เมื่อวานนี้ได้เขียนถึงข้อเสนอของ ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่ารัฐบาลควรจะต้องกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทเพื่อมาถม “หลุมรายได้” ที่คาดว่าการระบาดของโควิดจะทำให้มากถึง 2.6 ล้านล้านบาททีเดียว
แน่นอนว่าข้อเสนอเช่นนี้ก็ต้องมีคำถามย้อนกลับว่า การกู้เงินเพิ่มจำนวนมากเช่นนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมาหรือ
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติตั้งคำถามนี้และตอบคำถามนี้เองอย่างน่าสนใจ
ตอนหนึ่งของคำแถลงของ ดร.เศรษฐพุฒิวันนั้นได้ตั้งประเด็นและตอบคำถามนี้ว่าอย่างนี้
การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือไม่?
คำตอบของท่านคือ:
ปัจจุบัน เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง ภาครัฐยังมีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก
(1) หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำก่อนโควิด โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 42 ณ ธันวาคม 2562 และเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดประมาณร้อยละ 14 (ร้อยละ 56 ณ มิถุนายน 2564) ซึ่งยังน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 19) และกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เช่น กรีซ (ร้อยละ 25.2)
(2) หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ โดยสัดส่วนหนี้ในประเทศ ณ มิถุนายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 98.2 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด
(3) ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ ไม่เป็นข้อจำกัดต่อภาระทางการคลัง สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทยที่ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ไม่ถึงร้อยละ 1.6 ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย (ร้อยละ 3.2), อินโดนีเซีย (ร้อยละ 6.3), ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.1) และเวียดนาม (ร้อยละ 2.1)
นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ เพราะการประเมินของบริษัทจัดอันดับฯ จะพิจารณาจากประสิทธิผลของมาตรการคลังในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ
ที่ผ่านมา outlook ของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็น stable โดยมีฐานะการคลังและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นจุดแข็ง
ขณะที่ความกังวลของบริษัทจัดอันดับส่วนใหญ่จะอยู่ในประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางของไทย เพราะยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่ม room ของการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP กลับลงมาในระยะข้างหน้า
อาทิ การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ พร้อมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด
สำหรับการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้อง “ตรงจุด” และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน (Conditional transfer) พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน
นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย
เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 1 จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 60 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีกประมาณร้อยละ 0.33 ต่อ GDP
ผมอ่านข้อเสนอของ ดร.เศรษฐพุฒิท่อนนี้เห็นได้เลยว่ากำลังจะเชียร์ให้รัฐบาลแสดง “ความกล้าหาญทางการเมือง” ในภาวะวิกฤติที่ต้องนำรัฐนาวานี้รอดจากพายุร้ายแรงนี้ให้ได้
อะไรที่เคยกลัว อะไรที่เคยมีความ “ละเอียดอ่อนทางการเมือง” หรือ “ที่ไม่สอดคล้องกับแบบประชานิยม” ก็จะต้องทำ
ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้กู้เงินเพิ่มจำนวนมาก หรือการเริ่มพิจารณาวางแผนปรับภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเสริมรายได้ของรัฐ
แต่หากไม่กล้าคิดไม่กล้าทำเรื่องที่ “ยาก” ก็ไม่มีทางรอดเช่นกัน
รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ นี้และสื่อสารกับอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาและด้วยข้อมูลหลักฐานที่พิสูจน์ได้
ในภาวะอย่างนี้ไม่มีมาตรการไหนที่ง่าย
มีแต่แนวทางที่ยากแต่จำเป็น
นั่นคือต้องให้ประชาชนเชื่อว่า “เจ็บแต่จบ” จริงๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |