เตือนอย่าด้อยค่าวัคซีน ย้ำไฟเขียวเอกชนนำเข้า


เพิ่มเพื่อน    

"อนุทิน" แจงถ้าไม่มี "ซิโนแวค" อาจมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น วอนอย่าด้อยค่ายี่ห้อใด ปลัด สธ.ย้ำไม่ขวางเอกชนนำเข้าวัคซีน "พรรคกล้า" จี้รัฐเร่งซื้อชุดตรวจโควิดเบื้องต้น แนะทดลองใช้จริงเปรียบเทียบกันหน้างาน "แพทย์ชนบทย้ำ" ATK ต้องผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลกจึงถือว่าแม่นยำ 
    เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานยอดการฉีดวัคซีนทั่วประเทศว่า ผู้เข้ารับวัคซีนรายใหม่ 404,078 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 298,479 ราย เข็มที่ 2 จำนวน  97,206 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 8,393 ราย ส่วนยอดรวมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันดีเดย์ทั่วไทยวันแรก 7 มิ.ย.64 มียอดสะสม  22,731,658 โดส เข็มที่ 1 สะสม 17,501,924 รายเข็มที่ 2  สะสม 4,687,546 ราย เข็มที่ 3 สะสม 542,188 ราย ขณะที่ยอดรวมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 21 ส.ค.64  (175 วัน) พื้นที่ 77 จังหวัด มียอดสะสม 26,832,179 โดส เข็มที่ 1 สะสม 20,272,171 ราย เข็มที่ 2 สะสม 6,017,820 ราย เข็มที่ 3 สะสม 542,188 ราย
    เพจเฟซบุ๊กไทยร่วมใจกรุงเทพฯ ปลอดภัย นัดคิวฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนซึ่งมีอายุ 18-59 ปี และมีคิวฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม ให้มาฉีดวัคซีนในวันพุธที่ 25  สิงหาคม คิวระหว่างวันที่ 21-25 สิงหาคม ให้มาฉีดในวันพฤหัสบดีที่ 26  สิงหาคม และคิวระหว่างวันที่ 26-31 สิงหาคม ให้มาฉีดในวันศุกร์ที่ 27  สิงหาคม ส่วนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้เข้ารับวัคซีนตามที่นัดหมาย และผู้ตั้งครรภ์สามารถวอล์กอินได้ที่ศูนย์ฉีด 12 แห่ง ในระหว่างวันที่ 25-27  สิงหาคมเช่นกัน
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข  กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่ม 12  ล้านโดสว่า หากไม่ได้วัคซีนซิโนแวคอาจส่งผลให้มีจำนวนของผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น ซึ่งวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพดีในช่วงของต้นปี แต่ตอนนี้ ได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตา นักวิจัยต่างๆ ก็ไม่นิ่งนอนใจเร่งศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยการนำสูตรวัคซีนแบบไขว้มาป้องกันความรุนแรงของอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชน และเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยลดการแพร่เชื้อ ไม่ป่วยหนักและไม่เสียชีวิต ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำให้เร่งกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ขอประชาชนมั่นใจในกระบวนการทำงานของวัคซีนที่มีในประเทศไทย ส่วนความคืบหน้าด้านวัคซีนนั้น คาดว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่าไปด้อยค่ายี่ห้อวัคซีนใดเลย มั่นใจวัคซีนมีข้อดีทุกข้อ
    ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.ให้สัมภาษณ์ถึงการนำเข้ายาหรือวัคซีนจากต่างประเทศว่า รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 สำหรับกรณีเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีน เช่น โรงพยาบาลเอกชน ต้องมายื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก่อน จากนั้นจึงยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล  เนื่องจากผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร
    "เอกชนรายใดประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิดยื่นขอเป็นผู้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนได้ที่ อย. ซึ่ง อย.ได้ระดมสรรพกำลังเร่งพิจารณาประเมิน ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล  โดยหากส่งเอกสารครบถ้วนจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน ซึ่ง  อย.ได้อนุมัติทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว 6 รายการ ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ไซเอ็นซ์  จำกัด นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด, วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด, วัคซีนของซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนโคเมอร์เนตีของไฟเซอร์  นำเข้าโดยบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
    นายอนุทินยังกล่าวถึงการประมูลชุดตรวจโควิด-19 แบบ ATK ที่มีกระแสข่าวล็อกสเปก ว่าในตัวหน่วยงานตนมิได้มีการควบคุมโดยตรง ซึ่งในส่วนขององค์การเภสัชกรรมก็มีประธานบอร์ดควบคุมดูแลอยู่แล้ว เป็นอำนาจหน้าที่การตัดสินใจของแต่ละบอร์ดเพียงเท่านั้น ยืนยันไม่มีล็อกสเปกแน่นอน
    นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวถึงปัญหาการจัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านชุด มูลค่า 1,014 ล้านบาท แม้จะมีผู้ชนะการประมูลขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) แล้ว คือ บริษัท  ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีข้อสั่งการในมติ ครม.วันที่ 17 ส.ค.ว่าชุดตรวจต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงเป็นประเด็นว่า อภ. ยังไม่กล้าเซ็นสัญญากับบริษัทที่ชนะประมูล แต่รัฐต้องแข่งกับเวลา ทุกชั่วโมงที่ชัตดาวน์คือความเดือดร้อนของประชาชน เป้าหมายคือการกันตัวผู้ป่วยออกมาให้เร็ว การตรวจเชิงรุกสำคัญมากอย่าทำให้สะดุด 
    "ที่เถียงกันมันคือชุดตรวจเบื้องต้นแบบ ATK เท่านั้น  ไม่ใช่กรณีการตรวจละเอียดแบบ RT-PCR ท่านนายกฯ ต้องเข้าใจว่ายี่ห้อที่ได้ WHO มันมีน้อยและแพง ถ้าท่านเป็นนักปฏิบัตินิยม และเข้าใจว่านี่คือวิกฤติใหม่ที่ต้องการรับมือ ต้องทันต่อสถานการณ์ ผมเห็นว่าควรไปวัดกันที่หน้างาน บริษัทไหนแน่ไปทดลองกัน โดยเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ถ้าเสถียรพอๆ กันก็เอาอันที่ราคาถูกกว่าสิครับ จะได้กระจายให้ทั่วถึง ถ้าทดลองภาคสนามแล้ว ชุดตรวจที่ชนะการประมูลมีประสิทธิภาพเทียบเท่ายี่ห้อในรายการที่อนุญาตให้ใช้กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน  (Emergency Use Listing) ของ WHO ผมว่ามันก็ใช้ได้แล้ว อย่ายึดติด" นายอรรถวิชช์กล่าว
    อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับชุดตรวจ RDT​ Rapid Diagnostic Test ว่า ชุดตรวจ ATK​ ที่องค์การอนามัยโลกรับรองมี 4  รายการ​ ภาษาทางการใช้คำว่า Emergency Use Listing หรือ​ EUL ซึ่งหมายถึงรายการที่องค์การอนามัยโลกอนุญาตให้ใช้กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ส่วนการทดสอบคุณภาพดูความสามารถในการวินิจฉัยและความแม่นยำของ ATK ทำได้ 3 ระดับ คือ 1.Laboratory scale หรือการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ทำได้ง่ายในห้องแล็บ  2.Clinical scale หรือการทดสอบทางคลินิก โดยนำไปทดสอบจริงในโรงพยาบาลหรือหอผู้ป่วย ให้มีการ swab จริงในโรงพยาบาลแล้วนำผลมาเทียบกับ RT-PCR 3.Field test  scale หรือการทดสอบภาคสนาม คือนำไปศึกษาในการลงจริงในชุมชนหรือนอกโรงพยาบาล ซึ่งบริษัทใดที่ต้องการขอให้เขาบรรจุชื่อสินค้าใน EUL ต้องมีงานวิจัยที่ผ่านการทดสอบทั้ง 3 scale แล้วส่งมาให้เขาพิจารณา จึงจะได้รับการบรรจุในรายชื่อที่เป็นการประกาศรับรองจากองค์การอนามัยโลก ดังนั้นหากผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เราจึงมั่นใจได้ว่า ATK ยี่ห้อนั้นมีความแม่นยำทั้งในทางคลินิกและการตรวจภาคสนาม รวมทั้งการตรวจที่บ้านด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"