"ในหลวง-พระราชินี" พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเพิ่มแก่สธ. เพื่อตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชน โควิดไทยตั้งแต่ปี 63 ทะลุล้านแล้ว ศบค.ชี้ยอดติดเชื้อเริ่มคงที่แต่ยังประมาทไม่ได้ ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือทำเตียงสีแดงว่างมากขึ้น นายกฯ ตรวจเยี่ยม รพ.พระมงกุฎเกล้า-รพ.สนามแสงแห่งใจ ให้กำลังใจผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ตัวเลขสมุทรสาครเริ่มลด ผู้ว่าฯ ปูยันต่ำพันผ่อนปรนมาตรการแน่
ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้แทนรับพระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มอีก 1 คัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อกระทรวงสาธารณสุขและประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงห่วงใยและติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ซึ่งรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยที่ได้พระราชทานในวันนี้ มูลนิธิไทยพึ่งไทย (สมพล-เรณู เกยุราพันธุ์) และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยให้แก่กระทรวงสาธารณสุขแล้วจำนวน 36 คัน, รถต่อพ่วงชีวนิรภัย จำนวน 6 คัน และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จำนวน 5 คัน สำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการให้บริการเก็บตัวอย่างโรคโควิด-19 แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล ทั้งนี้ ปัจจุบันรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย, รถต่อพ่วงชีวนิรภัย และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทาน ยังคงให้บริการประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงเรียน วัด และชุมชนแออัด
ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,851 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 19,516 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,125 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,391 ราย และมาจากเรือนจำ 325 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,009,710 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 20,478 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 795,805 ราย อยู่ระหว่างรักษา 205,079 ราย อาการหนัก 5,388 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,161 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 240 ราย เป็นชาย 129 ราย หญิง 111 ราย อยู่ใน กทม.มากสุด 75 ราย รองลงมาคือ สมุทรสาคร 27 ราย โดยมีเด็กเสียชีวิต 2 ราย คือ 2 ขวบที่ จ.ปทุมธานี และ 7 เดือนที่ จ.สมุทรสาคร ทำให้ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 8,826 ราย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 25 ก.ค.-19 ส.ค. มีทั้งสิ้น 4,656 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 2,969 ราย คิดเป็น 63.8% ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์ 316 ราย คิดเป็น 7% ก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 4 สัปดาห์ 118 ราย คิดเป็น 2.6% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มก่อนวันเริ่มป่วยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 26 ราย คิดเป็น 0.6% และมีข้อมูลไม่ครบถ้วน 874 ราย คิดเป็น 19.2% ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 210,845,425 ราย เสียชีวิตสะสม 4,417,385 ราย
ยอดติดเชื้อเริ่มคงที่
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า หากดูทิศทางการติดเชื้อรายวัน จะเห็นว่าผู้ติดเชื้ออยู่ กทม.และปริมณฑล 41% พื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่เหลือ 59% มีแนวโน้มคงที่ กราฟผู้ติดเชื้อไม่ได้สูงชันเหมือนก่อนหน้านี้ แต่ยังประมาทไม่ได้ เพราะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 4,181 ราย, สมุทรสาคร 1,556 ราย, ชลบุรี 1,348 ราย, สมุทรปราการ 1,055 ราย, นครราชสีมา 575 ราย, สระบุรี 494 ราย, ปทุมธานี 461 ราย, นครปฐม 460 ราย, พระนครศรีอยุธยา 453 ราย, ระยอง 414 ราย
ทั้งนี้ ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกัน ทำให้การรอเตียงสีแดงในสัปดาห์นี้เริ่มเห็นเป็นความหวังได้ จากการพัฒนาระบบโฮมไอโซเลชัน (HI) และคอมมูนิตีไอโซเลชัน (CI) เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ทำให้เตียงสีแดงหรือเหลืองเข้มในโรงพยาบาลต่างๆ ว่างขึ้น และยังทำให้ผู้ป่วยภาวะรุนแรงเข้าถึงเตียงได้มากขึ้น โดยอัตรารอเตียงผู้ป่วยสีแดงที่รอเตียงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีน้อยลง เราพยายามทำให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว จึงต้องขอขอบคุณบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการเปิด CI โดยปัจจุบัน กทม.มีสูงถึง 70 แห่ง รองรับได้ 9,426 เตียง โดยในจำนวนนี้มีถึง 14 แห่งที่สามารถตรวจคัดกรองแบบ RT-PCR ได้ และมีถึง 7 แห่งที่สามารถดูแลผู้ป่วยสีเหลืองได้ รวม 1,036 เตียง ทำให้โรงพยาบาลสนามที่ดูแลผู้ ป่วยสีเขียวก่อนหน้านี้สามารถดูแลผู้ป่วยสีเหลืองอ่อนและสีเหลืองเข้มได้ อย่างไรก็ตาม อัตราการครองเตียงทั่ว กทม. 132 แห่ง ยังค่อนข้างเต็ม แต่ทิศทางหลังจากนี้จะเห็นเตียงรองรับผู้ป่วยสีแดงได้มากขึ้น ขณะที่ HI ในพื้นที่ กทม.ขณะนี้ มีหน่วยดูแลผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน 262 หน่วย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในเว็บไซต์ Koncovid.com ได้อัปเดตข้อมูลเพิ่มเติม CI เพื่อให้เห็นชัดในกรณี CI ผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ เช่น กลุ่มที่จำเป็นต้องมีการฟอกไต ผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด ผู้ป่วยระยะท้ายเช่นเป็นโรคมะเร็ง รวมทั้งเด็กพิเศษและครอบครัว อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำว่าข้อมูลที่รายงานทั้งหมดนี้อาจจะยังมีข้อผิดพลาดข้อบกพร่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการอัปเดต CI หรือฮอสพิเทลนั้นปรับเปลี่ยนเร็วมาก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีภาพที่งดงามเกิดขึ้นเรียกว่า เทมเพิลไอโซเลชัน (Temple Isolation) เป็นการดูแลอีกหนึ่งคอมมูนิตีไอโซเลชัน ในลักษณะที่พระสงฆ์หรือวัดเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในคอนเซ็ปต์ "พระไม่ทิ้งโยม" ถือเป็นความร่วมมือที่น่ารักของสังคม พระสงฆ์ได้ลงมือปรุงอาหารเป็นรสพระทำอย่างแท้จริง
"ท้ายนี้ขอฝากเรื่องการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว วัดภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว แต่ก็ยังคงต้องระมัดระวังตัว การ์ดตกไม่ได้ เพราะขณะนี้มีทิศทางมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิตทรงตัว และเรากำลังหวังว่าตัวเลขจะดีขึ้นทุกวันๆ อย่างไรก็ตาม อย่าให้เกิดความผิดพลาดในช่วงสุดท้ายที่เราจะคงต้องร่วมมือต่อไป" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ
ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางไปตรวจเยี่ยมหอผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมตรวจเยี่ยม โดยนายกฯ ได้สอบถามถึงการดำเนินงานและความพร้อมของเครื่องมือต่างๆ พร้อมให้กำลังใจทุกคนอย่าท้อแท้ เป็นกำลังใจให้กันและกัน
นายกฯ ให้กำลังใจผู้ป่วย
จากนั้นนายกฯ และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารับการรักษาแล้วประมาณ 400 คน โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เดินทางมาวันนี้เพื่อให้กำลังใจกับทุกคนที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลภาครัฐเช่นกัน ถือเป็นความร่วมมือที่ยอดเยี่ยมของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งรัฐบาลและ ศบค. ยังได้ให้มีระบบการดูแลที่บ้านและในชุมชน HI และ CI ด้วย ขณะที่การวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไทยก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก คาดว่าภายในปีหน้าจะเกิดผลเป็นรูปธรรม ไทยจะมีวัคซีนเป็นของตนเองใช้ในประเทศไทย ขอฝากความห่วงใยถึงทุกคน แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ขอให้ระมัดระวัง ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ต่อมานายกฯ ยังตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองและลงทะเบียนผู้ป่วยฯ และรับชมการสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์ปิ่นโต และแอปพลิเคชันไข่ต้มฮอสพิทอล ซึ่งใช้สำหรับในการส่งสิ่งของ ยา อาหารและเวชภัณภ์ให้ผู้ป่วย พร้อมตรวจเยี่ยมโรง พยาบาลสนามแสงแห่งใจ ผ่าน Command Center โดยสอบถามอาการและให้กำลังใจผู้ป่วยผ่านระบบ Telehealth โดยผู้ป่วยแจ้งว่าตนเองได้เข้าสู่ระบบการรักษาเมื่อวันที่ 19 ส.ค.และอาการดีขึ้นแล้ว และขอขอบคุณนายกฯ ที่มาให้กำลังใจ
ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่าเดินทางถูกทางหรือไม่นั้นว่า ยอมรับการระบาดในไทยค่อนข้างวิกฤติ แม้เป็นวันแรกในรอบหลายสัปดาห์ที่ผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 2 หมื่นคน แต่ยังวางใจไม่ได้ เรารับความเห็นแตกต่างให้เกิดมุมมองหลากหลาย แต่ต้องไม่แตกแยก เราน้อมรับคำวิจารณ์จากทุกภาคส่วน แล้วมานั่งคุยกันบนหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุด ถ้าร่วมแรงร่วมใจจะฝ่าวิกฤติไปได้
ที่ จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,556 ราย เสียชีวิต 21 ราย ทั้งนี้ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดมา 4 วันแล้ว ตามนโยบายพลิกฟื้นสมุทรสาคร ตั้งเป้าลดระดับผู้ติดเชื้อให้ไม่เกินวันละ 1,000 คน เหลือหลักร้อยให้ได้ภายในเดือนนี้ เชื่อว่าผู้ติดเชื้อสมุทรสาครได้ผ่านจุดพีกสูงสุดไปแล้ว และหากเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราจะได้มีการผ่อนผันมาตรการที่เข้มงวดลงบางอย่างให้กับประชาชนได้ใช้ชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วยกัน
ที่ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,055 ราย เสียชีวิต 13 ราย อายุระหว่าง 36-84 ปี มีโรคประจำตัวทุกราย รวมเสียชีวิตสะสม 631 ราย ส่วนผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่รวม 64,2340 ราย ส่วนความคืบหน้าคลัสเตอร์เคี้ยวหมากกรณีคุณยายวัย 75 ปี ชาวบ้านโคกบัว หมู่ที่ 10 ต.โคกขมิ้น อ.พลับพลาชัย จับกลุ่มเคี้ยวหมากในงานศพเดินพบปะผู้คนไปทั่วจนมีผู้ติดเชื้อ 15 คน เสี่ยงสูง 119 คน เสี่ยงต่ำอีกกว่า 150 คนนั้น ปรากฏว่าล่าสุดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 4 ราย
ที่ จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่นิวไฮ 322 คน เสียชีวิต 1 คน ผู้ป่วยสะสม 17,376 คน เสียชีวิต 94 คน
ที่ จ.ภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ออกคำสั่งปิดท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต รวมทั้งมีมาตรการคุมเข้มท่าเทียบเรือประมงเอกชนและมาตรการควบคุมเรือประมงพาณิชย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.-2 ก.ย.2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด หลังพบมีแรงงานประมงออกนอกบริเวณท่าเรือไปทำกิจกรรมกับบุคคลอื่นจนทำให้เกิดการติดเชื้อ
ที่ จ.ยะลา บริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย อ.เบตง เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มในการเข้า-ออกพรมแดนตลอดแนวชายแดน โดยจัดกำลัง ตชด.และทหารหน่วยป้องกันชายแดนที่ 4 ลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่ตลอดแนวรั้วชายแดนโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขา ซึ่งอาจถูกใช้เป็นช่องทางให้มีการลักลอบเข้ามาทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองและเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำพาโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้เข้ามาแพร่ระบาดในไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |