24 ส.ค.64-พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม หลานนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า งบสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องโปร่งใส เพื่อให้สถาบันฯดำรงต่อได้เคียงข้างประชาธิปไตย
ที่ผ่านมา ระบอบประยุทธ์กำลังทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเสี่ยงที่จะไม่อยู่ในสถานะ ‘เหนือการเมือง’ และ ‘ใต้รัฐธรรมนูญ’ อย่างที่ควรจะเป็น จากการถูกระบอบประยุทธ์ตั้งใจลาก หรือ ปล่อยให้ไหลเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านการกล่าวอ้างและผูกขาดความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ไว้กับตนเองเพียงผู้เดียว และผ่านความไม่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีที่จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการกระทำใดที่สุ่มเสี่ยงจะขัดกับหลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การพิจารณางบประมาณรายจ่ายเป็นการตัดสินใจของรัฐที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในแต่ละปี เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง และเป็นการแสดงให้เห็นว่าเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ที่พวกเราเสียให้แก่รัฐ ถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่
หากเราจะประเมินว่างบประมาณถูกจัดสรรให้แต่ละหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อาจมี 2 เกณฑ์ที่เราต้องคำนึงถึง หรือ 2 “ไม้บรรทัด” ที่เรานำมาใช้วัด
1. งบประมาณสำหรับหน่วยงานนั้น “สูง” หรือ “ต่ำ” เกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์หรือปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งอาจพิจารณาได้คร่าวๆจากการเปรียบเทียบกับงบหน่วยงานนั้นในอดีต งบของหน่วยงานอื่นในประเทศไทย หรืองบของหน่วยงานเดียวกันในประเทศอื่น
2. งบประมาณทุกบาท (ไม่ว่าจะมากหรือน้อย) ถูกใช้อย่างคุ้มค่าแค่ไหน เพื่อประโยชน์ของประชาชน - การจะประเมินเรื่องนี้ได้ “ความโปร่งใส” เป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อเปิดให้ประชาชนเห็นข้อมูลทั้งหมดอย่างชัดเจนว่าหน่วยงานที่ขอรับงบประมาณจะเอาเงินไปทำอะไร ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ใด โดยควรเป็นการเปิดข้อมูลที่ละเอียด ไม่ใช่เห็นแค่หมวดหมู่กว้างๆ
งบประมาณที่ถูกจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องผ่านทั้งสองเกณฑ์นี้ (เช่น บางหน่วยงานอาจได้งบน้อยกว่าปีที่แล้ว หรือ ใช้งบประมาณไม่มาก แต่หากมองไม่เห็นว่าทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร หรือ ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง งบส่วนนั้นก็สมควรถูกตัด)
และหากประชาชนมีข้อสงสัย ก็ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในฐานะผู้ใช้ภาษีที่ต้องคลี่คลายข้อสงสัยนั้น
งบสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องถูกประเมิน ตรวจสอบ ตั้งคำถาม และ ชี้แจงด้วยมาตรฐานเดียวกัน
หากเราเข้าใจตรงกันว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นสับเซต (subset) ของระบอบประชาธิปไตย (หรือทางเลือกหนึ่งภายใต้ร่มใหญ่ของระบอบประชาธิปไตย) ดังนั้น ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีใครเป็นประมุข ทุกสถาบันทางการเมืองต้องถูกปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกัน
หากเราลองพิจารณางบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ งบส่วนราชการในพระองค์ ประจำปีงบประมาณ 2565 จากข้อมูลสาธารณะที่พรรคก้าวไกลได้วิเคราะห์และนำเสนอในการประชุมสภาฯ โดยยึดเกณฑ์ 2 ข้อข้างต้น จะพบว่างบส่วนนี้ มีข้อน่ากังวลอยู่
1. จำนวนงบประมาณดูสูง เมื่อเทียบกับมิติต่างๆ
(i) เมื่อเทียบกับอดีต: นับตั้งแต่การออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ในยุค คสช. ที่มีผลให้เกิดการรวมกันของ 5 หน่วยงานมาอยู่ภายใต้ร่มเดียวคือ “ส่วนราชการในพระองค์” ก็พบว่า งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในปีงบประมาณ 2560 งบส่วนนี้อยู่ที่ 5,674 ล้านบาท แต่หลังจาก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวบังคับใช้ งบส่วนราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นมาที่ 8,761 ล้านบาท ในปี 2565 (ไม่นับรวมงบประมาณที่กระจายอยู่ในหน่วยงานอื่น) หรือ เฉลี่ยที่ 8% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และแสดงให้เห็นว่ามีการเพิ่มรายจ่ายโดยเจตนาในส่วนนี้
(ii) เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นในประเทศไทย: งบส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบมากกว่ากระทรวงถึง 7 กระทรวง (เช่น กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) โดยคำชี้แจงที่ได้จากคำถามว่าทำไมถึงได้รับจัดสรรงบประมาณเยอะขนาดนั้น ก็คือจำนวนบุคลากรของส่วนราชการในพระองค์กว่า 14,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนบุคลากรในหลายกระทรวง (เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ) รวมแล้ว 6 ปีที่ผ่านมา งบสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น 54 เปอร์เซ็นต์ (หากนับเฉพาะงบส่วนราชการในพระองค์) ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์
(iii) เมื่อเทียบกับหน่วยงานเดียวกันในประเทศอื่น: ในบรรดาประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เช่นเดียวกับไทย พบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้รับงบประมาณสูงกว่าประเทศอื่น (สถาบันพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรได้รับงบ 3,565 ล้านบาท, เนเธอร์แลนด์ ได้รับ 1,867 ล้านบาท, สเปน ได้รับ 330 ล้านบาท, สวีเดน ได้รับ 266 ล้านบาท) ธรรมดาเราอาจต้องคำนึงถึงว่าแต่ละประเทศมีประชากรไม่เท่ากัน และเปรียบเทียบงบต่อหัว แต่ตรงนี้อาจไม่จำเป็นในส่วนของงบสถาบันกษัตริย์ เพราะทุกประเทศมีกษัตริย์องค์เดียว หรือหากจะเทียบกับประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงกับไทย (เช่น สหราชอาณาจักร) จะเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยรับงบมากกว่าสหราชอาณาจักรประมาณ 2 เท่า
2. ประเมินยากว่าใช้เงินอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพราะมีรายละเอียดน้อย
(i) ไม่มีการชี้แจงอย่างเพียงพอ: ในขณะที่กระทรวงซึ่งขอรับจัดสรรงบประมาณจำนวนน้อยกว่า กลับมีเอกสารชี้แจงงบประมาณที่ละเอียดกว่า (เช่น กระทรวงพลังงานมีรายละเอียด 112 หน้า, กระทรวงอุตสาหกรรม มีรายละเอียด 195 หน้า หรือ กระทรวงพาณิชย์มีรายละเอียด 269 หน้า) แต่ส่วนราชการในพระองค์ มีเอกสารชี้แจงแค่ 7 หน้า ยิ่งไปกว่านั้น งบส่วนราชการในพระองค์ไม่มีผู้แทนของหน่วยงานมาชี้แจงรายละเอียดต่อสภาผู้แทนราษฎร เหมือนที่หน่วยงานอื่นปฏิบัติ
(ii) ไม่มีข้อมูลเรื่องการเบิกเกินงบ: พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดให้ทุกหน่วยงานหากเบิกใช้งบประมาณไม่หมดตามที่ขอไป ก็ต้องส่งเงินนั้นคืนคลัง แต่ส่วนราชการในพระองค์เป็นหน่วยงานที่เบิกจ่ายงบประมาณเต็มจำนวน 100% และบางปีก็เบิกจ่ายเกินด้วย เช่น ปี 2561 เบิกเกินประมาณ 52%, ปี 2563 เบิกเกินประมาณ 28%โดยไม่อาจทราบรายละเอียด เพราะไม่มีการชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็น
(iii) ไม่อำนวยความสะดวกในการตรวจสอบ: การตรวจสอบงบส่วนนี้ดูมีอุปสรรคกว่างบส่วนอื่น อย่างเช่นการตีความข้อบังคับการประชุมสภาฯ จนนำไปสู่การห้ามขึ้นสไลด์ที่มีข้อมูลทางการเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (ที่เปิดต่อสาธารณะอยู่แล้ว) ในที่ประชุมผู้แทนราษฎร
เมื่อเห็นตัวเลขเบื้องต้น ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะตั้งคำถามในทั้ง 2 มิตินี้ สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำคือการออกมาชี้แจงรายละเอียดให้เกิดความกระจ่าง
ยิ่งรัฐบาลปล่อยให้มีความคลุมเครือโดยไม่ออกมาชี้แจง ยิ่งรัฐบาลดึงดันปกปิดข้อมูลบางส่วนไว้ ยิ่งรัฐบาลใช้มาตรฐานที่แตกต่างออกไปจากงบประมาณส่วนอื่นในการรับมือกับคำถามเหล่านี้ ประชาชนก็ยิ่งมีสิทธิที่จะคิดไปในทางที่เลวร้ายที่สุด และทำให้ความศรัทธาความเชื่อมั่นในรัฐบาลและสถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะยิ่งเสื่อมสลาย
ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้ความไม่ชัดเจนดำรงอยู่ต่อไป จะดีกว่าหรือไม่ หากฝ่ายรัฐบาลจะทำให้ทุกข้อสงสัยได้ถูกคลี่คลายในสภา ท่ามกลางสายตาของประชาชนผู้เป็นพยาน ที่รับชมอยู่ทั่วประเทศ
ในขั้นพื้นฐาน รัฐบาลควรทำหน้าที่ชี้แจงเหมือนกับงบประมาณส่วนอื่น เช่น แสดงให้เห็นว่างบส่วนราชการในพระองค์มีความเหมาะสมอย่างไร ลงรายละเอียดในเชิงสถิติเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นชัด (เดิมทีเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาในการชี้แจงของหน่วยงานอื่นเช่นกัน เช่น งบประมาณของกองทัพ – จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมี “ผู้ตรวจการกองทัพ” เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณด้วย อ่านต่อได้ที่นี่ https://bit.ly/3z9RjIJ)
สำหรับงบสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลยิ่งมีความจำเป็นต้องชี้แจงเพิ่มเติม เพราะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องสวมสองบทบาทควบคู่กันในประเด็นนี้
หนึ่ง ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดทางการเมือง รัฐบาลมีหน้าที่ในการบริหารจัดการธุรการต่างๆให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้สถาบันต้องมาบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้เอง และ สามารถดำรงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐได้อย่างสมพระเกียรติ
สอง ในฐานะตัวแทนของประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่จัดงบประมาณ ดูแลด้านธุรการ และจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ-สังคมที่ประชาชนกำลังเผชิญ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
แต่อย่างที่เราเห็นตลอดมา รัฐบาลนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ทั้งสองข้อนี้ แต่กลับปล่อยให้ความรับผิดชอบนี้ตกไปเป็น “พระราชภาระ” ของสถาบัน ที่เข้ามาจัดการกำลังพล บุคลากร หรือโครงการต่างๆเอง และกลับบกพร่องอย่างรุนแรงในการทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชน ด้วยการจัดเป็นเงินอุดหนุนก้อนโต ไร้รายละเอียด และไร้ความรับผิดชอบที่จะอธิบายชี้แจงแทนสถาบันฯ ว่าการใช้งบนั้นคุ้มค่าเหมาะสมเพียงใดในภาวะวิกฤติของประเทศ
ในอีกทางหนึ่ง หากการจัดงบเช่นนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่รัฐบาลเป็นฝ่ายตอบสนอง ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้เองที่กำลังเสื่อมพระเกียรติของสถาบันในระยะยาว เพราะไม่กล้าที่จะถวายคำแนะนำ และยืนหยัดยึดมั่นในการจัดการเรื่องเหล่านี้ให้อยู่ในกรอบที่ไร้ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองผ่านการจัดงบประมาณ แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สภาพเช่นนี้ เกิดขึ้นในรัฐบาลที่อ้างความจงรักภักดีอยู่เป็นประจำ แต่กลับไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่อันสำคัญในการรักษาพระเกียรติยศของสถาบันฯ ที่ตัวเองเอ่ยอ้างว่าจะปกป้องด้วยชีวิต ทำให้ทุกคำถามและทุกคำวิจารณ์ของสาธารณชนพุ่งตรงไปที่สถาบัน ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอน และสุ่มเสี่ยงต่อการดำรงพระเกียรติในอนาคต
ผมจำเป็นต้องเรียกร้องไปยังประชาชนที่ประกาศตนว่าเป็น “ผู้จงรักภักดี” รวมถึงสื่อมวลชนหลักในประเทศไทย ให้ร่วมกันถามไปยังรัฐบาลและทุกพรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับการจัดงบประมาณเช่นนี้ ให้ออกมาชี้แจงเหตุผล เพราะความเชื่อถือศรัทธา จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความไว้วางใจเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดซึ่งความโปร่งใส ตรงไปตรงมา
เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพเชื่อถือศรัทธาของประชาชน อยู่คู่ประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลต้องทำให้เรื่องนี้อยู่ในที่สว่าง มิใช่ทิ้งไว้ในความมืดอึมครึม ผ่านมาแล้วผ่านไปเช่นหลายปีที่ผ่านมา
ในวันที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการประชาธิปไตยที่โปร่งใส การชี้แจงเหตุผลของงบประมาณส่วนนี้ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสถาบันฯ ให้อยู่คู่ประชาธิปไตย อย่าปล่อยให้ความไม่รับผิดชอบของระบอบประยุทธ์ทำให้ประชาชนหมดหนทางกับการพยายามทำให้สองสิ่งนี้อยู่เคียงข้างกันได้เลยครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |