ชงไม่ขยับแวต7%อีก2ปี ธปท.อุ้มหนี้บัตรเครดิต!


เพิ่มเพื่อน    

เศรษฐกิจติดหล่มโควิด “คลัง” ชง ครม.ยืดเก็บ VAT 7% ต่ออีก 2 ปี หลังประเมินเศรษฐกิจไทยโคม่า ขณะที่แบงก์ชาติหนุนรัฐกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท อัดฉีดเข้าประคอง พร้อมยกเครื่องเกณฑ์สินเชื่อปลุกชีวิต SME
    เมื่อวันศุกร์ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ขยายเวลามาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.2564 ออกไปอีก 1-2 ปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และที่ผ่านมาการเสนอคง VAT ก็จะมีทั้ง 1 ปี และขอขยายทีเดียว 2 ปีเลย หากเห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหามาก เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีความมั่นใจและวางแผนธุรกิจในระยาวได้
    แหล่งข่าวระบุอีกว่า การคงเก็บภาษี VAT ที่ 7% จะไม่กระทบกับการเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 เนื่องจากการทำงบประมาณในส่วนของการประมาณการเก็บรายได้มีการประเมินไว้แล้วว่าจะไม่มีการเพิ่มภาษี VAT อยู่แล้ว โดยการขึ้นภาษี VAT ทุก 1% จะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาททั้งนี้ คาดว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง จะนำข้อเสนอเรื่องให้ ครม. พิจารณาภายในเดือนนี้ 
    นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 มีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ได้แก่ การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอีและรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอี โดยให้ขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่วงเงินเดิมน้อย หรือไม่เคยมีวงเงิน สำหรับลูกหนี้รายใหม่ เดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท (รวมวงเงินกู้จากทุกสถาบันการเงิน) เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท (รวมวงเงินกู้จากทุกสถาบันการเงิน)
    นายเศรษฐพุฒิระบุว่า ส่วนลูกหนี้รายเก่า ให้ขยายวงเงินสินเชื่อเป็น 30% ของวงเงินแต่ละสถาบัน แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาทสำหรับลูกหนี้ที่ 30% ของวงเงินเดิมไม่ถึง 50 ล้านบาท จากเดิมวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 30% ของวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท
    ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ได้เพิ่มการค้ำประกันให้กับกลุ่มลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท หรือลูกหนี้ใหม่ที่ได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท พร้อมทั้งคงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวม โดยลดอัตราจ่ายในช่วง 2 ปีแรกสำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ 
      “ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธปท.อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วรวมทั้งสิ้น 92,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมระหว่าง ธปท.กับสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาทได้ก่อนเดือน ต.ค.2564 โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำหรือไม่เคยมีวงเงินมาก่อน ที่เดิมอาจไม่ต้องพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางได้มากขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ 
    ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุว่า นอกจากนี้ยังผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564
    "โดยขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท, คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตที่ 5% ต่อไป และขยายเพดานวงเงินและระยะเวลาชำระหนี้ โดยกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ให้ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ และไม่จำกัดจำนวนผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ให้ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาท พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน ซึ่งการผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและลดความจำเป็นของลูกหนี้ที่อาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบในระยะต่อไป" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ 
    ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แนวทางหนึ่งในการช่วยประคองให้เศรษฐกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ มองว่าภาครัฐจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ โดยอาจจะดำเนินการผ่านการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท โดย ธปท.ได้มีการทำแบบจำลองกรณีรัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อประคองเศรษฐกิจ พบว่าหากรัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่ม และเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีนี้ จะช่วยให้จีดีพีของไทยเฉลี่ย 5 ปีข้างหน้า สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 3.2% แต่หากรัฐบาลไม่มีการกู้เงินเพิ่มเติม ไม่มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ภาพการขยายตัวของจีดีพีในช่วง 5 ปีข้างหน้าก็จะเติบโตได้ไม่ถึง 3%
    “หากรัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ก็จะทำให้มีความเสี่ยงที่หนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นแตะระดับ 70% ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าได้ แต่ในระยะกลางและระยะยาวรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการลดภาระ การรัดเข็มขัด ผ่านการปฏิรูปรายได้ การจัดเก็บภาษี การเพิ่มฐานภาษี การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขยายฐานภาษี โดยมองว่าการที่เศรษฐกิจดีจะทำให้เราปฏิรูปเรื่องภาษีได้ง่ายขึ้น เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงที่เศรษฐกิจดีย่อมทำได้ง่ายกว่า ดังนั้นหากรัฐบาลใส่เงินได้เร็ว ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของฐานะการคลังในระยะยาวด้วย” นายสักกะภพกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"