จนถึงเวลานี้ทวีปแอฟริกามีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วเพียง 1.85 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 1,375 ล้านคน (ภาพจาก africacdc.org)
การค้ากำไรจากความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีน : อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ? (Profiteering from vaccine inequity: a crime against humanity? คือชื่อของบทบรรณาธิการ British Medical Journal หรือ BMJ วารสารทางการแพทย์รายสัปดาห์ของสหราชอาณาจักรฉบับตีพิมพ์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา
เป็นบทบรรณาธิการที่บอกกล่าวสถานการณ์ของการกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโลกได้อย่างเห็นภาพครอบคลุม และทะลุปรุโปร่ง จึงขออนุญาตแปลและนำเสนอท่านผู้อ่าน ดังนี้
บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 และชาติร่ำรวยกำลังเล่นกับธุรกิจและความตายของผู้คน
ตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดแล้วที่บริษัทไฟเซอร์ประกาศจะทำกำไรก้อนโตจากการขายวัคซีนโควิด-19 และเพียงไตรมาสแรกของปี 2021 วัคซีนไฟเซอร์ทำเงินได้ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 115,500 ล้านบาท) คิดเป็นกำไรหลายร้อยล้านเหรียญฯ
ขณะที่บริษัทอื่นๆ ก็มีกำไรจากวัคซีนโควิด-19 กันทั่วหน้า โมเดอร์นาซึ่งรับเงินสนับสนุนจากรัฐกำลังขายวัคซีนได้หลายพันล้านเหรียญฯ แม้แต่แอสตร้าเซนเนก้าซึ่งมีโมเดลการค้าไม่มุ่งกำไร ก็จะมีรายได้นับพันล้านเหรียญฯ เช่นกัน อีกทั้งมีอิสระที่จะขึ้นราคาวัคซีนได้หากภาวะการระบาดทั่ว (Pandemic) สิ้นสุดลง
แต่อะไรก็ไม่เท่ากับการที่บรรดาชาติร่ำรวยปฏิเสธการแบ่งปันวัคซีนให้กับประเทศยากจนกว่า อย่างเป็นธรรมและรวดเร็วเพียงพอ ในขณะที่ประชากรของสหราชอาณาจักร 60 เปอร์เซ็นต์ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ในประเทศยูกันดากลับมีผู้ฉีดวัคซีนไปเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ชาติฐานะยากจนที่สุด 50 ประเทศของโลก มีประชากรรวมกัน 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก แต่จนถึงตอนนี้ได้รับวัคซีนรวมกันเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้น ชาติร่ำรวยไม่ละอายแก่ใจบ้างหรือ?
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เรียกร้องไปยังชาติร่ำรวยว่าให้ระงับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปก่อนและส่งวัคซีนเหล่านั้นไปให้ประเทศยากจนและกำลังพัฒนา ทว่าไฟเซอร์กลับคาดหวังว่าชาติร่ำรวยจะเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของ WHO และควรเดินหน้าฉีดเข็มกระตุ้นต่อไป เพื่อที่สิ้นปีบริษัทจะมีรายได้ตามที่คาดการณ์ไว้ 33.5 พันล้านเหรียญฯ (1,105,500 ล้านบาท)
การค้ากำไรกับโรคระบาดในมุมมองของเรา คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำเป็นต้องมีการสอบสวนและตรวจสอบอย่างละเอียด ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1948 กำหนดให้มนุษย์ทุกชีวิตบนโลกมีสิทธิในการเข้าถึงความก้าวหน้าและประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และด้วยเงินสนับสนุนจากสาธารณะก็ได้ทำให้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว ลดโอกาสการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต
ทว่าการตายและการป่วยหนักที่ในความเป็นจริงสามารถป้องกันได้ เกิดปรากฏไปทั่วทวีปแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกาในขนาดและอัตราความเร็วที่ไม่เคยมีมาก่อน ทวีปเหล่านี้กำลังถูกเอาเปรียบด้วยเล่ห์เหลี่ยมจากชาติร่ำรวยที่มีอิทธิพลควบคุมตลาด
ปัจจัยที่ทำให้มีคนตายจำนวนมากโดยไม่จำเป็นก็คือ การค้าเสรี การค้าที่มุ่งเน้นผลกำไรโดยใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตร ร่วมกับการขาดเจตจำนงทางการเมืองที่ดี ช่างตรงข้ามกับการกล่าวอ้างที่ว่าพวกเขาสามารถผลิตวัคซีนให้เพียงพอแก่คนทั้งโลก
วัคซีนกับการแบ่งแยกชนชาติ
บริษัทยาผู้ผลิตวัคซีนและซีอีโอของบริษัทรับผิดชอบต่อบอร์ดบริหารของพวกเขาเท่านั้น และยังได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้นำที่มีอำนาจเพื่อกักเก็บสะสมวัคซีนให้ได้มากที่สุด เมื่อเดือนกันยายนปี 2020 ชาติร่ำรวยประมาณ 30 ประเทศซึ่งมีกำลังจ่ายเงินค่าวัคซีน ได้กว้านซื้อล่วงหน้าไปจนชนิดที่เรียกได้ว่าวัคซีนของทั้งโลกเกลี้ยงชั้นวาง อันนำไปสู่การแบ่งแยกชนชาติเกี่ยวกับวัคซีนในเวลาต่อมา
ยกตัวอย่าง แคนาดาได้ซื้อวัคซีนไปเป็นปริมาณ 5 เท่าของจำนวนประชากรที่มี สหราชอาณาจักรซื้อไป 4 เท่าของประชากร และเมื่อถึงสิ้นปี 2021 ชาติร่ำรวยก็จะนั่งทับกองวัคซีนที่ไม่ได้ใช้กว่า 1 พันล้านโดสในเวลาเดียวกับที่ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแย่กว่ายังไม่ได้วัคซีนแม้ว่าได้จ่ายเงินซื้อไปแล้วก็ตาม
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก “ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” กล่าวถึงวัคซีนกับความไม่เท่าเทียมระดับโลกว่าเป็นสิ่งที่วิปลาส, เป็นสูตรสำหรับการทำให้เชื้อกลายพันธุ์และสามารถหลบหลีกวัคซีนได้ และการไร้ซึ่งศีลธรรม
บางทีการตราหน้าว่า “ไร้ศีลธรรม” อาจยังไม่เพียงพอ เพราะ “การงดเว้นการบังคับใช้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา” และ “การสนับสนุนองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีน” ที่พวกเขาเคยปฏิเสธไป ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะแก้ไขหรือกลับลำ “การตัดสินใจ” ก่อนหน้านี้? ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่นำไปสู่การตายอย่างไม่ควรในประเทศยากจนและกำลังพัฒนาจำนวนนับแสนนับล้านชีวิต
เวลานี้ชาติที่กวาดวัคซีนไปกองไว้เป็นพะเนินกำลังทำลายวัคซีนส่วนเกินและไม่ได้ใช้เหล่านั้น ขณะที่บางชาติออกมาตรการห้ามส่งออกวัคซีนเพื่อปกป้องคลังวัคซีนของตนไว้ ขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่น่าขัน บริษัทผลิตวัคซีนก็ห้ามไม่ให้ชาติกำลังพัฒนาที่ผลิตวัคซีนให้พวกเขา นำมาตรการเดียวกันมาใช้
มีผู้เล็งเห็นไว้ก่อนแล้วว่าการกักตุนวัคซีนเกิดขึ้นแน่ จึงได้มีการก่อตั้งโครงการหรือเครื่องมือสำหรับการแบ่งปันวัคซีนในระดับโลกที่เรียกว่า “โคแวกซ์” ขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ออกแบบให้เป็นเหมือนโรงกำเนิดและกระจายวัคซีนกำลังแรงสูง โคแวกซ์ตั้งเป้าจะซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชากรโลก 20 เปอร์เซ็นต์ใน 92 ประเทศยากจนภายในสิ้นปี 2021 แต่จนถึงเวลานี้ยังคงห่างไกลเป้าหมายอยู่มาก
ประเทศร่ำรวยผลักโคแวกซ์ไปอยู่คิวท้ายสุดของบรรดาผู้ซื้อทั้งหมด จนถึงตอนนี้โคแวกซ์จัดหาวัคซีนมาได้เพียง 163 ล้านโดส ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นนับพันล้านโดส และที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งก็คือบรรดาประเทศกลุ่มจี 7 ตกลงที่จะบริจาควัคซีนเข้าโครงการไม่ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ตามที่โคแวกซ์ต้องการ
รัฐบาลอินเดียและแอฟริกาใต้กำลังเป็นผู้นำในการเรียกร้องให้ “งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา” สำหรับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยมี 100 กว่าประเทศให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตวัคซีนและชาติร่ำรวยหลายชาติก็ร่วมมือกันอย่างไม่ย่อท้อไม่ให้มีการนำประเด็นนี้มาพูดคุยกันในเวทีการประชุมของ WHO ซึ่ง WHO เองก็ดูจะเฉื่อยชาเต็มที
องค์กรการกุศลอย่าง “ออกซ์แฟม” ได้กล่าวหากลุ่มประเทศร่ำรวย “จี 20” ว่ายกเอาผลประโยชน์ของบริษัทยามาก่อนการหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19
องค์ความรู้ต้องแบ่งปัน
เดือนพฤษภาคม ปี 2020 องค์การอนามัยโลกได้เปิดตัวโครงการ Covid-19 Technology Access Pool (C-TAP) หรือผลประโยชน์ส่วนรวมในการเข้าถึงเทคโนโลยีวัคซีนโควิด-19 เรียกร้องไปยังผู้พัฒนาวัคซีนให้แบ่งปัน Know-how และลิขสิทธิ์การผลิตในช่วงการระบาด และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา WHO ก็ได้ประกาศว่ากำลังร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในแอฟริกาใต้ มหาวิทยาลัยต่างๆ และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแอฟริกาเพื่อที่จะตั้งฮับการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ขึ้นเป็นแห่งแรก ทว่ายังไม่มีบริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ WHO ให้การรับรองร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีกับ C-TAP หรือฮับของ WHO เลยแม้แต่รายเดียว รัฐบาลส่วนใหญ่ก็ไม่เต็มใจและไม่กล้าไปบังคับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
มีความหวังอยู่บ้างสำหรับกรณีวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสาธารณะในการพัฒนาวัคซีน แต่สิทธิการผลิตกลับถูกมอบให้กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดเกี่ยวกับการตั้งราคาในอนาคต รวมถึงเงื่อนไขการแบ่งปันลิขสิทธิ์
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี แทนที่เราจะได้สินค้าที่สาธารณชนเข้าถึงอย่างอิสระ วัคซีนยังคงเป็นสินค้าที่มีบริษัทยาเป็นเจ้าของและขายให้กับชาติเศรษฐี และแทนที่จะมอบให้กับโคแวกซ์ ชาติร่ำรวยกลับกักตุนวัคซีนส่วนเกินไว้เป็นพันล้านโดส
ในขณะที่การบริจาคเพื่อการกุศลถือเป็นทางออกหนึ่ง แต่ก็ไม่เพียงพอ อีกทั้งการบริจาคคือเครื่องหมายแห่งความอยุติธรรมของนักล่าอาณานิคมในอดีต และการชดเชยเยียวยาได้หมดเวลาไปนานแล้ว โมเดลการกุศลของนักล่าอาณานิคมที่เหมือนน้ำฝนหยดลงเชื่องช้าถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
หนทางเดียวที่จะเดินไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนคือการผลิตในระดับโลกเพื่อที่ประเทศยากจนและกำลังพัฒนาจะได้ไม่ต้องพึ่งพาการบริจาคอีกต่อไป เมื่อคราววิกฤตการณ์การระบาดของโรคเอดส์เราเคยประสบความสำเร็จมาแล้วแม้ว่าต้องรอให้มีคนตายลงไปเป็นจำนวนมากและล่าช้าอยู่หลายปีก็ตาม
ประเทศยากจนต้องการการผ่อนคลายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสนับสนุนในการสร้างฮับการผลิตวัคซีนในระดับทวีปหรือภูมิภาค โดยแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกาถือว่ามีความสามารถที่จะทำได้
นักการเมืองอาจจะยังคงสร้างความเสียหายให้กับประเทศโดยการรับมือกับการระบาดได้ย่ำแย่ แม้ว่าประเทศเหล่านั้นมีขีดความสามารถดีพอในการผลิตวัคซีนก็ตาม อย่างที่เห็นในอินเดีย แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การแบ่งปันทรัพย์สินทางปัญญา ความเชี่ยวชาญ และสมรรถนะการผลิต ก็ยังคงจำเป็นอย่างไม่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
มีบางสิ่งที่น่าแปลกใจ เช่นในเอเชียตะวันออกที่เป็นประเทศร่ำรวย ก็ยังประสบปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ เนื่องจากว่าพวกเขามุ่งเน้นกลยุทธ์การนำมาตรการควบคุมโรคมาบังคับใช้ มากกว่าจะแข็งขันในการจัดหาวัคซีน กลยุทธ์การรับมือการระบาดของพวกเขากำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทยายักษ์ใหญ่และการเมืองประชานิยมจากโลกตะวันตก
ถึงที่สุดแล้ว พวกที่ยืนกรานปฏิเสธ “การงดเว้นบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตร” และ “การแบ่งปันองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีน” จะสร้างความเสียหายให้กับผลประโยชน์ของพวกเขาเองในระยะยาว เพราะบรรษัทข้ามชาติและองค์กรทางการเมืองในจีน อินเดีย และรัสเซีย เริ่มที่จะเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้แล้ว
เงียบเท่ากับสมรู้ร่วมคิด
การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของโลกตั้งอยู่บนฐานของอำนาจอิทธิพลเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงเป็นไปตามความสามารถของกำลังซื้อ
ความอัปยศอดสูที่ก่อขึ้นโดยบรรษัทข้ามชาติและการเมืองโลก นำไปสู่ความตายขนานใหญ่ เทียบได้กับอาชญากรรมต่อเพื่อนมนุษย์ และผู้ที่เงียบเสียงก็ไม่สามารถปฏิเสธการมีส่วนร่วมในอาชญากรรมนี้
เหตุใดผู้ถือหุ้นและพนักงานในบริษัทผลิตวัคซีนถึงไม่ยอมพูดอะไรออกมาบ้าง?
นักวิชาการทั้งหลายไปมุดหัวอยู่เสียที่ไหนถึงไม่ออกมาเปล่งเสียงหรือทำให้ผลที่ได้จากกิจการทางวิทยาศาสตร์เปิดกว้างสำหรับมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม?
เมื่อไหร่นักกฎหมายจะเรียกร้องถามหาความยุติธรรมและความรับผิดชอบจากบรรษัทข้ามชาติ?
ผู้นำจากชาติร่ำรวยใดบ้างที่กล้าสร้างแรงกดดันไปยังบริษัทผลิตวัคซีน เพื่อทำให้พลเมืองของพวกเขาปลอดภัยโดยการทำให้ทั้งโลกปลอดภัย?
มีการเคลื่อนไหวทางรากหญ้าของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรสาธารณสุขบ้างหรือไม่ ที่ต่อสู้เพื่อการเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรม?
ความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีนได้เอาชนะความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีนยังทำให้การระบาดดำเนินต่อไป
ความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่นี้คือผลที่ตามมาโดยตรงจากการค้าที่ละโมบโลภมากและการเมืองแบบเห็นแก่ตัว
ภายใต้เกราะกำบังลวงๆ ว่าเป็นผู้ให้บริการเพื่อนมนุษย์ กอปรกับดวงตาที่มืดบอดจนมองไม่เห็นความตายนับไม่ถ้วนในประเทศยากจนและชาติกำลังพัฒนา เป็นอีกครั้งที่บรรษัทข้ามชาติทำผลงานได้เข้าเป้าสูงสุดโดยได้รับการช่วยเหลือจากพันธมิตรทางการเมือง
นั่นก็คือ “การฆาตกรรม”.
************
อ้างอิง: bmj.com/content/374/bmj.n2027
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |