"ศบค." เผยยอดติดเชื้อรายใหม่ 20,515 ราย เสียชีวิตนิวไฮ 312 ราย พบสายพันธุ์เดลตายังระบาดหนัก ห่วงติดเชื้อในที่ทำงานสูงขึ้น แนะบริษัททำ "คอมพานีไอโซเลชัน" ลดแพร่กระจาย ขานรับสูตร "สธ." ป้องกันโควิดแบบครอบจักรวาล "บิ๊กตู่" บอกล็อกดาวน์เริ่มเห็นสัญญาณป่วยโควิดชะลอตัว ลั่นถ้าคุมดีกว่านี้ยอดป่วย-ตายลดลงสิ้น ส.ค. ต้นเดือน ก.ย.ส่อผ่อนคลายทุกด้าน ขอ ปชช.ร่วมมือป้องกันโรคขั้นสูงสุด แย้มใน ครม.นายกฯ สั่ง "ศปก.สธ." เร่งจัดซื้อ ATK ที่ผ่านการรับรอง "อย.-WHO"
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,515 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,250 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,520 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,730 ราย และมาจากเรือนจำ 248 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 968,957 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ยังไม่รวมการตรวจแบบ ATK จำนวน 7,120 ราย เนื่องจากต้องรอผลยืนยันการตรวจ RT-PCR หายป่วยเพิ่มเติม 22,682 ราย หายป่วยสะสม 753,119 ราย อยู่ระหว่างรักษา 207,553 ราย อาการหนัก 5,458 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,155 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 312 ราย เป็นตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยรายงานมา
"อาจเป็นผลมาจาก จ.ลพบุรีและชลบุรี เป็นการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมของหลายวัน เพราะผู้เสียชีวิตบางรายมีการยืนยันผลหลังจากเสียชีวิต ทำให้การรายงานผลล่าช้า โดยจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้เป็นชาย 174 ราย หญิง 138 ราย พบใน กทม.มากสุด 78 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ 25 ราย ผู้เสียชีวิตอายุมากสุด 102 ปี นอกจากนี้ พบเป็นการเสียชีวิตที่บ้าน 3 ราย อยู่ที่ จ.ลพบุรี ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,285 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 209,377,555 ราย เสียชีวิตสะสม 4,394,676 ราย ไทยอยู่ในอันดับที่ 34 ของโลก" พญ.อภิสมัยกล่าว
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 4,154 ราย, สมุทรสาคร 1,820 ราย, สมุทรปราการ 1,335 ราย, ชลบุรี 1,206 ราย, นนทบุรี 756 ราย, นครราชสีมา 719 ราย, ฉะเชิงเทรา 632 ราย, ศรีสะเกษ 471 ราย, นครปฐม 468 ราย, พระนครศรีอยุธยา 437 ราย การพบเชื้อส่วนใหญ่ในประเทศเป็นสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดไปแล้วเกือบทุกจังหวัด ยกเว้น จ.สุพรรณบุรีเท่านั้นที่ยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าว ถือเป็นทิศทางเดียวกับการแพร่ระบาดทั่วโลกที่เป็นสายพันธุ์เดลตา
"ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้มีการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่ายังมีการติดเชื้อในสถานที่ทำงาน ทำให้ต้องเร่งค้นหาการติดเชื้อในชุมชน เพื่อลดอัตราการตายและการป่วยหนัก จึงมีแนวคิดทำคอมพานีไอโซเลชัน หรือแยกกักในสถานที่ทำงานที่มีความพร้อม หลักการจะเหมือนกับคอมมูนิตีไอโซเลชัน หรือศูนย์พักคอยในชุมชน แต่เปลี่ยนมาเป็นการจัดการจัดในบริษัท ในสถานที่ทำงาน ที่ต้องหาที่พักให้กับผู้ติดเชื้อ ที่สำคัญชุมชนโดยรอบต้องยอมรับ ซึ่งจะมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุน และขอให้บริษัทต่างๆ ที่มีความพร้อมเตรียมการไว้ตั้งแต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค.หารือกันในวันนี้ถึงเรื่อง Universal Pervention for COVID-19 หรือเรียกว่า การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล โดยสิ่งสำคัญเราจะต้องเข้าใจว่าตอนนี้รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายกรณีเราไม่สามารถที่จะค้นหาว่าผู้ติดเชื้อได้รับเชื้อมาจากใคร จากไหน และพบว่าการแพร่กระจายเชื้อเป็นไปอย่างกว้างขวางทั้งในชุมชนและครอบครัว สธ.จึงเสนอแนวความคิด "การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล" โดยประเด็นที่สำคัญเราจะต้องอยู่กับโรคโควิด-19 ให้ได้ เพราะโรคนี้จะอยู่กับประเทศไทยและโลกไปอีกระยะหนึ่ง เราจะต้องปรับสมดุลการดำรงชีวิตวิถีใหม่ให้อยู่ได้ โดย นพ.อุดม คชินทรเสนอแนวคิดไว้ว่า ขอให้เราทุกคนคิดเสมอว่าทุกคนที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะสนิทแค่ไหนอาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเขาอาจจะเป็นคนที่นำเชื้อมาแพร่ หรืออาจจะเรานี่เองที่เป็นผู้ติดเชื้อแล้วไปแพร่ให้กับเขาได้
ขอป้องกันโรคขั้นสูงสุด
“หลักการปฏิบัติคือพยายามออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะลดความรุนแรงลง รักษาสุขอนามัยส่วนตัว การเว้นระยะห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร ในทุกสถานที่ สวมหน้ากากอนามัยแล้วทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดจุดสัมผัสจุดเสี่ยง และถ้าเป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปี มีกลุ่มโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคก็จะต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่จะได้รับการสัมผัสเป็นผู้ติดเชื้อและมีความรุนแรง การอยู่ร่วมกันในสถานที่ทำงาน สถานประกอบการ ในครอบครัว ในหอพัก ขอให้มีการแยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่สามารถนั่งรวมกลุ่มรับประทานอาหารในที่ทำงานไปอีกระยะหนึ่ง" พญ.อภิสมัยกล่าว
ส่วน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการรายงานผู้เสียชีวิตในวันนี้จะพบว่าไม่มีรายใดที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตและป่วยหนัก ดังนั้นจึงอยากจะให้ประชาชนทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha" ตอนหนึ่งระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทย หลังจากเริ่มมาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม แม้ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่มากกว่า 20,000 คน แต่เริ่มจะเห็นสัญญาณของการชะลอตัว และมีสัญญาณของผู้ป่วยที่หายดีมากกว่าผู้ติดเชื้อรายวัน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือตัวเลขของผู้เสียชีวิต ที่แม้ว่าเราจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก แต่ก็ยังมีบางวันที่ยังขึ้นสูงอยู่ และเราทุกคนไม่อยากให้มีใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว
"ทางกระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์ว่า หากเราสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการล็อกดาวน์ได้มากกว่านี้ ก็จะสามารถลดยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้มากขึ้น ที่ประชุม ศบค. จึงมีมติให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งหากเราสามารถควบคุมการล็อกดาวน์ได้ดีขึ้นกว่านี้ อาจจะสามารถผ่านจุดสูงสุดของยอดการติดเชื้อได้ภายในสิ้นเดือนนี้ และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องได้ในต้นเดือนกันยายน ซึ่งจะทำให้เราสามารถปรับมาตรการการควบคุมและผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมบางอย่างได้" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
นายกฯ ระบุว่า การที่เราจะสามารถลดยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้นั้น ต้องมาจากความพยายามและร่วมมือของพวกเราทุกคน เนื่องจากการระบาดครั้งนี้มาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมาก ทำให้มีการประมาณการว่าอาจจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ รวมไปถึงผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วด้วย และเกิดการติดเชื้อในบ้านต่อคนในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้กลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวในบ้านต้องเสียชีวิต ดังนั้นคณะแพทย์ที่ปรึกษา ศบค.จึงลงความเห็นว่า ในช่วงเวลานี้ ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ ต้องยกระดับการป้องกันตัวเอง ด้วยหลักการที่เรียกว่า Universal Prevention หรือการป้องกันโรคขั้นสูงสุด ที่ครอบคลุมทุกคน ในการดำเนินชีวิตทุกเรื่องที่อาจเกิดความเสี่ยง
"ผมรับรู้ความเจ็บปวดของทุกท่านที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องปิดกิจการหรือผู้ที่ต้องสูญเสียรายได้จากมาตรการต่างๆ ของรัฐ หรือแม้แต่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากโรคร้ายนี้ ผมเจ็บปวดและเศร้าใจทุกครั้งที่ได้อ่านข่าวผู้เสียชีวิตจากโควิด และเป็นสิ่งเตือนใจผมตลอดเวลาว่าจะต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ ในการพยายามหาหนทางทุกๆ ทางที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงให้มากที่สุด วิกฤติครั้งนี้หนักหนาสาหัสอย่างที่โลกไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการระบาดในระลอกนี้ ทำให้แผนการที่เราวางไว้บางอย่างอาจยังไม่บรรลุเป้าหมาย หรือต้องปรับเปลี่ยนแผน แต่ผมขอให้พวกเราทุกคนอดทน ช่วยกันประคองสถานการณ์ในระลอกนี้ให้ผ่านไปให้ได้ก่อน รักษาสุขภาพ ดูแลป้องกันตัวเองและคนรอบข้างไม่ให้ติดเชื้อ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อประเทศชาติ และเพื่อท่านและครอบครัวของท่านเอง" นายกฯ ระบุ
สั่งเร่งหาชุดตรวจ ATK
มีรายงานว่า ในการประชุม ครม.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้มีข้อสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาในการดำเนินงานโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การเร่งรัดการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาฉีดโดยเร็วที่สุด 2.การค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อเชิงรุกและนำผู้ป่วยทุกคนเข้าระบบการรักษา รวมถึงให้ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าถึงยาโดยเร็วที่สุด โดยให้จัดระบบการส่งยาให้ถึงบ้านผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุด ด้วยการระดมเจ้าหน้าที่ในการจัดส่งยารักษาโรคโควิด-19 โดยอาจจัดหาด้วยวิธีการจ้างงาน ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเดินทางเพื่อการรักษาพยาบาลในช่วงเวลาที่มีประกาศห้ามออกนอกเคหสถานได้ 3.การจัดหาสถานที่กักตัวให้เพียงพอ รวมถึงสถานกักตัวสำหรับแรงงานในโรงงานต่างๆ ให้เพียงพอทุกพื้นที่
นอกจากนี้ 4.การหาช่องทางส่งยารักษาโรคโควิด-19 ให้ผู้ป่วยที่อยู่ใน HI และ CI ได้รับโดยเร็วที่สุด และใช้ระบบการแพทย์ทางไกล โดยเฉพาะคนไข้ที่อยู่ในระบบ HI หากได้สื่อสารทางโทรศัพท์กับแพทย์/พยาบาล จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น 5.การติดตามการวิจัยสูตรยาต่างๆ ของไทย และการเร่งดำเนินการให้ผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียวเข้าถึงยาได้กว้างขวางที่สุด 6.การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิดแบบแอนติเจน (ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด และ 7.การจัดหาอาหารและสิ่งจำเป็นให้ผู้ป่วยติดเชื้อและประชาชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงการดูแลสภาพจิตใจของทั้งผู้ป่วยและผู้สูญเสียคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ.และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวว่า โรงพยาบาลบุษราคัมเตรียมแผนขยายพื้นที่เปิดหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤติ (ทับทิม) เพิ่มอีก 32 เตียง ดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ หลังจากที่ได้ตั้งหอผู้ป่วยวิกฤติ (โกเมน) ระบบความดันลบ 17 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤติต้องใช้ท่อช่วยหายใจ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤติและกึ่งวิกฤติอย่างใกล้ชิด โดยมอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งดำเนินการปรับปรุงสถานที่ โดยใช้พื้นที่ว่างด้านนอกหอผู้ป่วยเดิม ติดตั้งห้องความดันลบ ระบบไฟฟ้าและก๊าซทางการแพทย์ พร้อมนำอุปกรณ์การแพทย์ตามมาตรฐานเข้าโดยจะแล้วเสร็จภายใน 10 วัน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกรณีโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกมีการตั้งจุดบริการคัดกรองโควิด-19 ในพื้นที่สาธารณะ จนประชาชนโดยรอบเกิดความกังวลว่าจะเกิดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 จากจุดบริการของคลินิก ดังนั้นเพื่อป้องกันการสัมผัสกับผู้ป่วย ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการคุมเข้มมาตรฐานบริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 มีการจัดตั้งจุดให้ถูกต้อง ปลอดภัย ห้ามปะปนกับจุดให้บริการอื่นๆ ของคลินิกหรือพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางเท้าด้านหน้าคลินิกโดยเด็ดขาด หาก สบส.ตรวจพบคลินิกแห่งใดปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ก็จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |