“กนง.” รับโควิดทุบเศรษฐกิจไทยพังเกินคาด ตลาดแรงงานช้ำหนัก เหตุระบาดรุนแรงยืดเยื้อทำล็อกดาวน์ลากยาว บี้รัฐเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ทั่วถึง ลดผู้ป่วยไม่เกินกำลังสาธารณสุข หวังกิจกรรม ศก.กลับมาฟื้นตัว
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ ทำให้คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ 0.7% และปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.7% โดยปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ขณะที่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ลดลง
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากกว่าที่ประเมินไว้เดิม และมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด โดยการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงที่ใช้เวลา อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่และจำนวนผู้ป่วยวิกฤติเร่งสูงขึ้นเกินระดับที่ศักยภาพของระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการควบคุมการระบาดมีโอกาสที่จะเข้มงวดและยาวนานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนอาจปรับลดลงมากตามแนวโน้มรายได้และส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการบริโภค
“การระบาดที่ยืดเยื้อทำให้การฟื้นตัวมีความแตกต่างกันมากขึ้นในแต่ละภาคเศรษฐกิจ อีกทั้งยังซ้ำเติมให้ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เห็นสัญญาณการลดชั่วโมงทำงาน อีกทั้งยังมีแรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดแรงงานยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า สะท้อนจากกลุ่มผู้ว่างงานระยะยาว กลุ่มผู้ว่างงานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ และกลุ่มผู้ออกนอกกำลังแรงงานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” รายงาน กนง.ระบุ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนง.เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือการเร่งควบคุมการระบาดและป้องกันการระบาดของโรค โดยเฉพาะการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทันการณ์ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาฟื้นตัว
ส่วนมาตรการด้านการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น โดยดูแลการจ้างงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น อาจจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสูงกว่าระดับเพดานที่ 60% ต่อจีดีพี แต่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังอย่างมีนัยสำคัญ หากเม็ดเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะสั้น รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย จะเอื้อให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวปรับลดลงได้
ขณะที่นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง ส่วนมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น เร่งกระจายสภาพคล่องสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ โดยคณะกรรมการ กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |