คลังเผยไม่เซอร์ไพรส์ "เฟด" ขยับดอกเบี้ยเพิ่ม 0.25% แจงเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เชื่อไม่ส่งผลกระทบดัชนีหุ้นไทย เงินไม่ไหลออกมากนัก เหตุผลตอบแทนยังแรง ส.อ.ท.รับกดดันตลาดทุนไทย หวั่นส่งผลลดการลงทุนจากต่างชาติ จับตา กนง.ขึ้นดอกเบี้ยตามกระทบผู้ประกอบการ ขณะที่หุ้นไทยแดงทั้งกระดาน ดิ่งต่ำสุด 18.68 จุด ค่าบาทปิดตลาด 32.14 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ด้านราคาทองปรับขึ้น 100 บาท
เมื่อวันพฤหัสบดี นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 1.75-2% ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงไม่ค่อยมีผลต่อตลาดหุ้นมากนัก แต่ตามธรรมชาติ เมื่อดอกเบี้ยมีการขึ้น ดัชนีหุ้นจะลง เพราะนักลงทุนจะ หันไปลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย ยังให้ผลตอบแทนที่จูงใจนักลงทุนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ แต่ในอนาคตก็จะมีการปรับขึ้นให้เหมาะสม เพราะจากอดีตจนปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐจะเติบโตกันอย่างคู่ขนานกันมาตลอด แต่ขณะนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐปรับขึ้นมากกว่าไทยแล้ว คือ 1.75% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.50% แต่ยังไม่สูงพอที่ ธปท. จำเป็นต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยตาม
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย อาจจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในส่วนของเงินเหรียญสหรัฐแข็งขึ้นมาบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็จะส่งผลตลาดทุนในประเทศไทยเกิดความกดดัน และอาจ จะมีการลงทุนที่น้อยลงสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ อาจจะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับดอกเบี้ยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากมีผลจริง ก็จะส่งผลให้บางธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศอยู่นั้น ก็จะมีต้นทุนที่สูงตามไปด้วย และจะส่งผลกระทบแน่นอนกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือขายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ด้านส่งออกต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนของค่าเงินบาทว่าจะอ่อนลงหรือไม่ ถ้าอ่อนลงก็จะมีผลกระทบน้อย
"เศรษฐกิจระดับล่างของประเทศยังไม่ค่อยดีนัก ก็ยังไม่อยากให้ปรับดอกเบี้ยของ กนง. ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง แต่จะสามารถตรึงได้อีกนานแค่ไหน ต้องติดตามการเคลื่อนไหวของเฟดในระยะต่อไป” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงข่าวหลังการประชุมของคณะกรรมการ FOMC 2 ว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่ตลาดส่วนใหญ่ได้คาดไว้ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนนโยบายที่สำคัญจาก มาตรการเดิมที่ได้ใช้มานานในการต่อสู้รับมือกับภาวะวิกฤติการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปี 2007-2009
การที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายประเภทข้ามคืนไปอยู่ในช่วง 1.75-2.00% ถือเป็นการยกเลิกนโยบายเดิมที่ได้ใช้มานานในการกำหนดให้ดอกเบี้ยยืนอยู่ในระดับที่ต่ำพอที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเฟดจะยอมปล่อยให้อัตราเงิน เฟ้อปรับขึ้นอยู่เหนือระดับ 2% ได้อย่างน้อยไปถึงปี 2020
"เศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในสภาพที่ดีมาก พร้อมระบุว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่ต้องการหางานทำสามารถทำได้ตามต้องการ ในขณะที่อัตราว่างงานและเงินเฟ้อก็ยืนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้ภาพรวมของแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในสภาพที่ดี"
ประธานเฟดกล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ และอย่างต่อเนื่อง จะเอื้อต่อการขยายตัวของจีดีพี ในขณะที่เฟดกำลังเดินก้าวมาถึงจุดที่สามารถบรรลุเป้านโยบาย ส่วนใหญ่ทางด้านการจ้างงานและเงินเฟ้อ โดยที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะรับมือกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นโดยที่ไม่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไป
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมเฟด เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ส่งผลให้ภาพรวมเป็น 1.75-2.00% จาก 1.50-1.75% ถือเป็นตามที่ตลาดคาดไว้ แต่การที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 62 ทำให้ตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนในแดนลบตั้งแต่เปิดตลาดทันที โดยระหว่างวันปรับลดสูงสุดที่ 18.68 จุด อยู่ที่ 1,699.66 และดัชนีปิด ตลาดที่ 1,709.86 จุด ลดลง 8.48 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -0.49% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 59,741.75 ล้านบาท
ขณะที่อัตราค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 32.14 ต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนราคาทองคำในประเทศ ปรับขึ้น 100 บาท ส่งผลให้ราคาทองคำแท่ง รับซื้อที่ 19,750 บาท ขายออกที่ 19,850 บาท ส่วนราคาทองคำรูปพรรณ รับซื้อที่ 19,389.64 บาท ขายออกที่ 20,350 บาท
รายงานข่าวจากกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% นับเป็นครั้งที่ 7 ของการคุมเข้มนโยบายการเงิน ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ธ.ค.58 และคาดว่าเฟดจะ ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน ก.ย.61 โดยธนาคารยังมีมุมมองค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยภาพรวมตลาดและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้น
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และเปลี่ยนมุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จาก 3 ครั้งเป็น 4 ครั้ง มองว่ายังไม่กระทบกับไทยมากนัก เนื่องจากฐานะการเงินของไทยยังมั่นคง มีหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างชาติอยู่ที่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าเงินทุนสำรองที่อยู่ที่ 207,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะไม่ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รุนแรงเหมือนกับช่วงปี 56
สำหรับการประชุมเฟดครั้งนี้ ยังมีข้อดีคืออัตราดอกเบี้ยระยะยาวของเฟดอยู่ที่ 2.9% ยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้น ทำให้ตลาดเกิดใหม่คลายกังวลลงได้ ส่วน ธปท. คาดว่ายังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ เช่น บัญชีเงินสะพัดยังเกินดุล และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนค่าเงินบาทได้ผ่านจุดที่แข็งค่าที่สุดไปแล้ว
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับลดลง ภายหลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ และจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง เป็น 4 ครั้งในปีนี้ แต่มีแรงกดดันเพิ่มจากแนวโน้มการปรับขึ้นที่เข้มข้น เพราะมุมมองเศรษฐกิจ ตัวเลขการว่างงาน การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ตลาดตกใจและเกิดการเทขายออกมา
"ภาพรวมตลาดเกิดใหม่ยังคงมีเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง โดยมาจากการลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เพื่อย้ายเงินลงทุนไปตลาดหุ้นจีน ส่วนเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง เงินสำรองอยู่ในระดับสูง ภายหลังจากหลายหน่วยงานมีแนวโน้มจะปรับประมาณการจีดีพีไทยเพิ่มขึ้น โดยยังคงคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,898 จุด" นายประกิต กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |