‘โพล’เผยปชช. ใช้จ่ายยุคโควิด ทนได้แค่3เดือน


เพิ่มเพื่อน    

“ธนกร” แจงความคืบหน้ามาตรการเยียวยาของรัฐ โวสิ้นเดือนนี้นักเรียน-ผู้ปกครองเตรียมเป๋าตุง “อนุสรณ์” สะกิดรัฐเตรียมหาเงินอีก 3 แสนล้านช่วยเหลือหากยังล็อกดาวน์ยาว “โพล” ชี้ชัดภาระช่วงโควิด-19 หนักหนา ต้องหารายได้เสริม ควักเงินออมมาใช้ ประชาชนส่วนใหญ่ประเมินประคองตัวได้แค่ 3 เดือน
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ส.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  (ศบศ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังได้ดำเนินการ 2 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท ซึ่งมีสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้ว 92,316 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือ 30,194 ราย โดยมีวงเงินอนุมัติเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1 ล้านบาทต่อราย และ 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง  หรือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 10,510.61 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือ  65 ราย 
     นายธนกรกล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าแนวทางการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ในมาตรการลดภาระทางการศึกษาของรัฐบาล  โดยเฉพาะเงินเยียวยานักเรียนนั้น รัฐบาลจะจ่ายให้นักเรียนทุกคน ทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน ระดับอนุบาล-ม.ปลาย และ ปวช./ปวส. ทั่วประเทศ คนละ 2,000 บาท โดยหลังจากกระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณแล้วจะโอนเงินให้ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (โรงเรียนเอกชน/กศน.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เขตพื้นที่การศึกษาของรัฐ) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (วิทยาลัย อาชีวศึกษา/เทคนิค) ภายใน 5-7 วัน  ซึ่งผู้ปกครองสามารถตรวจสอบสิทธิ์กับสถานศึกษาถึงวิธีการรับเงิน ทั้งผ่านเลขบัญชีธนาคาร พร้อมเพย์ หรือรับเงินสด โดยคาดว่าจะได้รับเงินภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้  
“กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนนักศึกษาขณะนี้มีอยู่กว่า 11 ล้านคน แบ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัด ศธ. 9.8 ล้านคน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.อีก 1.2 ล้านคน งบประมาณดำเนินการรวม  22,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นผู้ปกครอง นักเรียนและนักศึกษา สามารถตรวจสอบสิทธิ์กับสถานศึกษา หรือโรงเรียนของรัฐตรวจสอบสิทธิ์และข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  (สพฐ.) และในส่วนของโรงเรียนเอกชนตรวจสอบสิทธิ์และข้อมูลได้ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)”
ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุว่า รัฐบาลควรเดินหน้าคลายล็อกดาวน์ในทุกพื้นที่  ในบางกิจกรรมหากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่ำกว่าผู้ได้รับการรักษาหายป่วยมากพอ และสามารถทำให้ผู้ป่วยที่ต้องรักษาในระบบสาธารณสุขลดลงมาเหลือต่ำกว่า 100,000 ราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 200,339  ราย  แต่หากจำเป็นต้องขยายล็อกดาวน์เพราะตัวเลขติดเชื้อไม่ลดลงเลย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยต้องล็อกดาวน์ไปอีกอย่างน้อยจนถึงปลายปี ในขณะที่รอฉีดวัคซีนกันอยู่ รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณจ่ายเยียวยาให้ภาคธุรกิจและประชาชนเพิ่มเติมหากต้องขยายล็อกดาวน์ และควรประกาศล่วงหน้าและเยียวยาทันทีก่อนสั่งปิดพื้นที่หรือกิจกรรม เพื่อไม่ให้ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจรุนแรงไปกว่าระดับวิกฤติในขณะนี้ โดยควรเตรียมเงินงบประมาณไม่ต่ำกว่าอีก 300,000 ล้านบาทหากต้องล็อกดาวน์ถึงปลายปี 
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,274 คน ซึ่งเป็นการสำรวจทางออนไลน์ถึงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการใช้จ่ายในยุคโควิด-19 โดยเมื่อถามถึงการใช้จ่ายของประชาชน ณ วันนี้ เปรียบเทียบกับก่อนมีโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พบว่า 40.22%  ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 33.60% ใช้จ่ายลดลง และ 26.18% ใช้จ่ายเท่าเดิม  เมื่อถามว่าปัจจุบัน ประชาชนนำเงินจากช่องทางใดมาใช้จ่าย  83.57% รายได้จากการทำงานหลักและงานเสริม 46.78% นำเงินออมออกมาใช้ 44.34% มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง เงินเยียวยา 26.26% รูดบัตรเครดิต กดบัตรเงินสด รถแลกเงิน บ้านแลกเงิน และ 25.31% หยิบยืมญาติ คนรู้จัก พี่น้อง เมื่อถามเจาะลงถึงประชาชนที่มีเงินออม ในช่วงนี้มีการนำเงินออมมาใช้มากน้อยเพียงใด 42.63% ใช้ไปบ้างบางส่วน 19.36% ใช้ไปเกือบหมดแล้ว 15.15% ใช้ไปกว่าครึ่ง 12.64% ใช้ไปหมดแล้ว และ  10.22% ไม่ได้นำเงินออมมาใช้    
โพลยังถามถึงรูปแบบการใช้จ่ายของประชาชนเป็นอย่างไรในช่วงนี้  พบว่า 80.44% ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย วางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม 57.49% ซื้อสินค้าทีละจำนวนมาก กักตุนสินค้าจำเป็น  56.47% ซื้อสินค้าที่ราคาประหยัดกว่า ซื้อช่วงจัดโปรโมชัน  53.71% สั่งซื้อของผ่านทางออนไลน์ และ 53.08% ซื้อสินค้าจากร้านที่เข้าร่วมมาตรการรัฐ เช่น คนละครึ่ง เราชนะ และเมื่อถามว่าประชาชนอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการใช้จ่ายของประชาชน ณ วันนี้อย่างไร พบว่า 86.41% ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำมัน 76.86% ลดภาระค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้า 71.64% มีมาตรการเยียวยาประชาชนแบบทั่วถึงทุกคน 61.85% พักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และ 51.82% จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดในพื้นที่ต่างๆ    
    “เมื่อถามถึงในยุคโควิด-19 จากสภาพการใช้จ่าย ณ วันนี้  ประชาชนคาดว่าจะประคองตัวเองต่อไปได้อีกประมาณเท่าใด พบว่า 37.37% ไม่เกิน 3 เดือน 30.32% อยู่ได้ 3-6 เดือน  19.68% อยู่ได้ 6 เดือน – 1 ปี และ 12.63% อยู่ได้ 1-2 ปี”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"