ถ้าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเสนอว่ารัฐบาลต้องไม่กลัวกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะแตะ 70% ก็ต้องทำ...นั่นย่อมหมายความว่าเราเข้าสู่สภาวะ New Normal อย่างแท้จริงแล้ว
เพราะปกติแล้ว ผู้ว่าการธนาคารกลางจะมีนโยบายค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม หลีกเลี่ยงอะไรที่สุ่มเสี่ยงและดำเนินนโยบายลักษณะ “ปลอดภัยไว้ก่อน”
แต่ในยามบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤติ วิธีคิดและมาตรการที่จะใช้แก้ไขก็ต้องฉีกแนวออกนอกกรอบจึงจะสามารถแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ได้
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ออกมาประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ว่า ณ วันนี้ประเทศไทยเราหล่นลงไปใน 'หลุมรายได้' ที่มีขนาดใหญ่
ประมาณว่า “หลุมรายได้” ที่ว่านี้อาจจะมีขนาด 2.6 ล้านล้านบาท จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นอย่างเร่งด่วนและจริงจัง
ตอนหนึ่งของคำแถลงของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ท่านบอกว่า
"...ด้วยขนาดของรายได้ที่จะหายไป (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2563-2565) เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของ GDP..."
คุณเศรษฐพุฒิวิเคราะห์ถึง 4 อาการของเศรษฐกิจไทยวันนี้ว่า
อาการแรก คือ โควิด 19 สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย
ในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท
มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็ว และรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 “หลุมรายได้” อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท
อาการที่สอง การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สะท้อนความเปราะบางสูง ได้แก่
(1) ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชม.ต่อวัน) อยู่ที่ 3.0 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน
(2) ผู้ว่างงานระยะยาว (เกิน 1 ปี) 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว
(3) ตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน
(4) แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นจากภาคบริการ/อุตสาหกรรมในเมือง กลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคนมาก
อาการที่สาม การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม (K-shaped)
แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบร้อยละ 20 จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้ จ้างงานเพียงร้อยละ 8 ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย
เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึงร้อยละ 52 ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนยังเปราะบาง
อาการที่สี่ ไทยถูกกระทบจากโควิด- 19 หนักกว่า และจะฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค
เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชีย คือ ร้อยละ 11.5 ของ GDP ทำให้ทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 6.1 เทียบกับร้อยละ 4.9 ที่เป็นค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย
ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี
โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดร้อยละ 4.6 ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดแล้ว
ถามว่าทำไมสถานการณ์รุนแรงกว่าที่คาดไว้ อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม
คำตอบคือที่ผ่านมา ไทยคุมการระบาดได้ดี ทั้งในระลอกแรกที่ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 สามารถกลับมายังจุดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อได้ และระลอกสอง ที่ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียงราว 29,000 ราย
ทำให้ ธปท.มองว่าเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะทยอยฟื้นตัวได้ รวมถึงการท่องเที่ยว โดยมองการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.0
การเปลี่ยนแปลง (เหตุ) สำคัญ คือ ไวรัสที่กลายพันธุ์ และพัฒนาเป็นสายพันธุที่กระจายง่ายขึ้น วัคซีนได้ผลน้อยลงจน เกิดการระบาดระลอกสาม ณ ช่วงปลายเดือนมิถุนายน มีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.6 แสนคน (ยอดรายวันที่ 4-5 พันคน) ธปท.ได้ปรับลดประมาณการลงเหลือร้อยละ 1.8
และล่าสุด สถานการณ์ผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 9 แสนคน (รายวันเกิน 20,000 คน) ระบบสาธารณสุขมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้มาตรการคุมการระบาดต้องเข้มงวดขึ้น ธปท.จึงต้องปรับประมาณการปีนี้ลง โดยมีสมมติฐานสำคัญว่าจะทยอยลดมาตรการ lockdown ลงในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตที่ร้อยละ 0.7 ดังนั้น ผลที่เปลี่ยนไปจากที่คาด คือ เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงขึ้น
ขณะเดียวกัน การระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์นี้ลดลง การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไวรัสตัวนี้จึงยากขึ้น การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศจึงทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งมีนัยต่อภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเท่าระดับก่อนโควิดได้หลังปี 2567 ไปแล้ว
อีกผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ เศรษฐกิจไทยข้างหน้าจึงฟื้นตัวช้าออกไป เพราะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของไทยคงไม่กลับมาปกติโดยเร็ว
การ lockdown รอบนี้ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจและครัวเรือน ส่งผลให้ฐานะการเงินมีความเปราะบางสูงขึ้น เพราะเงินออมลดลงทุกครั้งที่การระบาดกลับมา
สายป่านของครัวเรือนสั้นลงเรื่อยๆ สะท้อนจากตัวเลขเงินฝากในบัญชีที่มียอดต่ำกว่า 50,000 บาท ที่ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2564 ปรับลดลงเทียบกับปีก่อนเป็นครั้งแรก โดยหดตัวที่ร้อยละ 1.6 ขณะที่เงินฝากในบัญชียอดสูงกว่า 1 ล้านบาทยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.0 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่หนี้สินก็มีสัญญาณเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่หายไป
(พรุ่งนี้: กู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านไม่เสี่ยงไปหรือ?).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |