ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยจริง วัคซีนสัญชาติไทยก็ไม่เกิด


เพิ่มเพื่อน    

ผมได้รับทราบว่าโครงการผลิตวัคซีนสัญชาติไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชื่อ ChulaCov19 กำลังระดมทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่คนไทยทั้งประเทศตั้งความหวังไว้
    แต่ก็เกิดคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ทุ่มทุนเพื่อให้ความฝันของคนไทยในเรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นจริง
    โดยไม่ต้องให้ทีมงานต้องทุ่มเทสุดตัวเพียงฝ่ายเดียว เพื่อที่จะสามารถผลิตวัคซีนของคนไทยให้ใช้ได้ทันกลางปีหน้าอย่างที่เรารับทราบมา
    เมื่อสัปดาห์ก่อน นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเยี่ยมโครงการนี้กับโคงการ “ใบยา” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กำลังพัฒนาวัคซีนของไทยเหมือนกัน
    ฟังดูเหมือนนายกฯ ประกาศสนับสนุนให้เกิดวัคซีนสัญชาติไทยอย่างเต็มที่
    แต่พอถามไถ่ถึงรายละเอียดว่าสิ่งดีๆ อย่างนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ ก็ได้รับคำตอบว่ายังมีอุปสรรคอีกหลายเรื่องที่ยังเป็นคำถามอยู่
    นั่นแปลว่า แม้ความสามารถของนายแพทย์และนักวิจัยคนไทยจะไม่แพ้ใคร แต่จะพ่ายคนอื่นก็ตรงที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเอง เพราะรัฐบาลไม่กระโดดลงมาช่วยอย่างจริงจัง
    เช่นเรื่องงบประมาณและระบบราชการที่ยังเป็นปัญหา ที่อาจจะทำให้เรื่องดีๆ ในจังหวะสำคัญๆ อย่างนี้เกิดไม่ได้
    ผมได้รับทราบมาว่าเพื่อให้วัคซีน ChulaCov19 mRNA สามารถใช้กับประชาชนได้จริงภายในก่อนสงกรานต์ปีหน้าจะต้องระดมทุนจำนวนหนึ่ง
    และเมื่อรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่จะลงทุนเต็มที่ ทีมงานวิจัยของจุฬาฯ เองก็ต้องระดมเงินบริจาคจากประชาชนเอง
    ทั้งๆ ที่ถึงวันนี้เรายังต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศทั้งหมด และต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านเพื่ออ้อนวอนขอร้องซื้อวัคซีน mRNA จากต่างประเทศ
    ผมทราบมาว่า ทีมวิจัยนี้กำลังพยายามระดมทุนเพื่อทำให้งานวิจัยนี้สามารถสร้างประโยชน์ให้คนไทยได้จริงในกลางปีหน้า
    งบประมาณที่ต้องใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นอยู่ที่ประมาณ 3,000  ล้านบาท
    และยังขึ้นอยู่กับกติกาการขึ้นทะเบียนที่ต้องเร่งดำเนินการ
    หากจะให้ทันตารางเวลาที่เร่งด่วน (เพราะไทยเรายังขาดวัคซีนจำนวนมาก) องค์การอาหารและยา (อย.) จะต้องออกกฎกติกาให้ชัดเจนภายในไม่ช้ากว่าเดือนกันยายนนี้ นั่นคือเดือนหน้านี้
    ส่วนเงินที่ต้องใช้นั้นมีลำดับดังนี้
    หาก อย.กำหนดให้ต้องทำการทดสอบในอาสาสมัครระยะที่สาม  (Phase 3) ด้วยจำนวนอาสาสมัคร 15,000-20,000 คน ต้องใช้งบประมาณ 1,500 ถึง 2,000 ล้านบาท
    ถ้าหาก อย.กำหนดให้ทำการทดสอบระยะสองบี (Phase 2b) จะมีอาสาสมัคร 5,000 คน งบประมาณที่ต้องใช้ก็ตกประมาณ 600 ล้านบาท
    นอกจากนี้ งบประมาณสำหรับจองซื้อสารเคมีและวัตถุดิบเบื้องต้นจะอยู่ที่ราวๆ 960 ล้านบาท
    ถ้าประเทศไทยต้องการให้มีอย่างน้อย 1 ใน 4 วัคซีนได้รับการรับรอง EUA (Emergency Use Authorization) ภายในเดือนเมษายนปีหน้า ก็ต้องมีเงื่อนไขดังนี้
    1.การระดมทุน ต้องมีเป้าหมายร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยต้องมีงบที่เพียงพอรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
    2.อย.ต้องออกกติกาในการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้ชัดเจนภายในเดือนหน้า โดยระบุให้ชัดว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องวิจัยระยะสองบีและ/หรือระยะสามอย่างไรจึงจะเพียงพอ
    3.จะต้องหาโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพและจำนวนมากได้
    4.ต้องมีความชัดเจนในนโยบายการจองและจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้า 
    แม้ว่านายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะหาทางสนับสนุนเรื่องงบประมาณ  แต่เป็นที่รู้กันว่ากระบวนการตัดสินใจกับกระบวนการขับเคลื่อน ตลอดจนกระบวนการพิจารณาก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง
    และแม้ว่าจะอนุมัติงบประมาณแล้ว ก็ยังหวังไม่ได้ว่าจะได้เงินเท่าใดและจะทันกับการเร่งรัดของงานหรือไม่
    ประสบการณ์ของทีมวิจัยนี้กับเงินสนับสนุนก้อนแรก 356 ล้านบาท ซึ่งอนุมัติมาเมื่อเดือนสิงหาคม ก็เพิ่งได้เงินลูกงวดแรกแค่ 40% เท่านั้น
    ส่วนอีก 60% ยังมีขั้นตอนสลับซับซ้อนมากมาย
    แม้จะลงนามเซ็นสัญญากันแล้ว เงินก็ยังเบิกไม่ได้เพราะมีรายละเอียดตามระเบียบราชการเยอะแยะมากมาย
    ทีมวิจัยหวังว่า การระดมทุนจากประชาชนอาจจะช่วยเร่งรัดให้งานเดินไปข้างหน้าได้ตามกำหนด
    “ระหว่างรอเงินจากรัฐบาล เราก็หันมาพึ่งประชาชนครับ ถ้ามีคนชั้นกลางประมาณ 100,000 คน บริจาคคนละเฉลี่ยประมาณ 10,000 บาท  เราก็น่าจะได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท...สำหรับเดินหน้าเพื่อไม่ให้งานวิจัยที่กำลังไปได้ดีต้องชะงัก” หนึ่งในทีมวิจัยบอกผม
    เพราะอีกประเทศหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของการที่รัฐบาลเอาจริงกับการวิจัยวัคซีนคือเกาหลีใต้
    รัฐบาลเกาหลีใต้เพิ่งประกาศเป็นนโยบายแห่งชาติเตรียมทุ่มกว่า 2  พันล้านเหรียญ (กว่า 66,000 ล้านบาท) เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนสู้โควิด
    โดยยกระดับให้โครงการผลิตวัคซีนของตัวเองเท่ากับการลงทุนใน  Deep Tech อื่นๆ เช่น semiconductor 
    ด้วยการเร่งรัดให้เกิดการพึ่งตนเอง และร่วมประสานกับอังกฤษ  เยอรมนี และสหรัฐฯ
    รัฐบาลเกาหลีใต้บอกว่า ตอนนี้การฉีดวัคซีนให้ประชาชนยังล่าช้า  ประชาชนที่ได้วัคซีนเข็มแรกยังไม่ถึงครึ่งประเทศ 
    รัฐบาลของเขาออกมาขอโทษประชาชน เหตุที่ล่าช้าเพราะต้องพึ่งคนอื่น และวัคซีนที่สั่งไปก็ไม่มีของส่งมา ไม่ว่าจะเป็น AstraZeneca,  Moderna, Pfizer หรือ Johnson&Johnson
    เกาหลีใต้จึงตัดสินใจเดินหน้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนของตน เริ่มด้วยการที่รัฐบาลทุ่มกว่า 66,000 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะมีวัคซีนของตัวเองใช้ในครึ่งปีแรกของปีหน้า
    และยังตั้งเป้าว่า การพัฒนาวัคซีนของเขาจะต้องทันกับสหรัฐฯ, จีน,  ยุโรป และอินเดียใน 5 ปีข้างหน้า   
    อีกทั้งประกาศสนับสนุน 7 บริษัทในประเทศให้พัฒนาวัคซีน  mRNA และ Protein-based vaccine ด้วย
    ถ้าไทยเรายังเดินช้าและไม่มีความแน่นอน...เราอาจจะตกรถไฟขบวนใหญ่อีกครั้งหนึ่งก็ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"