'อดีตรองอธิการมธ.'ยกพรบ.ชุมนุมฯ สอนกม.'อาจารย์3นิ้ว'


เพิ่มเพื่อน    

23 ส.ค. 64 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คุณพ่อผมจบกฎหมายจากโรงเรียนกฎหมายที่มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ตั้งแต่ยังไม่มีคณะนิติศาสตร์ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสมัยนั้นเรียนจบก็เป็นเนติบัณทิตไทยโดยไม่ต้องไปสอบอีก คุณพ่อเป็นนักกฎหมายที่เก่งมาก แต่ไม่ได้เลือกเส้นทางด้านกระบวนการยุติธรรม เลือกไปรับราชการที่กรมสรรพากร คุณพ่ออยากให้ผมเรียนกฎหมาย บอกว่าผมน่าจะเรียนกฎหมายได้ดี และพี่ๆ ไม่มีใครเรียนกฎหมายเลยสักคน คุณพ่อเสียชีวิตก่อนที่ผมจะเข้ามหาวิทยาลัย คงเป็นเพราะไม่มีใครมากระตุ้นเตือน ผมจึงไปเลือกเรียนบริหารธุรกิจ 

มาวันนี้ นึกเสียดายที่ไม่ได้เรียนนิติศาสตร์ เพราะได้อ่านได้ฟังความเห็นอาจารย์สอนกฎหมายบางคนแล้วอดที่จะเห็นแย้งไม่ได้ แต่ก็แย้งไม่ค่อยถนัดเพราะเราไม่ใช่นักกฎหมาย ตั้งแต่ความเห็นที่ว่า การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิของผู้ต้องหา ศาลจะต้องอนุญาต เพราะต้องถือว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ากระทำผิดจริง บรรดาแกนนำม็อบ 3 นิ้วที่ถูกดำเนินคดี และผู้สนับสนุนล้วนท่องคาถาบทนี้ตั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนอนุญาตโดยมีเงื่อนไข จนถูกถอนประกัน ก็ยังท่องคาถาบทนี้อยู่เช่นเดิม 

มาช่วงมีการสลายการชุมนุมหรือสลายม็อบ ซึ่งระยะนี้มีทุกวัน อาจารย์สอนกฎหมายก็ย้ำว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนจะเข้าสลายการชุมนุมได้ ตามพ.ร.บ.การชุมนุม 2558 จะต้องไปขออนุญาตศาลก่อน 

เมื่ออาจารย์สอนกฎหมายอ้างข้อกฎหมายเช่นนี้ เราก็ต้องเชื่อไว้ก่อน แต่โดยสามัญสำนึกก็อดมีข้อกังขากับข้อกฎหมายไม่ได้ เพราะหากจะต้องขออนุญาตศาลทุกครั้งที่จะสลายการชุมนุม ถ้าเป็นการชุมนุมที่สงบ ไม่มีอาวุธ คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ใช่เช่นนั้น กว่าตำรวจจะไปขออนุญาตศาลกลับมา ก็คงป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายไม่ทัน ยิ่งช่วงนี้มีการชุมนุมป่วนเมืองด้วยความรุนแรงทุกวัน ตำรวจก็สลายการชุมนุมทุกวัน ไม่เห็นมีข่าวว่ามีการไปขออนุญาตศาลแต่อย่างใด หรือว่าตำรวจกระทำความผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุม ทุกวัน

อดไม่ได้จึงต้องไปเปิดดู พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ซึ่งได้คัดลอกบางตอนมาให้ดูกันดังนี้

"มาตรา 21 ในกรณีมีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 14 หรือกรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 มาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 14 หรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้งตามมาตรา 18 ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด

(2) กรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 มาตรา 15 มาตรา 16 หรือมาตรา 17 ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด

หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ในระหว่างรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะ

แผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามวรรคสอง ต้องกำหนดให้เจ้าพนักงานหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กำลังได้ ให้ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จำเป็น 

การดำเนินการของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการชุมนุมสาธารณะนั้นที่จะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม

มาตรา 25  ในกรณีที่ผู้ชุมนุมกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์มีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 23 และมาตรา 24

ในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อพิจารณาภายในเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค คำสั่งศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคให้เป็นที่สุด"

เมื่ออ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วก็พบว่า มาตรา 21 กำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมต้องไปร้องศาลจริง เพื่อมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม แต่ระหว่างรอคำสั่งศาล เจ้าพนักงานยังมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแนวทางการดูแลการชุมนุมตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชน และคุ้มครองการชุมนุม ซึ่งแนวทางดังกล่าวต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้กำลังและเครื่องมือการควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จำเป็น

รายละเอียดข้างต้นนี้ อาจารย์สอนกฎหมายไม่ได้กล่าวถึง และที่ไม่ได้กล่าวถึงเลยแม้แต่น้อยคือยังมีมาตรา 25 ซึ่งสรุปได้ว่า (รายละเอียดอ่านได้จากด้านบน) ในกรณีที่ผู้ชุมนุมกระทำการรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 23 และมาตรา 24 ซึ่งหมายถึงมีอำนาจการดำเนินการให้ยุติการชุมนุมได้โดยไม่ต้องร้องต่อศาล ทั้งนี้ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 23 และมาตรา 24 ด้วย (สามารถอ่านพ.ร.บ. การชุมนุมทั้งหมดได้ตาม link ด้านล่าง)

นี่คือข้อสรุปของคนที่ไม่ได้เรียนนิติศาสตร์อย่างผม จะถูกต้องหรือไม่ อยากให้นักกฎหมายทั้งหลายที่ได้อ่านข้อเขียนชิ้นนี้ช่วยกันให้ความเห็นด้วยครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"