ศาลปกครองกลาง พิพากษายกฟ้องคดี "บิ๊กโจ๊ก" ยื่นฟ้องนายกฯ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปมไม่พิจารณาให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
20 ส.ค.64 - ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีที่พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง)
ต่อมา ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 จำนวนสองฉบับ ฉบับแรกทำถึงนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทบทวนและมีคำสั่งใหม่ให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฉบับที่สองทำถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาล
ศาลพิจารณาแล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยรวมสองประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น เห็นว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) เป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีหรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ซึ่งงานในหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีลักษณะงานเทียบเท่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง แต่งานในหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) มีเพียงเล็กน้อย ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งของผู้ฟ้องคดีเมื่อเทียบกับผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง
ตลอดจนในขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการปฏิรูปราชการแผ่นดินแล้วกำหนดตำแหน่งหน้าที่อื่นให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่อย่างใด อีกทั้งขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ผู้ฟ้องคดีไม่ได้อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชา
จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีเหตุจำเป็นที่จะดำรงตำแหน่งในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เสนอเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอโอนกลับไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานเดิมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา
และในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีเนื้อหาใจความทำนองเดียวกันกับหนังสือ ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เพื่อให้พิจารณาเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดเดิม กรณีจึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้พิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
ส่วนกรณีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 แล้ว รวมทั้งได้รับความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ข้างต้นแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องพิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดี ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้มีคำสั่งว่าผู้ฟ้องคดีมีความจำเป็นหรือไม่มีความจำเป็นที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) กรณีจึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีด้วย
แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้พิจารณาสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562
และต่อมาผู้ฟ้องคดีได้โอนกลับไปรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ 9) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงหมดสิ้นไป ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไปดำเนินการเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมได้อีกตามนัยมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 ใหม่ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น เห็นว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามข้อ 5 และให้ผู้ฟ้องคดีขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เป็นคำสั่งที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ดังนั้น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองตามคำนิยามของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาใหม่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามนัยมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาใหม่ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
พิพากษายกฟ้อง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |