คุกตลอดชีวิตสาธิต-สิริพงศ์ ร่วมทุจริตคืนภาษี‘25บริษัท’


เพิ่มเพื่อน    

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุกตลอดชีวิต "สาธิต รังคสิริ" อดีตอธิบดีสรรพากร กับ "สิริพงศ์" ลูกน้อง ร่วมทุจริตฯ อนุมัติคืนภาษี 25 บริษัท ชี้ทราบดีถึงความเท็จตั้งแต่ต้น แต่กลับรู้เห็นเป็นใจร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต ให้ริบทองเเท่งของกลางเเละร่วมกันชดใช้ความเสียหายกว่า 3 พันล้าน ส่วนจำเลยที่ 3 สนับสนุนโดน 6 ปี 8 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 4
    เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 126/2562 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร, นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22,นายประสิทธิ์ อัญญโชติ, นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ
    โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 พ.ค.2555 ถึงวันที่ 26 ต.ค.2556 พวกจำเลยร่วมและสนับสนุนการกระทำความผิด คือร่วมกันขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแสดงข้อความเท็จหลอกลวงกรมสรรพากร เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรและรัฐโดยทุจริต
    จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ทราบดีถึงความเท็จดังกล่าวมาแต่ต้น แต่กลับรู้เห็นเป็นใจด้วยการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต โดยจำเลยที่ 2 ได้ใช้อำนาจของตนสั่งการให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสถานประกอบการเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้พิจารณาเสนอความเห็นยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพกิจการของบริษัท จำนวน 25 บริษัท ที่ขอคืนภาษีและคืนภาษีให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ทั้งที่ยังมีข้อสงสัยว่าเป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่
     โดยจำเลยที่ 2 ละเว้นไม่สั่งการให้มีการตรวจสอบสถานประกอบการ ไม่สั่งการให้ตรวจสอบการซื้อขายสินค้าวัตถุดิบการเก็บรักษาสินค้า การจ้างแรงงาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน ทั้งยังเร่งรัดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอสำนวนการตรวจสภาพกิจการอันเป็นการผิดระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจปฏิบัติการ พ.ศ.2554 ประกอบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในหลายกรณี รวมถึงสั่งระงับทำให้ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าใบกำกับภาษีและใบส่งสินค้าออกต่างประเทศที่นำมาใช้อ้างแสดงเป็นหลักฐานนั้นเป็นเอกสารแท้จริงหรือไม่อีกด้วย 
    พฤติการณ์ของจำเลยกับพวก จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งนั้นไม่มีสิทธิ์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นการฉ้อฉลนั้นถูกปกปิด จนที่สุดจำเลยที่ 2 ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งจำนวนหลายครั้ง ในการนี้ นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และนายกิติศักดิ์ อัญญโชติ กับพวกได้มารับเอาเงินจำนวนตามที่ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าวไปแบ่งปันกันโดยทุจริตกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้นำเงินบางส่วนที่ได้รับแบ่งปันโดยทุจริตไปซื้อทรัพย์สินเป็นทองคำแท่งไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว
    พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม), 151 (เดิม) และ 157 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยที่ 1 เเละ 2 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตลอดชีวิต
    จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) 265 (เดิม), 268 (เดิม), 341 (เดิม) ประมวลรัษฎากรมาตรา 90/4 (3) (6(เดิม)) (7) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 กระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน
    ให้จำเลยที่ 1, 2 เเละ 3 ร่วมกันชดใช้เงิน 3,097,016,533 บาทแก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง นับโทษของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฟย. 23/2560 หมายเลขแดงที่ ฟย.47/2561 ของศาลอาญา ริบของกลางทองคำแท่งน้ำหนัก 77 กิโลกรัมและทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ ตามคำขอท้ายฟ้อง  และทองคำแท่งทุกรายการที่ส่งมอบแก่คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินเมื่อ 15 พ.ย.2562 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยที่ 1-2 ที่ยื่นประกันตัวนั้น จำเลยที่ 1 ใช้เงินสด 800,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์เดิมขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งต่อไป ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยื่นประกัน
    โดยหากครบเวลาราชการเเล้วศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งประกันลงมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็จะคุมตัวจำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"