บัตรสองใบส่อเดือด ก้าวไกลผวาดิ้นสู้สูญพันธุ์ สภาสูงคาดพรรคร่วมร้าว


เพิ่มเพื่อน    

ชี้ชะตาบัตรสองใบ รัฐสภาถก-ลงมติแก้ รธน.เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง อังคาร-พุธนี้ พรรคก้าวไกลผวาบัตร 2 ใบทำเก้าอี้ ส.ส.หายเกลี้ยง เลือดเข้าตา ยื่นญัตติด่วน หวังล้มกระดาน ยกปม กมธ.เสียงข้างมากทำผิด รธน. "ไพบูลย์" มั่นใจเสียงส่วนใหญ่โหวตฉลุย ไม่เอาด้วยพรรคส้ม สภาสูงปูดข่าวพรรคร่วม รบ.จับมือฝ่ายค้าน จ่อยื่นศาล รธน.สกัดเต็มเหนี่ยว 
    เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส.-ส.ว.) ในสัปดาห์นี้คือวันที่ 24-25 ส.ค. โดยมีระเบียบวาระที่หลายฝ่ายให้ความสนใจนั่นก็คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ฉบับที่.…พ.ศ.… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ส.ส.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.
    โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการพิจารณาการแก้ไข รธน.วาระสอง เรียงรายมาตรา ตามร่างแก้ไข รธน.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาเพียงฉบับเดียว โดยเนื้อหาสำคัญของรายงานการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ของ กมธ.ที่รัฐสภาจะลงมติในวาระสอง สรุปคือเป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.จากระบบบัตรฉบับปัจจุบัน ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วนำคะแนนทั้งหมดของแต่ละพรรคการเมืองมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีในสภาฯ  
    ในร่างดังกล่าวได้เสนอแก้ไขเป็นระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ แยกคะแนน ส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อ รวมถึงแก้ไขจำนวนและที่มาของ ส.ส.จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้มี ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ก็มีการแก้ไขเป็น ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน 
    อย่างไรก็ตามปรากฏว่า ในระเบียบวาระการประชุมปรากฏว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อและ กมธ.แก้ไข รธน.ได้ร่วมกับ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติด่วน เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาว่าการแก้ไข รธน.ของ กมธ.ที่อ้างข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภามาแก้ไข รธน.หลายมาตราเกินกว่าร่างเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้แก้แค่สองมาตรา สามารถทำได้หรือไม่ เพราะเห็นว่าอาจเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งประธานรัฐสภาได้บรรจุญัตติด่วนดังกล่าวเอาไว้ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาด้วยแล้ว 
    ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธาน กมธ.แก้ไข รธน.จากพรรคพลังประชารัฐกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรคก้าวไกลครั้งนี้ โดยเมื่อถามถึงว่า หากที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายธีรัจชัยและคณะ และอาจมีสมาชิกไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในส่วนนี้จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นญัตติที่ทางพรรคก้าวไกลยื่นตามข้อบังคับข้อที่ 151 จากที่พิจารณาในญัตติที่เสนอมาไม่มีปัญหา เชื่อว่าที่ประชุมคงจะลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตติของพรรคก้าวไกล และเมื่อที่ประชุมมีมติแล้วก็ถือว่าเป็นเด็ดขาดจบไปแล้ว การที่พรรคก้าวไกลเอาประเด็นนี้ไปส่งศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณา ซึ่งหากจะทำก็แล้วแต่ แต่เท่าที่ดูข้อกฎหมายมันไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณา
    เมื่อถามว่า ไม่ได้มีความกังวลใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ไม่เลย ไม่ได้กังวลว่าเขาจะยื่นหรืออะไรก็ตามไม่กังวลทั้งสิ้น ยื่นก็ยังไม่รู้จะยื่นได้หรือไม่ เพราะจำนวนผู้ที่เข้าชื่อสำหรับ ส.ส.จะต้อง 70 กว่าคนขึ้นไป และเรื่องที่ยื่นก็ ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ยื่นได้ ซึ่งจำนวนผู้เข้าชื่อก็เห็นว่าไม่น่าจะได้ ก็ต้องรอดูไปแม้จะได้ชื่อ แต่หลักเกณฑ์ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าให้ศาลรับไว้พิจารณา
    "ไม่ได้มีความเป็นห่วงอะไรและไม่ได้เป็นห่วงใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับการที่จะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะ กมธ.ดำเนินการตามข้อบังคับ ซึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็สุดแล้วแต่ที่ประชุม" นายไพบูลย์กล่าว 
    ประธาน กมธ.แก้ไข รธน.กล่าวอีกว่า ตามระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาสัปดาห์นี้ จะมีเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ….ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่) พ.ศ….ซึ่งจะเป็นการพิจารณาก่อน จากการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นก็จะเสนอขอเลื่อนญัตติเรื่องด่วนที่พรรคก้าวไกลเสนอขึ้นมาพิจารณา และต่อด้วยวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็จะต่อด้วยเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับนวัตกรรม ฉะนั้นการพิจารณาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ส.ค.นี้ และคาดว่าหากมีประเด็นไม่เยอะ เพราะมีเพียง 11 มาตราก็อาจจะจบในวันที่ 24 ส.ค. แต่หากไม่จบก็จะต่อในช่วงเช้าของวันที่ 25 ส.ค. ส่วนจะเลิกประชุมเวลาใดนั้นยังไม่ทราบ ต้องแล้วแต่ที่ประชุม เพราะในการประชุมร่วมรัฐสภาในครั้งนี้กำหนดไว้เพียง 2 วัน
    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยมาตลอดกับการแก้ไข รธน.ครั้งนี้ ที่สามพรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านคือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทยจับมือกันแก้ไข รธน.เพื่อแก้ไขระบบการเลือกตั้ง เห็นได้จากที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลไม่ไปร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข รธน.รอบนี้กับพรรคเพื่อไทย อีกทั้ง ส.ส.ของพรรคยังออกมาตำหนิการแก้ไข รธน.ครั้งนี้ของเพื่อไทยว่าเสนอแก้ไขในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ขณะเดียวกันพรรคก้าวไกลก็พยายามจะให้การเขียนเรื่องระบบเลือกตั้งในชั้น กมธ.ให้ใช้วิธีการคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองตามระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันหรือระบบสัดส่วนผสม MMP แต่ไม่สำเร็จ เพราะ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย แต่ กมธ.ของพรรคก้าวไกลก็สงวนความเห็นไว้เพื่อมาอภิปรายในวาระสองต่อไป และล่าสุด ส.ส.พรรคก้าวไกลก็มาร่วมเคลื่อนไหวลงชื่อเสนอญัตติด่วนดังกล่าวว่าการแก้ไข รธน.ของ กมธ.เสียงข้างมากทำผิดรัฐธรรมนูญ  แต่ไม่ได้มีการระบุในญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความแต่อย่างใด 
    ท่ามกลางการวิเคราะห์จากแวดวงการเมืองว่า หากมีการแก้ไข รธน.โดยใช้บัตรสองใบ และลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลงจาก 150 คน เหลือ 100 คน จะทำให้พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.น้อยลงกว่าเดิมสมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่มาก 
    ขณะเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น พรรคภูมิใจไทย ก็มีท่าทีไม่สนับสนุนการแก้ไข รธน.เพื่อเปลี่ยนเป็นระบบบัตรสองใบเช่นกัน หลังมีการมองกันว่าระบบดังกล่าวจะทำให้ภูมิใจไทยได้ ส.ส.น้อยลงกว่าการเลือกตั้งปี 2562 
ปชป.มั่นใจผ่านฉลุยวาระสอง 
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พรรคได้นัด ส.ส.ของพรรคประชุมวันจันทร์ที่ 23 ส.ค. เพื่อเตรียมความพร้อมในการพิจารณากฎหมายที่สำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ เพราะมีประเด็นที่จะต้องถกแถลงกันพอสมควร โดยเฉพาะที่มีการท้วงติงว่าการแก้ไขของคณะ กมธ.แก้ไขเกินหลักการจากที่ผ่านการรับหลักการจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ ในส่วนของประชาธิปัตย์เรามีความเชื่อมั่นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการไม่ได้ขัดหลักการ ส่วนที่มีการพรรคการเมืองบางพรรคเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำขัดหลักการ จะยื่นให้มีการตีความก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้
    "พรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนี้จะผ่านความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการใช้สิทธิ์เลือก ส.ส. และพรรคการเมืองที่เห็นว่าเหมาะสมด้วยบัตร 2 ใบ ซึ่งทำให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ของตนอย่างแท้จริง" นายองอาจระบุ
    ส่วน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพิจารณาร่างแก้ไข รธน.วาระสองครั้งนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะพรรคการเมืองใหญ่สนับสนุนกันทุกพรรค แต่ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่บรรลุเป้าหมาย กำลังถูกหักหลัง และไม่มีความจริงใจจากพรรคแกนนำรัฐบาล การที่รัฐสภาเห็นชอบแค่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบบเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จะมาทึกทัก หรือโมเมว่า ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการทำตามเงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาลแล้วนั้น นอกจากจะเป็นการหลอกตัวเองก็ยังเป็นการหลอกลวงประชาชน พรรคประชาธิปัตย์จะต้องมุ่งมั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นตามที่ ประกาศไว้ ถ้าหากรัฐบาลไม่สนับสนุน ก็ควรที่จะพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลได้เลย อย่าให้ถูกข้อครหาว่า อยากเป็นรัฐบาล เสพติดอำนาจ หวงเก้าอี้ จนลืมศักดิ์ศรีความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ไป
สภาสูงนัดถกก่อนลงมติโหวต
    ด้านท่าทีจากวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า วันที่ 23 ส.ค. ทาง ส.ว.จะสัมมนาที่รัฐสภาเพื่อเตรียมความพร้อม เบื้องต้นจะมี นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นวิทยากร พูดคุยในประเด็นข้อถกเถียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะได้ตัดสินใจในการประชุมร่วมรัฐสภาได้ถูก
    นายพรเพชรกล่าวว่า ทั้งนี้ ส.ว.ที่ยังมองไม่ชัดคือ ในประเด็นตรงที่มีการแปรญัตติที่เกินหลักการหรือเปล่า ซึ่งยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่ในเบื้องต้นคำว่าเกินหลักการที่ถกเถียงกัน ก็อาจหมายความว่า ร่างกฎหมายธรรมดาก็อยู่ในหลักการนั้น แล้วไปรับร่างมาฉบับเดียว คราวนี้ร่างฉบับเดียวนั้นมีการเพิ่มมาตราต่างๆ เข้ามา ตามหลักกฎหมายโดยทั่วไป ถ้าจำเป็นมันก็เพิ่มได้ต้องเกี่ยวเนื่องกัน แต่ถ้ามันมีปัญหาว่า มีการสร้างขึ้นมาใหม่ หรือเปล่า มันจำเป็นหรือเปล่ากับร่างเดิม ตรงนี้ก็ต้องมีการโต้เถียงกันแน่ๆ ทาง ส.ว.จะสัมมนากันถึงประเด็นนี้ แต่ทางฝ่าย กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเขายืนยันว่า เขาสามารถแก้ไขได้เพื่อให้ร่างเดิมสมบูรณ์
    เมื่อถามว่า ข้อถกเถียงตรงนี้พรรคการเมืองอาจจะนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายพรเพชรตอบว่า กฎหมายทุกฉบับก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ต้องใช้เสียงสมาชิก 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา และย้ำว่า ส.ว.ไม่ใช่พรรคการเมือง ส.ว.คงจะไปสั่งใครไม่ได้ ไม่เคยเลยที่จะไปบังคับให้โหวตผ่านหรือโหวตคว่ำ ใครจะพูดอย่างไรไม่รู้ แต่ส่วนตัวไม่เคยสั่งแน่นอน
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวเช่นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ส.ว.ไม่ออกตัวแรง เพราะเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของพรรคการเมืองล้วนๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ ประชาชนและประเทศชาติไม่ค่อยได้อะไร แต่เท่าที่ฟังมา ส.ว.มีความเห็นเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่จะแก้ครั้งนี้หลายเเนวทาง เช่น เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 มีพรรคเล็ก มี ส.ส.แบบปัดเศษมากเกินไป ไม่ชี้ความต้องการของประชาชน ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ แต่ถ้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นแบบปี 40 ที่กำลังจะทำอยู่นี้ ส.ว.หลายกลุ่มเห็นว่าจะทำให้พรรคใหญ่กินรวบในสภาฯ เกิดเผด็จการรัฐสภาเหมือนในอดีต พรรคเล็กไม่มีที่ยืน ขณะที่อีกระบบที่มีพรรคการเมืองบางพรรคแปรญัตติ เสนอระบบแบบสัดส่วนผสม หรือ MMP ใครได้รับเลือกตั้งในเขตใดคนนั้นได้เป็น ส.ส. และเอาคะแนนของพรรค มาคำนวนเป็นสัดส่วน ส.ส.พึงมี โดยมีพรรคการเมืองหลายพรรคสนับสนุน ระบบนี้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ถ้าเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง ระบบ MMP น่าจะสนองความต้องการประชาชน ประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
    นายวันชัยเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดา ส.ว.กำลังถกแถลงกัน คาดว่าจะได้ข้อยุติไม่เกินวันที่ 23-24 ส.ค.นี้ และส่วนตัวเห็นว่าถ้าคำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติ ต้องการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ควรใช้ระบบ MMP ดีที่สุด เท่าที่ดูขณะนี้พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์เสนอ ชาติไทยพัฒนาก็เห็นด้วย ส่วนพรรคภูมิใจไทยเท่าที่ดูลึกๆ ไม่เห็นด้วยกับระบบ MMP เขาจะเสียเปรียบ มันจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง
    "มีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เพราะทำให้พรรคตัวเองเสียคะแนน มีแนวโน้มที่จะไม่โหวตสนับสนุน และอาจจะร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรคส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหลังจากโหวตผ่านวาระ 3 การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลและในสภาฯ อีกทั้งมีทีท่าว่าที่จะแก้ได้เร็วนั้น อาจจะไม่ได้เร็วดังความต้องการก็เป็นไปได้ ส.ว.ทั้งหมดจึงจะไม่เคลื่อนไหว และออกตัวแรงเรื่องนี้มาก โดยเรื่องที่มีบางคนคาดหวังว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะยุบสภาฯ เร็วได้เลย ก็อาจจะไม่ทันดังที่หวังก็ได้" ส.ว.วันชัยระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"