เร่งเปิดพื้นที่พูดคุย  ก่อนสถานการณ์บานปลาย 


เพิ่มเพื่อน    

สถานการณ์การเคลื่อนไหว-ชุมนุมทางการเมือง ยังคงเกิดขึ้นรายวัน โดยพบว่าช่วงนี้ กลุ่มที่เคลื่อนไหวหลักมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มทะลุฟ้าและกลุ่มทะลุแก๊ส ที่จัดชุมนุมที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง และเกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจแทบทุกวัน 
    ความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมทัศนะ "นักวิชาการและหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์" ของรัฐสภา ที่ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาตั้งขึ้น "รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ" ที่ทำงานด้านวิชาการและเรื่องสันติวิธี-การสร้างความปรองดองสมานฉันท์มาหลายปี เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน - เป็นอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง, คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน เป็นต้น 
    โดยมุมมองของ "รศ.ดร.ภูมิ-กรรมการสมานฉันท์" ต่อสถานการณ์ม็อบในเวลานี้ เขาให้ความเห็นว่า ขณะนี้การทำงานของกรรมการสมานฉันท์อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำรายงาน ข้อเสนอแนะต่างๆ ออกมา อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พบว่าการชุมนุมทางการเมืองช่วงหลังเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ก่อนหน้านี้ กรรมการจึงมีการประชุมและทำข้อเรียกร้องในนามคณะกรรมการสมานฉันท์ออกมา 4 ข้อเมื่อ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา 
    "ดร.ภูมิ-กรรมการสมานฉันท์" อธิบายลงรายละเอียดข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ม็อบในเวลานี้ไว้ว่า ข้อแรกเรื่องขอให้ทุกฝ่ายเคารพในการแสดงออกตามวิถีประชาธิปไตยและเคารพในหลักกติกาสากล โดยผู้ชุมนุมสามารถแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะกรรมการประเมินว่าการจัดชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมามีแนวโน้มจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และเป็นไปอยางต่อเนื่อง กรรมการจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้แนวทางการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และเน้นการมีส่วนร่วม เราเรียกร้องว่าโดยหลักการตามรัฐธรรมนูญ เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมสามารถทำได้ แต่การแสดงออกดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักสากลด้วย ขณะเดียวกันฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็อาจอยู่ในสภาวะกดดันมีความเครียด เพราะมีการตอบโต้จากฝั่งผู้ชุมนุม ก็อาจมีปัจจัยเรื่องอารมณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เราจึงอยากเรียกร้องว่า ทุกฝ่ายต้องอดทนอดกลั้น อาจต้องรับฟังว่าประชาชนที่เขาเห็นต่าง เขามีประเด็นอะไรที่เราควรรับฟัง 
    "รัฐบาลควรสร้างโอกาสหรือสร้างการรับฟังจากผู้ชุมนุมให้มากยิ่งขึ้น การใช้วิธีการปราบปรามอาจไม่ใช่การแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่ก่อให้เกิดการปรองดองหรือสมานฉันท์ตามที่พยายามจะทำอยู่"
    ..ข้อเรียกร้องที่ 2 คือขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง เน้นการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา ลดการเผชิญหน้าและหลีกเลี่ยงการยั่วยุปลุกปั่นทุกรูปแบบที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง อันไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใด ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเพราะในแนวทางสันติวิธีเราสามารถพูดคุยกันได้ด้วยเหตุผล โดยเรื่องของการสื่อสาร เราอาจปรับโดยเน้นการให้เหตุผลและมีความเป็นวิชาการมากขึ้น ก็น่าจะทำให้มีช่องทางในการวางภาพอนาคตหรือร่วมพูดคุยกันได้ เพราะความรุนแรงไม่ตอบโจทย์ใดๆ ทั้งสิ้น และอาจนำไปสู่สถานการณ์บานปลายก็ได้ 
    ...ข้อเรียกร้องที่ 3 คือควรเร่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง โดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นกลาง และอิสระตามหลักวิชาการเพื่อหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยข้อเรียกร้องข้อดังกล่าว เป็นเพราะแต่ละฝ่ายมีข้อมูลคนละชุดกัน และมีมุมมองที่แตกต่างกัน เนื่องจากอยู่คนละสถานที่ ซึ่งไม่มีฝ่ายใดผิด เพียงแต่ข้อมูลจะไม่ตรงกัน โดยหากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยเป็นไปตามหลักการกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านหรือเชิงสันติวิธี โดยทุกฝ่ายเปิดใจต่อกัน ก็อาจจะทำให้ได้มุมมองของบางฝ่ายว่าก่อนหน้านี้เขาเจออะไร มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทำไมเขาถึงรู้สึกแบบนี้ และจะได้เป็นการตรวจทานว่าเหตุการณ์อะไรที่ข้อมูลตรงกันทั้งสองฝ่าย ก็อาจถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นข้อยุติ แต่ถ้าข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน เราก็ไม่จำเป็นต้องชี้ว่าใครถูกใครผิด แต่เราสามารถบันทึกไว้ได้เป็นความเข้าใจจากมุมมองของทั้งสองฝ่าย 
    ..ข้อเรียกร้องที่ 4 คือควรเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการหารือโดยองค์กรอิสระและความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาเพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกันด้วยแนวทางสันติวิธี ซึ่งก่อนหน้านี้กรรมการสมานฉันท์ พยายามจะเชิญฝ่ายต่างๆ มาพูดคุยที่รัฐสภา แต่บางฝ่ายก็ไม่อยากใช้พื้นที่ดังกล่าว เพราะเขาอาจรู้สึกว่ายังไม่เป็นกลางเพียงพอ หรือเกรงว่าอาจไม่มีโอกาสได้พูดเต็มที่อย่างที่ต้องการ เราก็มองว่าปัจจุบันองค์กรอิสระอย่าง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามาใหม่ และกรรมการหลายคน ก็มาจากภาคประชาสังคมมาก่อน หรืออาจจะมีสถาบันการศึกษา ที่คิดว่ามีความพร้อมจะเข้ามาตรงนี้ ก็น่าจะเกิดความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายตรงนี้ได้ รวมถึงสถาบันอื่นๆ เช่นสถาบันพระปกเกล้า ก็น่าจะมาหาทางออกร่วมกันตามแนวทางสันติวิธี เพื่อหารือกันว่าจะสร้างกระบวนการพูดคุยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้อย่างไร ภายใต้โจทย์สำคัญคือความเป็นประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม
    "สันติวิธีไม่ได้หมายถึงการยอมแพ้หรือการยอมให้ถูกกระทำ แต่จริงๆ แล้วคือการตอบโต้ความรุนแรงโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้สังคมจะได้มีสติ และได้พิจารณาว่า พฤติกรรมที่มันไม่ถูกต้องมันจะนำไปสู่ผลเสียอย่างไร 
    ในแง่กระบวนการ ถ้าเป็นไปได้ การเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้บางฝ่ายที่เป็นผู้ชุมนุมแล้วไม่เห็นด้วยกับการกระทำบางอย่างในกลุ่มผู้ชุมนุมเอง ได้มีพื้นที่พูดคุย ได้มีพื้นที่แสดงออก เช่น การจัดพื้นที่เหมาะสมให้เขาชุมนุมได้ จะเป็นพื้นที่สาธารณะ อย่างน้อยก็ทำให้ลดความรุนแรงของบางกลุ่มที่อาจกระทำอยู่ในตอนนี้ได้ และจะกลายเป็นพื้นที่ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้ด้วย แต่ถ้าเราไม่ได้เปิดพื้นที่ตรงนี้ แล้วแนวโน้มจะใช้ถนนเป็นพื้นที่ชุมนุมต่อไปโดยเจ้าหน้าที่มีการสกัดกั้นหรือดำเนินคดี ก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่บานปลายมากยิ่งขึ้น"
    "ดร.ภูมิ-กรรมการสมานฉันท์" ย้ำว่า หลังจากนี้กรรมการจะมีการขับเคลื่อนเพื่อให้ 4 ข้อเสนอแนะดังกล่าวสามารถทำออกมาได้ เช่นการคุยกับกรรมการสิทธิฯ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้ กรรมการสมานฉันท์มีตัวแทนจากอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา ก็มีความเป็นไปได้ว่าหลังโควิดคลี่คลาย อาจมีการขอให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชน นักศึกษา มาร่วมระดมความคิดเห็น ให้ได้แสดงออกตามแนวทางสันติในเชิงวิชาการต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"