คำถามใหญ่ที่รอการวิเคราะห์จากหลากหลายแหล่งข้อมูลและมุมมองคือ: สหรัฐฯ แพ้ตอลิบันในอัฟกานิสถานได้อย่างไร?
เป็นคำถามเดียวกับที่เคยมีการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางเมื่อ กว่า 40 ปีก่อนว่า มหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯ ไฉนจึงพ่ายแพ้เวียดนามเหนือที่มีกองกำลังและเงินทองน้อยกว่าหลายร้อยเท่า?
คำตอบที่เหมือนกันก็มี ที่ต่างกันก็ไม่น้อย
แต่ความละม้ายที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ ทั้งเวียดนามเหนือ (และเวียดกงที่ใช้สงครามแบบจรยุทธ์สู้กับเครื่องบินถล่มทางอากาศอย่าง B-52) และนักรบตอลิบันมีความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณของการกู้ชาติมากกว่าทหารอเมริกันที่ถูกส่งมาเพียงเพื่อทำสงครามในรูปแบบตามตำราเท่านั้น
ในทั้งสองกรณี สหรัฐฯ ไม่มีความเข้าใจถึงจิตใจลึกๆ ของชาวบ้าน ไม่รู้ซึ้งถึงพลังแห่งความรักชาติและความ “อึด” ของคนท้องถิ่นในการปักหลักสู้กับกองกำลังที่มีจำนวนคนและอาวุธที่เหนือกว่า
ที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลทั้งที่เวียดนามใต้ในอดีตและในอัฟกานิสถานตลอด 20 ปีที่ผ่านมาขาดความซื่อสัตย์สุจริตและความโปร่งใส
รัฐบาลที่สหรัฐฯ เป็นผู้กำกับให้เดินตามครรลองแบบที่ตนต้องการนั้นล้วนมีเรื่องทุจริตและโกงกินกันอย่างมโหฬาร
ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อ้างเสมอว่าอเมริกาได้ใช้เงินและทรัพยากรมโหฬารสร้างกองทัพอัฟกันที่มีจำนวนกว่า 300,000 คนนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ มีตัวตนจริงหรือไม่
หรือมีเพียง “บัญชีผี” ที่ปรากฏเฉพาะในเอกสารเพื่อเบิกเงินเดือนและค่าใช้จ่ายเท่านั้น
ที่สำคัญคือ งบประมาณกว่า 8 หมื่น 3 พันล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ ทุ่มเท (คือส่วนหนึ่งของงบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่อเมริกาใช้ในสงครามและโครงการช่วยพลิกฟื้นอัฟกานิสถาน) นั้น ผู้ได้ประโยชน์กลับเป็นกลุ่มตอลิบันมากกว่า
เพราะอาวุธและอุปกรณ์การทำสงครามชั้นดีทั้งหลายของสหรัฐฯ ที่ลงทุนให้กองทัพอัฟกันนั้น กลับตกไปอยู่ในมือของนักรบตอลิบัน
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมอเมริกันรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนามแจ้งกับสำนักข่าว AP ว่า ระหว่างการรุกคืบของตอลิบันในการยึดเมืองเอกต่างๆ ของฝ่ายรัฐบาลนั้น ตอลิบันสามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ของอเมริกันได้จำนวนมหาศาล
นักวิเคราะห์ทั้งในรัฐบาลและนักยุทธศาสตร์คงจะพยายามหาคำตอบให้ได้ว่า ความผิดพลาดครั้งนี้มีสาเหตุจากอะไร?
ความล้มเหลวด้านข่าวกรองหรือ
ความล้มเหลวในการประเมินสถานการณ์หรือ
ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามแผนหรือ
ความผิดพลาดในการใช้ดุลยพินิจทั้งในสมรภูมิและในศูนย์บัญชาการรบ (วอร์รูม)
ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า บทเรียนจากการ “ล่มสลาย” ของรัฐบาลอัฟกานิสถานมีความละม้ายกับบทเรียนที่สหรัฐฯ ได้จากสงครามอิรัก
เหมือนกันตรงที่ว่า ทหารฝั่งรัฐบาลแม้จะมีอาวุธที่อเมริกามอบให้ที่เหนือกว่า แต่ไม่มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทที่จะสู้รบในสมรภูมิอย่างแท้จริง
โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เคยบอกว่า “เงินไม่สามารถซื้อความมุ่งมั่นตั้งใจได้”
เป็นไปได้ไหมว่าในท้ายที่สุดเรื่องของ “ใจ” สำคัญกว่า “อาวุธทันสมัย” แม้ในการทำสงคราม
นายทหารมะกันที่มีประสบการณ์ในสมรภูมิรบต่างประเทศบางคนย้ำว่า ในหลักการทำสงครามนั้นเรื่องขวัญกำลังใจ วินัย และภาวะผู้นำ ประกอบกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหน่วยรบเป็นตัวตัดสินชี้ขาดชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ ได้มากกว่าขนาดของกำลังพลและความทันสมัยของอาวุธด้วยซ้ำไป
ทำให้ผมหันกลับไปพิเคราะห์สถานการณ์การสู้รบที่เวียดนาม ซึ่งก็มีปัจจัยที่ละม้ายคล้ายกัน
สหรัฐฯ ให้เงินและอาวุธกับรัฐบาลเวียดนามใต้อย่างมากมายได้ แต่สิ่งที่วอชิงตันให้ไม่ได้คือจิตใจที่องอาจกล้าหาญ พร้อมจะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของนักรบ
ซึ่งต้องมาจากคนท้องถิ่นที่มีความมุ่งมั่นจะต่อสู้เพื่อความภาคภูมิและศักดิ์ศรีของชาติตนเท่านั้น
ย้อนกลับไปในกรณีของการสู้รบระหว่างกองกำลังเดินป่าของเหมาเจ๋อตงกับเจียงไคเช็คของจีนที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มพิกัดจากสหรัฐฯ
ท้ายที่สุดเหมาชนะเพราะใช้วิธีสู้แบบจรยุทธ์ที่ชนะใจประชาชนในชนบท ปลุกเร้าความรักชาติและต่อต้านการโกงกินและบริหารแบบเผด็จการของเจียงไคเช็ค
บทเรียนทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่ที่น่าแปลกใจคือ ผู้นำการเมืองระดับโลกไม่เคยนำเอาข้อผิดพลาดในอดีตมาแก้ไขเพื่อป้องกันความล้มเหลวซ้ำซากได้เลย
วิชาประวัติศาสตร์จึงต้องเป็นวิชาบังคับสำหรับนักการเมืองทุกคนจริงๆ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |