โหวตบัตร2ใบผิดกม. ‘ภท.’ทิ้งทุ่น!ขู่หากลงมติเห็นชอบโดนดำเนินคดี-ถอดถอน


เพิ่มเพื่อน    

“พปชร.-ปชป.” มั่นใจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไร้ปัญหา “ไพบูลย์” ยืดอกขอดันญัตติพรรคก้าวไกลถกก่อน เพื่อให้รัฐสภาโหวตชี้ขาดไปเลย “ภูมิใจไทย” ส่อเค้าทิ้งทุ่น เตรียมแถลงท่าที 24 ส.ค.บอกชัดขัดกฎหมายหลายข้อ “เพื่อไทย” ประกาศหนุนวาระ 2-3 เต็มสูบ แค่ พท.ยกมือให้ก็ไม่ต้องพึ่งฝ่ายค้านอื่นๆ แต่ยังผวาวาระสามอาจหัวทิ่ม เพราะโหวตหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ “วันชัย” สำทับวาระ 2 ผ่านแน่ แต่วาระ 3 ยังต้องลุ้น 
    เมื่อวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม ยังคงมีความต่อเนื่องถึงการประชุมรัฐสภาในวันที่ 24-25 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค. จะพิจารณากฎหมายยาเสพติด ก่อนจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งหากไม่แล้วเสร็จวันที่ 24  ส.ค. ก็จะพิจารณาต่อวันที่ 25 ส.ค. หากไม่แล้วเสร็จอีก ก็พิจารณาต่อในวันที่ 26 ส.ค. และกำหนดลงมติวาระ 3 ไว้วันที่ 10 ก.ย.
       เมื่อถามถึงความกังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกินจากมาตราที่รับหลักการไว้อาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายวิรัชกล่าวว่า หากจะมีการยื่นศาสก็ทำได้เมื่อโหวตวาระ 3 แล้ว เราไม่ได้ขัดข้องอะไร เพราะเป็นเรื่องต่างคนต่างทำหน้าที่ ส่วนที่ ส.ว.บางคนไม่ค่อยพอใจและอาจไม่รับร่างนั้น ก็มี ส.ว.บางคนเท่านั้น แต่ได้มีโอกาสพูดคุยภาพรวมกับ ส.ว.แล้ว หลายคนก็ร่วมพิจารณาในกรรมาธิการ  ซึ่งอาจเลยไปนิดหน่อย แต่การพิจารณายังอยู่ในกฎระเบียบและข้อบังคับ ซึ่ง กมธ.ดูแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไร การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้น่าจะทันใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า
    ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธาน กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... รัฐสภา กล่าวว่า พรรคร่วมจะสนับสนุนให้เลื่อนญัตติด่วน ที่เสนอโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และคณะเสนอ ให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ให้พิจารณาก่อนเข้าสู่เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด โดยญัตติที่จะพิจารณามี 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ว่าข้อบังคับข้อ 124 ตราขึ้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าไม่มีส่วนใดที่ขัดหรือตราไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับที่ 124 นั้นเขียนในลักษณะดังกล่าวเพื่อบังคับใช้มานานแล้ว และประเด็นการตีความกรอบการใช้ข้อบังคับข้อ 124 มีความชัดเจนคือ 1.เพิ่มมาตราได้และไม่ขัดหลักการ และ 2.มาตราที่เพิ่มอาจเกินจากหลักการได้ แต่ต้องเกี่ยวเนื่องและสอดรับกัน ซึ่งญัตติดังกล่าวต้องใช้การลงมติของรัฐสภาตัดสินโดยเสียงข้างมาก ซึ่งการลงมตินั้นเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนจะพิจารณา
    “กรณีที่ตั้งข้อสังเกตที่ กมธ.เพิ่มบทเฉพาะกาล 2 มาตราขึ้นใหม่ ว่าด้วยเงื่อนเวลาให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และเพิ่มบทบัญญัติกรณีที่รัฐสภาตามกฎหมายลูกดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน หากการแก้ไขระบบเลือกตั้งไม่มีบทเฉพาะกาลดังกล่าวไว้ หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นก่อนที่กฎหมายลูกบังคับใช้อาจเป็นปัญหาได้”นายไพบูลย์ย้ำ 
    นายไพบูลย์กล่าวว่า การเขียนบทเฉพาะกาล 2 มาตรา ในสมัยปี 2554 ที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนบทเฉพาะกาลในเนื้อความที่คล้ายกันไว้ หรือการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ในกฎหมายก่อนหน้านี้ในการตรากฎหมายสำคัญ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นต้น 
    “ผมเชื่อว่าประเด็นที่ผู้เห็นต่างยกเป็นประเด็นจะไม่ทำให้เป็นปัญหาตอนลงมติ   ในวาระสองนั้นใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม ส่วนวาระสามต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ร่วมลงมติด้วยนั้นเชื่อว่าไม่เป็นปัญหาเช่นกัน เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ส.ว. อีกทั้ง ส.ว.ต้องการแสดงตนเช่นกันว่าไม่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา” นายไพบูลย์กล่าว
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการยื่นญัตติของพรรคก้าวไกลที่ให้มีการตีความข้อบังคับการประชุมข้อที่ 124 ว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ตามข้อบังคับ แต่ประเด็นนี้มีแนวทางของกฤษฎีกาและฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานนิติบัญญัติ รวมถึง กมธ.ที่ยกร่างข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาได้ให้ความเห็นไว้ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ว่าดำเนินการได้
ภูมิใจไทยส่อเค้าทิ้งทุ่น
    "รายละเอียดของการแก้ไขนั้นเชื่อว่าตรงตามความต้องการของประชาชนที่ได้กำหนดให้มีกระบวนการเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ ไม่อยากให้มองว่าพรรคใดได้เปรียบเสียเปรียบ หากเป็นสิ่งที่ดีตรงตามความต้องการของประชาชนย่อมเป็นจุดตั้งต้นที่ดี ส่วนวิธีการในการคำนวณคะแนน ก็จะมีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งต่อไป" นายราเมศกล่าว และว่า ในวาระสามเชื่อว่าเมื่อ ส.ว.ได้ฟังเหตุและผลคำอธิบายของ กมธ.แล้ว จะเห็นด้วยกับร่าง ส่วนที่มีบางพรรคจะใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้  ไม่กังวล หากผลเป็นเช่นไรก็ต้องเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
    แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แจ้งว่า ภท.มีความห่วงกังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ.จะเป็นการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาอย่างมากมาย ถึงขนาดทำผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ หรือประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้นหากลงมติเห็นชอบไป สมาชิกเองก็สุ่มเสี่ยงจะกระทำผิดกฎหมายถูกดำเนินคดี ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ หากมีผู้ยื่นเรื่อง และเท่าที่ทราบว่าจะมีการยื่นถอดถอนหรือดำเนินคดีอย่างแน่นอน พรรค ภท.จึงจะแถลงท่าทีของพรรคในเรื่องดังกล่าววันที่ 24 ส.ค. เวลา 10.30 น.
    ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า คาดว่าเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภาคงเห็นไปในทางว่า กมธ.สามารถทำได้ เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก แต่จะทำได้มากหรือน้อย กมธ.ทำได้เท่าที่จำเป็นแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดูแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะฝ่าด่านนี้ได้ และจากภาพรวมประเมินแล้ววาระสองก็น่าจะผ่านได้ เพราะเท่าที่เสียงของ กมธ.ที่มีจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เสียงส่วนใหญ่ชัดเจนมาในแนวทางนี้ แต่ที่น่าห่วงก็คือตอนโหวตวาระสาม ที่ถึงตอนนั้นจะมีปัจจัยการเมือง ปัจจัยเรื่องสถานการณ์ตอนนั้นเข้ามามีส่วนเยอะ ทำให้สมาชิกรัฐสภาที่จะลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไข จะไม่ได้ดูแค่เฉพาะตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แต่จะคิดเรื่องสถานการณ์
     “ที่ยังอ่านใจกันไม่ออกคือตอนโหวตวาระสาม เพราะตอนโหวตวาระสามจะเกิดขึ้นหลังจบศึกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระสามหรือไม่ ผมดูแล้วยังไม่ชัวร์ มันพูดยาก ไม่เหมือนวาระสอง โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ก็ยังไม่มั่นใจว่าเสียง ส.ว.จะลงมติเห็นชอบด้วยจะถึง 84 เสียงหรือไม่ เรื่องนี้สุดท้ายก็ยังอยู่ที่ ส.ว.จะเป็นคนชี้ขาดอยู่ดี ทำให้ในความเห็นของผม ถึงตอนนี้เรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบ ผมก็ยังเห็นว่ายัง 50-50 อยู่ เพราะเกรงถึงตอนนั้นคนที่จะโหวตจะไปมองประเด็นเรื่องบริบทเชิงการเมืองมากกว่า" ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว และว่า ส่วนเรื่องการโหวตวาระสามที่ต้องมี ส.ส.ฝ่ายค้านลงมติด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 นั้น ก็ไม่มีปัญหาเพราะพรรคเพื่อไทยมี ส.ส.ร่วม 136 คน สนับสนุนการแก้ไข รธน.ครั้งนี้ จึงทำให้เพียงแค่เพื่อไทยพรรคเดียวก็เกินจำนวนเสียงฝ่ายค้านร้อยละ 20 แล้ว
เชื่อวาระสองผ่านฉลุย
    ส่วนนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงญัตติด่วนของพรรค ก.ก.ว่า ตอนนี้มีความเห็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวเนื่องหลักการได้ แต่อีกฝ่ายเห็นว่าแก้ได้เฉพาะ มาตรา 81 และมาตรา 91 เท่านั้น ซึ่งแต่ละคนมีความคิดและเหตุผลที่ต้องการเห็นบ้านเมืองที่ดี 
    นายดิเรกฤทธิ์ยังปฏิเสธถึงกระแสวิจารณ์ว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ส.ว.ต้องรอสัญญาณจากนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการกล่าวหาเป็นเรื่องไม่มีเหตุผล โดยขอให้สอบถาม ส.ว.เป็นรายบุคคลถามเหตุผลการโหวตได้ เชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก 
    นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า ในทางกฎหมายสามารถทำได้ และไม่น่ากังวลใดๆ เพราะเป็นการปรับแก้ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่เชื่อว่าหลังที่ประชุมลงมติวาระ 3 จะมีผู้ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน 100% เพราะการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง เป็นผลประโยชน์พรรคการเมือง และมีผู้เสียประโยชน์ของแต่ละพรรค เพื่อให้ศาลวินิจฉัย แต่มั่นใจว่าคำวินิจฉัยของศาลจะเป็นที่สุด 
    นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบในวาระสอง ว่า ส.ว.ได้พูดคุยกัน ซึ่งบางกลุ่มเห็นว่าทำได้ แต่ที่ทำมาเกินกว่าหลักการไปมาก เพราะในข้อเท็จจริง ร่างรัฐธรรมนูญที่พรรค ปชป.เสนอแก้ไขเพียง 2 มาตรา แต่เมื่อ กมธ.แก้ไขจริง มีการแก้ไขในมาตราอื่นๆ ด้วย บางฝ่ายจึงมองว่าเป็นการแก้ไขเกินกว่าหลักการข้อเสนอเกินไป เท่าที่ดูบรรยากาศ ส.ว.ส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นอิสระ ยังไม่มีลักษณะการชี้นำการลงมติ ประกอบกับยังอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ที่ใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาในการลงมติ ซึ่งแม้ว่า ส.ว.ออกเสียงอย่างไรก็แล้วแต่ ก็เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ จะชนะโหวตได้ แต่ตัวชี้ขาดจริงๆ คือการพิจารณาวาระที่ 3 ที่ใช้เสียง ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง เมื่อถึงตอนนั้น ส.ว.อาจมากำหนด หรืออาจมาสรุปหลังการอภิปรายในวาระที่ 2 อีกครั้งว่า ส.ว.จะมีแนวทางอย่างไร
    “ความเห็นของ ส.ส.ในสภายังแตกหลายฝ่าย เพราะเท่าที่สังเกตพรรคภูมิใจไทยก็ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขครั้งนี้ หรือแม้แต่ ส.ว.บางกลุ่มก็ไม่เอาด้วย เพราะเป็นการแก้ไขกฎหมายที่เกินเลยเกินไป และอาจเป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขกฎหมายสำคัญอื่นๆ ที่อาจเลื้อยเกินหลักการไปได้ แต่มั่นใจว่าการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในวาระที่ 2 จะผ่านไปด้วย แม้ ส.ว.จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งอาจมี ส.ว.ส่วนหนึ่งงดออกเสียงทั้งวาระที่ 2 และวาระที่ 3” นายวันชัยกล่าว
    ด้านพรรคไทยสร้างไทย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กําลังดําเนินการอยู่ ไม่ได้มุ่งหวังให้มีฉบับประชาชนขึ้น แต่มุ่งเพียงแก้วิธีการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นสองใบ เป็นความเห็นแก่ตัว ไม่เห็นหัวประชาชน และมุ่งร่วมกันสืบทอดอํานาจต่อไป จึงขอให้นายกฯ ไม่ควรบริหารประเทศอีกต่อไป และต้องมีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างและเห็นชอบโดยประชาชนโดยเร็วที่สุด
    นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาในเวลานี้ เป็นเกมการเมืองที่ 3 พรรคการเมืองใหญ่ได้ประโยชน์ เพื่อทำลายพรรคเล็กที่เข้ามาชิงพื้นที่ทางการเมือง และเป็นปัญหาในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ จึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่ 2 เรื่องนี้เพราะไม่ใช่ผลประโยชน์ประชาชน จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"