สู้โควิดแบบสงบ 31สค.คลายล็อก


เพิ่มเพื่อน    

“บิ๊กตู่” ลงพื้นที่ตรวจงานแยกกักตัวที่บ้านและวัคซีนฝีมือคนไทย  หวังทำไทยอยู่กับโควิดด้วยความสงบ  บอกไม่สงบจะอยู่ไม่ได้วุ่นวายร้อนรุ่มทำให้เป็นปัญหาในการทำงาน ย้ำ 31 ส.ค.มีคลายล็อกแน่ แต่ต้องขึ้นกับตัวเลข ศบค.แจงมีผู้ติดเชื้อใหม่อีก 20,902 ราย ดับเกิน 300 เป็นวันที่สอง กระจายไปแทบทุกจังหวัด สธ.แจงหลัง 20 ก.ค.ยอดติดเชื้อใหม่ต่างจังหวัดแซงหน้า กทม.แล้ว กรมอนามัยรับห่วงหญิงมีครรภ์ หลังล่าสุดสังเวยโควิดอีก 3 ราย ชี้มีความเสี่ยงทั้งแม่และเด็กกว่าคนปกติ 3 เท่า แนะเร่ง ATK ตรวจสอบ
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม ในเวลา 10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบการดูแลและติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) และผู้ป่วยที่ดูแลที่บ้านผ่านระบบ TeleHealth และการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 (ชนิด mRNA) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 
    โดยทันทีที่นายกฯ มาถึงได้ทักทายผู้บริหารที่มาต้อนรับ ก่อนเยี่ยมชมนิทรรศการและฟังบรรยายสรุประบบการดูแลและการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบการแยกกักตัวที่บ้าน และผู้ป่วยที่ดูแลที่บ้านผ่านระบบ TeleHealth โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นมาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ในการมีการระบบ HI ส่วนไหนที่มีการแพร่ระบาดหนักจะเป็นระบบ Bubble and Seal ซึ่งในระบบ HI จะช่วยลดความแออัด ซึ่งไม่อยากเห็นภาพผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไหนเขาก็ไม่รับ หากโรงพยาบาลไหนรับไม่ได้ ก็ต้องพูดเหตุผลกับประชาชนด้วยว่าเป็นเพราะอะไร 
“ผมก็อยากรู้มีโรงพยาบาลไหนไม่รับผู้ป่วย จะไม่รับอะไรเลยมันไม่ได้ จะต้องหาทางไปให้ได้ ไม่ว่าจะไปอยู่หน่วยคัดกรอง หน่วยแรกรับหรือโรงพยาบาลสนาม ก็ว่ากันไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถึงตอนนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข รีบชี้แจงว่า ขณะนี้ดีขึ้นแล้ว โดยก่อนหน้านี้ถ้าเข้าตรวจโรงพยาบาลไหน โรงพยาบาลนั้นต้องรักษา นายกฯ จึงหันไปถามแพทย์ว่าตอนนี้ตัวเลขนิ่งและผู้รักษาหายเพิ่มมากขึ้นแล้วใช่หรือไม่ โดยแพทย์รายงานว่า ใช่ สังเกตได้จากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่แต่ก่อนแน่นมาก ตอนนี้เบาลง นายกฯ จึงกล่าวว่า ขอบคุณ ขอบคุณมากมาย แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง
    จากนั้น นายกฯ ได้มอบถุงยังชีพหรือกล่อง อว.พารอด ที่มีอุปกรณ์การแพทย์ที่จะส่งให้ผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านและชุมชน โดยนายกฯ ได้ลองใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จากนั้นหันไปถามแพทย์ตัวเลขพอใจไหม ใช้ได้ไหม ก่อนยิ้มและกล่าวว่า "หัวใจผมเต้นแรงไปหน่อย" จากนั้นทดลองพูดคุยสอบถามให้กำลังใจกับผู้ป่วยที่รักษาที่บ้านผ่านระบบ TeleHealth 
ต่อมาที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบการดูแลและติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ใน HI และการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยท่าทีเนือยๆ ว่า วันนี้มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และจากการคุยกับคณะหมอ สิ่งสำคัญต้องดูว่าสถานการณ์ช่วงล็อกดาวน์เป็นอย่างไร คงไม่ถึงกับทุกกิจกรรม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าบางกิจกรรมที่เปิดคนก็ไม่กล้ามากัน เพราะกลัวติดเชื้ออะไรทำนองนี้ เราก็ต้องดูแลตัวเองกันให้ดี ในส่วนที่รัฐบาลต้องดูแลก็จะทำให้ดีที่สุด สถานการณ์วันนี้ แม้แต่ในโลกสถานการณ์ก็ยังมีปัญหาเยอะพอสมควร
หวังไทยสู้โควิดแบบสงบ
    "สถานการณ์วัคซีนก็เยอะ แต่เราไม่ท้อแท้หรอก เราจะร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วที่สุด ขอบคุณบุคลากรทุกคน ทั้งในส่วนของรัฐบาล กระทรวง รัฐมนตรี และรองนายกฯ ทุกท่าน รัฐบาลต้องมองไปข้างหน้าหลายวันที่ผ่านมา ผมอาจไม่ได้ออกมาพบสื่อ เพราะต้องแก้ปัญหาอย่างอื่นไปด้วย ไม่ได้แก้ปัญหาโควิดอย่างเดียว ยังมีปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ แต่วันนี้ก็อยากมาดูความก้าวหน้า และรับเรื่องที่ต้องการให้สนับสนุนในระยะต่อไป ผมก็รับเรื่องทั้งหมด วันนี้เราจะต้องทำอย่างไรให้ประเทศไทยอยู่กับโควิดให้ได้ด้วยความสงบ ถ้าเราไม่สงบมันก็อยู่ไม่ได้ มันจะวุ่นวายร้อนรุ่มไปหมด และทำให้เป็นปัญหาในการทำงาน วันนี้มาให้กำลังใจ และขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน และฝากไปถึงที่อื่นด้วย”
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้มันเกิดหลายอย่าง แต่ถ้าเรามองสถานการณ์ติดเชื้อการแพร่ระบาด การเสียใจไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่วันนี้สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือเราจะมีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม ถ้าเราสามารถดำเนินการได้อย่างที่ได้ทำกันในตอนนี้ ทำแบบครบวงจรทั้งระบบ มันจะเตรียมการรับสถานการณ์โรคระบาดในอนาคตได้ นั่นคือเรามองวิสัยทัศน์ในภายภาคหน้า และเราจะเดินหน้าเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งก็ต้องดูควบคู่กันไป วันนี้กำลังให้พิจารณาอยู่ว่า หลังวันที่ 31 ส.ค.นี้ ขึ้นอยู่กับตัวเลขและผลการทำงานว่าจะไปได้อย่างไร เพียงแต่ขอความร่วมมือจากประชาชน นั่นก็คือในเรื่องใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และอย่าไปทำกิจกรรมอะไรที่เขาไม่ให้ทำ มันเป็นภาระที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมาเสียแรง เสียเวลา และมีโอกาสติดเชื้อไปที่อื่น 
    ขณะเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,902 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,730 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,885 ราย,  มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,845 ราย และมาจากเรือนจำ 148 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 24 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 989,859  ราย หายป่วยเพิ่มเติม 22,208 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 775,327 ราย อยู่ระหว่างรักษา 205,946 ราย อาการหนัก 5,439 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,168 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 301 ราย เป็นชาย 171 ราย หญิง 130 ราย อยู่ใน กทม.มากสุด 79 ราย รองลงมาคือ ลพบุรี 22 ราย, สมุทรปราการ 21 ราย, ชลบุรี 20 ราย, พระนครศรีอยุธยา 16 ราย, สมุทรสาคร 15 ราย, ปทุมธานี 11 ราย, สระบุรี 10 ราย, นนทบุรี 9 ราย, อ่างทอง 8 ราย และตาก 7 ราย นอกจากนั้นก็กระจายไปในจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่ 1-6 รายเกือบครบทุกจังหวัด 
นอกจากนี้ พบผู้เสียชีวิตที่บ้าน 4 ราย อยู่ที่ จ.ลพบุรี 2 ราย, จันทบุรี 1 ราย และกทม. 1 ราย นอกจากนี้ ยังพบผู้เสียชีวิตเป็นหญิงตั้งครรภ์ 3 ราย อยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ตราด และยะลา รวมถึงมีพยาบาลเสียชีวิต 1 ราย โดยพยาบาลราย ดังกล่าวได้รับวัคซีนซิโนแวคสองเข็มไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 ทำให้ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 8,586 ราย ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 19 ส.ค. ได้แก่ กทม. 4,392 ราย, สมุทรสาคร 1,739 ราย, ชลบุรี 1,322 ราย, สมุทรปราการ 937 ราย, นครปฐม 644 ราย, นครราชสีมา 639 ราย, ราชบุรี 585 ราย, นนทบุรี 495 ราย, สระบุรี 481 ราย และฉะเชิงเทรา 472 ราย 
ผู้ป่วยใหม่ ตจว.แซง กทม.
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้กว่า 20,000 คน แบ่งเป็นในพื้นที่ กทม. 8,600 คน น้อยกว่าในพื้นที่ 67 จังหวัดจำนวน 11,300 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย.-19 ส.ค. อยู่ที่ 960,000 คน และพบยอดผู้เสียชีวิตเกิน 300 คน ในจำนวนนี้รวมยอดผู้เสียชีวิตตกหล่น 30 คนด้วย โดยในพื้นที่ กทม.มีผู้เสียชีวิต 79 คน ปริมณฑล 62 คน ยังคงเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงที่ 171 คน และพบมากสุดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 61%  ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเรื่องอายุและสุขภาพ รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 3 คน พยาบาลอีก 1 คน ส่วนจำนวนผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ใน รพ.จำนวน 205,000 คน แบ่งเป็นอาการหนักปอดอักเสบ 5,400 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,100 คน
     นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า จากสถิติหลังวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ในต่างจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ถึง 58% แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใหม่ยังคงสูงสุดในพื้นที่กรุงเทพฯ 4,300 คน, สมุทรสาคร 1,700 คน, ชลบุรี 1,300 คน และสมุทรปราการ 937 คน รวมไปถึงใน จ.นครปฐม, นครราชสีมา, ราชบุรี, นนทบุรี, สระบุรี และฉะเชิงเทรา ที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 400 คน   
    นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า จากจำนวนหญิงตั้งครรภ์ในไทยกว่า 500,000 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 20,000 คน หรือประมาณ 10% ที่ได้เข้ารับวัคซีนแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เนื่องจากวันนี้มีรายงานการหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดวันนี้ขยับขึ้นมากว่า 2,300 คน เฉลี่ย 50-60 คนต่อวัน และพบว่าจากการคำนวณตัวเลขการเสียชีวิต จะอยู่ในทุกวันเฉลี่ย 2-3 คน ซึ่งมีมารดาเสียชีวิตถึง 53 คน ซึ่งกว่า 50% มาจากการติดเชื้อในครอบครัว และยังพบว่าทารกเสียชีวิตอีก 23 คน หญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อโควิดเมื่อเทียบกับหญิงที่ไม่ได้รับเชื้อ แม้มีอาการไม่แตกต่างกัน รวมไปถึงมีโอกาสเข้ารับรักษาในห้องไอซียูสูงถึง 3 เท่า ใช้เครื่องช่วยหายใจสูงกว่า 3 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตอยู่ที่ 1.5-8 คน ใน 1,000 คน หรือประมาณ 2% ซึ่งปัจจัยเสี่ยงก็คืออายุที่มากกว่า 35 ปี และโรคประจำตัว หากมารดาติดเชื้อโควิดมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบ ทารกก็จะได้รับผลกระทบและมีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดสูงถึง 1.5 เท่า มีโอกาสตายคลอดถึง 3 เท่า หากคลอดได้ก็มีโอกาสติดเชื้อโควิดมากถึง 5 เท่า แต่ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อหญิงตั้งครรภ์หากพบว่าตนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง หรือมีอาการไข้ ไอ หายใจติดขัด เจ็บคอ มีน้ำมูก ควรจบตรวจเบื้องต้นด้วย ATK ทันที 
หลายจังหวัดตัวเลขยังสูง
    ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในต่างจังหวัดนั้น นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการระบุว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 937 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 63,285 ราย และมีผู้เสียชีวิต 21 ราย เป็นเพศชาย 13 ราย และหญิง 8 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 618 ราย ส่วนที่ จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,739 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 25 ราย
จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 280 ราย กระจายใน 20 อำเภอ จากทั้งหมด 23 อำเภอ ที่น่าสนใจคือที่ ต.โคกขมิ้น  อ.พลับพลาชัย ได้พบคลัสเตอร์ยาย วัย 75 ปกปิดข้อมูลลูกหลานกลับจาก กทม. และไม่ยอมกักตัวตามมาตรการ ก่อนไปเคี้ยวหมากในงานศพและเดินพบปะพูดคุยคนไปทั่ว สร้างคลัสเตอร์ยายกินหมาก ทำชาวบ้านและเด็กติดเชื้อโควิด 15 คน เสี่ยงสูงกว่า 100 คน และต้องล็อกดาวน์ถึง 14 วัน ในขณะที่ จ.อำนาจเจริญ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 63 ราย กระจายไป 6 อำเภอ 
ส่วนจังหวัดในภาคใต้นั้น ที่ จ.ชุมพร ได้การตั้งจุดตรวจคัดกรองค้นหาเชิงรุกเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK  ให้กลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและแรงงานต่างด้าวชาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองชุมพร เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 18-20 ส.ค. ส่วนสถานการณ์ในจังหวัดนั้น มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,634 ราย เสียชีวิตสะสม 9 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 1,199 ราย และเหลือผู้ป่วยรักษาอยู่ตามสถานพยาบาลต่างๆ 1,426 ราย
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 221 คน เสียชีวิต 2 คน เสียชีวิตสะสม 93 คน ยอดป่วยสะสม 16,833 คน ขณะนี้รักษาหายแล้ว 14,232 คน ยังนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,729 คน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"