ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกส่วนราชการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมา ตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยเฉพาะการพัฒนางานบริการประชาชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ล่าสุดกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงตอกย้ำความสำเร็จโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการจราจร เป็นการนำระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือระบบ M-Flow) ให้บริการบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)
จากปัญหาการจราจรที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด กระทรวงคมนาคมหนึ่งในหน่วยงานหลักที่มีภารกิจหน้าที่ดูแลระบบการขนส่งและบริการคมนาคม ให้มีความคุ้มค่าและทั่วถึง การวางแผนจราจร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม จึงได้ใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำระบบ M-Flow มาแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน
คงต้องบอกว่าสำหรับ Multi-lane free flow เป็นระบบเก็บเงินแบบไม่มีไม้กั้นที่มีมาตรฐาน ใช้กันทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ใช้ระบบดังกล่าวนี้ จากข้อมูลพบว่า ในต่างประเทศที่มีการใช้ระบบ M-Flow ในยุโรป เช่น อเมริกา เยอรมนี ออสเตรีย ไอร์แลนด์ ขณะที่เอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าในการนำ M-Flow มาใช้ในบ้านเรามีความชัดเจนเป็นอย่างมาก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง และนายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผอ.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการทดสอบระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น บริเวณด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางธัญบุรี 2 (ขาออก) และอาคารชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ศูนย์ควบคุมกลาง (CCB ลาดกระบัง) มอเตอร์เวย์ สาย 9
จากการดูความพร้อมการติดตั้งอุปกรณ์และการเชื่อมต่อกับระบบควบคุมรายการผ่านทางในระดับช่องทาง รวมไปถึงการส่งข้อมูลรถที่ผ่านทางเข้าไปยังระบบ Single Platform ที่อาคารศูนย์ควบคุมกลางเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แน่นอนว่าจะมีการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ Soft Opening ในช่วงเดือน ต.ค.2564
ขณะเดียวกันจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบครบทั้ง 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 และ 2 ด่านธัญบุรี 1 และ 2 ในช่วงเดือน ม.ค.2565 จากนั้นจะเปิดให้บริการบนทางพิเศษฉลองรัชของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะแรก จำนวน 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ส่วนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง และทางพิเศษฉลองรัช ระยะที่ 2 บูรพาวิถี และสายกาญจนาภิเษก คาดว่าจะสามารถเปิดทดสอบระบบได้ในช่วงปี 2566
ซึ่งระบบ M-Flow จะใช้ทั้งมอเตอร์เวย์และทางด่วนเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล และเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดหน้าด่าน รถสามารถผ่านด่านได้เร็วขึ้น 5 เท่าจากระบบเงินสด หรือ Easy Pass/M-Pass ที่รถผ่านได้ 400 คัน/ช่อง เป็น 2,000 คัน/ช่อง อีกทั้งยังเป็นการบริหารรูปแบบ New Normal ไม่มีการสัมผัส ไม่มีความเสี่ยงโควิด-19 หรือเชื้อโรคอื่นๆ การชำระค่าบริการสะดวก ทั้งระบบพรีเพด หรือโพสต์เพด ในหลายช่องทาง ไม่ต้องจ่ายเงินสด เติมเงิน หรือซื้อคูปองเหมือนเดิม
ส่วนกรณีที่มีผู้ใช้ทางจงใจฝ่าฝืนการชำระค่าผ่านทางจะมีระบบติดตาม ซึ่งกรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตำรวจทางหลวง จะร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย โดยมีโทษปรับ 10 เท่าของอัตราค่าบริการที่ติดค้าง และในอนาคตจะมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้นเหมือนมาตรฐานสากล
M-Flow ถือเป็นการตอบโจทย์ Lifestyle ในยุคสังคมไร้เงินสด ที่สามารถชำระค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติด้วยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต การหักบัญชีธนาคารแบบอัตโนมัติ การตัดชำระผ่านระบบ Pre-Paid เช่น M-Pass Easy-Pass และ Wallet อื่นๆ ในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็จะยังคงมีบริการรับชำระเงินผ่านช่องทางธนาคาร และ Counter Service ในรูปแบบต่างๆ ผ่าน QR Code ด้วย.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |