหวัดละ 1 คน, AY.6,AY.10 พบที่กรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง, AY.12 พบที่กรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง และสุราษฎร์ธานี 2 ตัวอย่าง ทั้งหมดพบในช่วงมิ.ย.-ส.ค.64 ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังเพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า มีลักษณะความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ในส่วนของการแพร่กระจายยังคงจำกัดในพื้นที่ และกรมวิทย์ฯจะดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไปจนถึงสิ้นปี 2564 จำนวนกว่า 6,000 ตัวอย่าง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |