เวียดนามประกาศยกระดับล็อกดาวน์โฮจิมินห์ซิตีสูงสุดสองสัปดาห์ เริ่มมีผลบังคับวันนี้
ส่งทหารออกมาบังคับใช้กฎเข้ม ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน โดยจะส่งอาหารไปให้กับชาวบ้าน
เป็นแนวทางละม้ายกับของอู่ฮั่นตอนเจอโควิดระลอกแรก
เป็นจังหวะเดียวกับที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ กำลังจะมาเยือนเมืองหลวงฮานอยในวันพุธนี้
กมลามาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รอบนี้มาเพียงสองประเทศ คือ สิงคโปร์ (ไปถึงเมื่อวาน) และเวียดนาม (วันพุธ)
เป็นการตอกย้ำนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น
เป็นจังหวะที่วอชิงตันต้องแสดงให้โลกเห็นว่า แม้กรณี “คาบูลแตก” และตอลิบันกลับมายึดอำนาจได้ ขณะที่ทหารอเมริกันกำลังจะถอนตัวออกนั้น สหรัฐฯ ก็ยังจะดำรงความเป็น “มหาอำนาจเบอร์หนึ่ง” ของโลกอยู่
เอเชียเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการแสดงบารมีเช่นนี้
ก่อนหน้านี้ไบเดนส่งรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน และรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เวนดี เชอร์แมน มาเอเชียเพื่อตอกย้ำการให้ความสำคัญกับเอเชียแล้ว
ทำไมกมลามาเยือนเฉพาะสิงคโปร์และเวียดนาม?
เพราะสองประเทศนี้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอันดับสูงกว่าอาเซียนอื่น
เป็นส่วนหนึ่งของการสกัดอิทธิพลจีนผ่านการสร้างพันธมิตรในภูมิภาคนี้ผ่าน Indo-Pacific Strategy ที่ดึงเอาอินเดียมาเป็นแกนสำคัญในย่านนี้
เสริมด้วย Quad หรือ “จตุภาคี” ที่มีสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, อินเดียและญี่ปุ่นที่เป็นเสาหลักอีกด้านของการยับยั้งการสยายปีกของจีน
อาเซียนเป็นอีกเสาหนึ่งของนโยบายไบเดน ที่ต้องการเตือนจีนว่าจะต้องไม่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้เกินกว่าที่สหรัฐฯ จะเห็นว่าเหมาะสม
สิงคโปร์กับเวียดนามเป็นสองประเทศในอาเซียนที่มีความสนิทสนมกับวอชิงตันในหลายๆ มิติ
สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงิน บริษัทยักษ์ๆ ของอเมริกา เช่น Microsoft และ Google มีสำนักงานใหญ่ในเอเชียอยู่ที่นี่
เวียดนามถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญของ “ห่วงโซ่อุปทาน” ของภูมิภาคนี้ที่อเมริกาต้องการใช้ในการขยายอิทธิพลของตน
ทำเนียบขาวบอกว่ารองประธานาธิบดีแฮร์ริสจะปรึกษาหารือกับผู้นำสองประเทศอาเซียนในหัวข้อสำคัญ คือ “ความมั่นคงภูมิภาค, โรคระบาดโควิด, โลกร้อนและทิศทางของสหรัฐฯ ในการจัดระเบียบโลกบนพื้นฐานของการเคารพในกติกาสากล”
ข่าวบอกว่า กมลาจะกล่าวคำปราศรัยสำคัญที่สิงคโปร์ในคืนวันพรุ่งนี้
และเมื่อไปถึงเวียดนามวันพุธ เธอจะประชุมออนไลน์กับรัฐมนตรีสาธารณสุขของอาเซียนว่าด้วยเรื่องโควิด
อีกทั้งจะประกาศตั้งสำนักงานภูมิภาคของศูนย์บริหารควบคุมโรคที่ฮานอย
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ทั้งสิงคโปร์และเวียดนามเป็นสมาชิกของ CPTPP
แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำของการก่อตั้งองค์กรนี้ในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถอนตัวออกโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
การมาของรองประธานาธิบดีกมลาจะเปิดทางให้อเมริกาทบทวนเรื่องนี้และหวนกลับมาร่วม CPTPP หรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตา
จีนมองการมาเยือนของกมลาอย่างไร?
เรายังไม่ได้ยินปฏิกิริยาทางการของปักกิ่งในเรื่องนี้มากนัก แม้ว่าสื่อกระบอกเสียงของจีนอย่างหนังสือพิมพ์ Global Times จะยืนยันว่าอย่างไรเสียสหรัฐฯ ก็ไม่อาจจะกระชากอาเซียนออกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างจีนกับอาเซียนได้
เราเห็นจีนทุ่มแรงทางการทูตและการเมืองโดยเฉพาะ “การทูตวัคซีน” แข่งกับสหรัฐฯ อย่างคึกคักเพื่อคานอำนาจของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้
เราเห็นจีนเน้นความสำคัญของการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกับอาเซียนในระยะหลัง
เราได้ยินรัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้ ของจีนเตือนอาเซียนว่าอย่าได้ยอมให้ “คนข้างนอก” เข้ามาแทรกแซงกิจการของภูมิภาคนี้
ที่เห็นชัดจากวอชิงตันก็คือ โจ ไบเดน กำลังต้องการจะตอกย้ำว่า “อเมริกากลับมาแล้ว” (America is back!) ในย่านนี้และจะไม่ยอมให้จีนยื้อแย่งมิตรไมตรีจากอาเซียนไปจากอเมริกาเหมือนในยุคของทรัมป์เป็นอันขาด
ผมเตรียมฟังแถลงการณ์ของกมลาจากสิงคโปร์พรุ่งนี้ เพราะคงจะมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนสำหรับอาเซียน
เพราะหลังเหตุการณ์ที่อัฟกานิสถานในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำอเมริกันคงต้องการจะให้ความมั่นใจกับประเทศต่างๆ ในเอเชียว่า วอชิงตันคงไม่เป็น “ยักษ์ใจเสาะ” อย่างที่นักวิเคราะห์หลายค่ายวิพากษ์กันอย่างสนุกปากในช่วงนี้แน่นอน
จะเชื่อได้หรือไม่เพียงใดย่อมอยู่ที่การกระทำ มิใช่วาทะแห่งถ้อยแถลงแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |