นั่งสามล้อเที่ยวท่าฉลอม แวะกินกุ้งมหาชัย


เพิ่มเพื่อน    

(สามล้อปั่นมีไว้บริการ)

    “ท่าฉลอม กับมหาชัย จะคิดทำไมว่าไกล เชื่อมความรักไว้ดีกว่า บอกเพียงสักคำ ว่าไม่รักจะหักใจลา ซ่อนตัวตามประสา จะหนีซ่อนหน้า ห่าง ไกล....” นี่คือเพลงท่าฉลอม ของ ชรินทร์ นันทนาคร ที่โด่งดังในอดีต เนื้อหาของเพลงได้พูดพรรณนาถึงหนุ่มประมงชาวท่าฉลอมที่ไปหลงรักสาวมหาชัย  ในสมัยนั้นเพลงนี้ดังมาก ร้องกันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่สำหรับชาวสมุทรสาครถือเป็นเพลงฮิตประจำจังหวัดเลยก็ว่าได้

(รถสามล้อถีบจอดเรียงรายหน้าโรงเจเช็งเฮียงตั๊ว)

    สำหรับคนรุ่นใหม่ถ้าได้ยินเพลงนี้คงไม่คุ้น หรือไม่ค่อยอินสักเท่าไหร่ เพราะการหลงรักใครหรือจีบกันสมัยนี้ ไม่ได้ออดอ้อนกันตามเนื้อเพลงนี้แล้ว แต่ถ้าเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่พอได้ยินคงนึกถึงไปถึงสมัยยังหนุ่มยังสาว สมัยพ่อจีบสาว หรือสมัยแม่สาวๆ มีหนุ่มๆ มาจีบก็ว่าได้

    ที่พูดถึงเพลงท่าฉลอมก็เพราะเพิ่งเคยได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกก็ตอนที่มาเที่ยว ต.ท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร เป็นทริปสั้นๆ วันเดียว กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่อยากพาเรามาสัมผัสวิถีชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน ซึ่งการมาครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มาเลยก็ว่าได้ เพราะว่าปกติก็จะขับรถผ่านบ้าง หรือไม่ก็แบบมาไวไปไว
    เรามาที่นี่ได้ฟังเรื่องเล่าจากคุณสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) อยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเบสิกๆ อย่างความเป็นมาของท่าฉลอม คุณสุวันชัยก็เล่าให้ฟังว่า ท่าฉลอมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบ้านท่าจีน หรือสมุทรสาครในปัจจุบัน แต่เพราะสมัยก่อนบริเวณริมฝั่งท่าฉลอมมี ‘เรือฉลอม’ จำนวนมากเข้ามาเทียบท่าจอดขายปลาและซื้อสินค้า ก็เลยมีชื่อเรียกท่านี้ว่าท่าฉลอม
    ที่น่าสนใจคือ ท่าฉลอมมีลักษณะเกือบเป็นเกาะ มีแม่น้ำท่าจีนล้อมรอบเกือบทั้งหมด ยกเว้นที่ท้ายบ้านของท่าฉลอม ซึ่งกว้างเพียงราว 200 เมตรที่แม่น้ำท่าจีนไม่ได้ล้อมรอบไว้ อีกอย่างที่นี่ยังเคยเป็นชุมชนประมงสำคัญ ตอนนี้ก็ยังเป็น แต่อาจน้อยกว่าอดีต บริเวณสำคัญอยู่ที่ถนนถวาย เป็นถนนที่ชาวท่าฉลอมสร้างถวายรัชกาลที่ 5 เป็นย่านการค้าสำคัญ ซึ่งเราก็ได้ปักหลักถนนตรงนี้ให้เป็นเส้นทางหลักสำหรับเยือนชุมชน
    พวกเรานั่งรถสามล้อปั่นออกจากศูนย์ท่องเที่ยวและชุมชนท่าฉลอม มุ่งหน้าไปตามถนนถวาย ซึ่งสามล้อปั่นที่ว่าไม่มีให้เห็นนานแล้ว จะเห็นก็แต่ในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งเท่านั้น ที่นี่ก็เช่นกัน มีไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวทุกเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาก็มีบ้างแต่ไม่มาก เพราะเป็นวันที่คนทำงาน จะมีมากอีกทีก็ช่วงเทศกาลกินเจ

(นั่งสามล้อปั่นชมเมือง)

    "คุณตา" อายุอานามไม่ต่ำกว่า 60 ปี เป็นคนถีบสามล้อให้เรานั่ง คุณตาบอกว่า ทุกวันนี้ไม่มีคนรุ่นใหม่มาถีบอีกแล้ว เราเองก็แอบเกรงใจคุณตาที่ต้องมาออกแรงถีบสามล้อให้เรานั่ง แต่ดูทีท่าของแกแล้วดูเหมือนจะมีความสุขที่เห็นลูกหลานมาเที่ยวบ้านของแก
    ขณะที่นั่งสามล้อปั่น นอกจากชมวิวข้างทางที่มีบ้านเรือนของคนในชุมชนและร้านค้าขายของชำ ขายอาหารทะเลแล้ว เรามีความรู้สึกว่านับเป็นความโชคดีที่ได้นั่งชมบรรยากาศแบบช้าๆ แบบนี้ เพราะถ้านั่งรถอื่นๆ คงไม่ได้เห็นอะไร

    ระหว่างนั่ง เรามองเห็นผู้คนแถวนั้นมองเราด้วยความสุขผ่านรอยยิ้ม บ้างก็หยิบมือถือขึ้นมาถ่าย บ้างก็ตะโกนเสียงทักทายแซวพวกคุณตาที่ถีบสามล้อให้นั่ง ทำให้อดยิ้มตามไม่ได้ ขณะที่นั่งพอหันซ้ายหันขวามองเห็นศาลเจ้าเรียงไล่ตามๆ กันไป เท่าที่นับได้ก็ประมาณ 9 ศาล มีศาลเจ้าแม่ทับทิม โรงเจเช็งเฮียงตั๊ว ศาลเจ้ากลาง (ปุนเถ้ากง) ศาลเจ้าพ่อกวนอู ฯลฯ สมกับเป็นชุมชนหลักๆ ที่จัดงานเทศกาลกินเจ ไหว้ศาลเจ้า 9 แห่ง จริงๆ เคยได้ยินมาว่าที่นี่มีศาลเจ้า มีวัดวาอารามเยอะมาก ถ้านับดูทั้งจังหวัดสมุทรสาครก็น่าจะเป็นร้อย เพราะเป็นเมืองอยู่ริมน้ำเลยมีคนมาตั้งถิ่นฐานเยอะ โดยเฉพาะชาวจีนที่อพยพมาอยู่  เพราะเป็นเมืองติดแม่น้ำเป็นเมืองแรกๆ ที่สามารถขึ้นฝั่งเพื่อเข้าสู่ประเทศสยามในสมัยนั้น เมื่อชาวจีนมาตั้งรกรากกันมากขึ้นก็เกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างศาลเจ้าเป็นศูนย์รวมพบปะสังสรรค์

(ศาลเจ้าโรงเจเช็งเฮียงตั๊ว)

    ศาลเจ้าแห่งแรกของท่าฉลอมคือ “ศาลเจ้าโรงเจเช็งเฮียงตั๊ว” ที่ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญของชุมชน ในช่วงตุลาคมทุกๆ ปีจะมีงานประเพณีถือศีลกินเจ 10 วัน จุดเด่นของเทศกาลกินเจที่นี่จะมีพิธีเผาเรือมังกร ด้วยการนำกระถางธูปไปไว้บนเรือ แล้วไฟจะลุกขึ้นเอง ไม่ใช่จุดไฟเผา ชาวจีนเขามีความเชื่อว่าพิธีกรรมนี้เป็นการนำเรือไปส่งเจ้า
    ภายในศาลเจ้ากว้างขวาง สวยงามด้วยศิลปะการก่อสร้างของจีน เช่นเดียวกับศาลเจ้าอื่นๆ ก็สวยโดดเด่นไม่แพ้กัน ใครที่ถือศีลกินเจ มาที่นี่น่าจะได้พบเจอผู้คนมากมาย มาไหว้เจ้าแล้วก็นั่งสามล้อปั่นไปยังศาลอื่นๆ ต่อ น่าจะเป็นอีกกิจกรรมด้านศาสนา วัฒนธรรมที่ดี

(ทำลูกประคบสมุนไพรด้วยตนเองที่ท่าฉลอม)

    จากนั้นก็แวะไปดูการผลิตลูกประคบของชาวท่าฉลอมที่บ้านป้าแป๊วที่อยู่ละแวกเดียวกัน หรือเยื้องๆ โรงเจนี่แหละ บ้านป้าแป๊วเป็นแหล่งผลิตลูกประคบ แล้วก็มีบริการนวดแผนไทยด้วย ลูกประคบนี้เป็นภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษเราที่ใช้พืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นนำมาใช้ในการรักษา หรือเพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือด หรือรักษาบาดแผล แต่ละยุค แต่ละที่ ก็จะมีการพัฒนาต่างกันไป อย่างสูตรป้าแป๊วมีผสมสมุนไพร 8 ชนิด ก็มีไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ ใบมะขาม มะกรูด เกลือ การบูร พิมเสน แต่ละอย่างก็มีสรรพคุณต่างกัน ทั้งขัดผิว แก้แผลอักเสบบ้าง แก้เส้นเอ็นที่แข็ง บางอย่างก็บำรุงหัวใจ นำไปบดเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกัน ห่อด้วยผ้าขาวทำเป็นลูกประคบกลมๆ เวลาจะใช้ก็เอาไปนึ่งหรือทำให้ร้อน ใช้ประคบร่างกายได้เลย เราว่าสมุนไพรพื้นบ้านช่วยอะไรหลายๆ อย่าง บางครั้งป่วยรักษาไม่หายก็ได้สมุนไพรมาช่วยก็ดีขึ้น ส่วนลูกประคบนี้น่าจะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่วัยทำงานที่นั่งทำงาน เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ก็สามารถมาแตะประคบผ่อนคลายในเวลานั่งทำงานได้ง่ายๆ ด้วย ถ้ามาก็อย่าลืมมาอุดหนุนป้า

(ชิมขนมเทียนสำหรับเทศกาลตรุษจีน สูตรเฉพาะของชาวท่าฉลอม)

    เสร็จจากการทำลูกประคบ เราก็ได้ชิมขนมเทียนสูตรท่าฉลอม ของไหว้ที่ขาดไม่ได้ในวันตรุษจีนและเทศกาลกินเจ ซึ่งขนมเทียนดั้งเดิมเป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากสูตรของชาวจีนโพ้นทะเล แล้วนำมาดัดแปลงด้วยขนมท้องถิ่นของไทย รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลม มีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์ อย่างพี่น้องชาวท่าฉลอมมีสองไส้คือเค็มและหวานเหมือนกัน แต่ความแปลกของขนมเทียนที่นี่ซึ่งไม่เหมือนใครอยู่ที่แป้งที่ใช้ทำ ที่เราเคยกินจะเป็นแป้งนุ่มๆ แต่ที่นี่ทั้งเหนียวและนุ่มมากกว่า เพราะว่าใช้แป้งผสมกับหญ้านางนวล หรือชิวคัก หรือหญ้าฉือคัก ตามชื่อที่ชาวจีนเรียกกัน เพื่อให้มีกลิ่นหอม เนื้อเหนียวนุ่ม และรสชาติอร่อยไม่แพ้แบบที่เราเคยกิน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน บางคนไม่เคยกินถึงกับต้องซื้อกลับบ้านด้วย

(องค์เจ้าแม่กวนอิมสูงเด่นเห็นชัด ที่อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิม)

    ถึงเวลาที่เราต้องอำลาคุณตาผู้ถีบสามล้อพาเรามาเที่ยวแล้ว เพราะได้เวลาที่เราจะมุ่งไปยังสถานที่อื่นต่อ โดยไปไหว้องค์เจ้าแม่กวนอิมที่อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี 2539 จุดเด่นของที่นี่สามารถมองเห็นองค์เจ้าแม่กวนอิมได้แต่ไกล ด้วยความสูง 9.85 เมตร ฐานล่างสูง 8.8 เมตร หล่อด้วยทองเหลืองหนัก 15 ตัน ประทับยืนบนฐานดอกบัว พระหัตถ์ขวาเทน้ำจากคนโทเป็นน้ำมนต์ เมื่อเข้าไปด้านในก็สามารถกราบสักการะรูปหล่อพระโพธิสัตว์กวนอิมปางเมตตา หล่อด้วยทองเหลืองปิดด้วยทองคำเปลวขนาดใหญ่ จากนั้นก็พบเทพเจ้าจีนที่ให้โชคลาภต่างๆ ด้านในสุดเป็นถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมปางต่างๆ หลายปาง จำนวนหลายองค์ ใครมาก็แวะมาขอพรได้

(กุ้งเสียบไม้ทาด้วยเนยชีส ย่างหอมน่าทาน)

    ก่อนกลับยังมีเวลาอีกมาก เราได้ไปกินกุ้งที่ตลาดไทย แต่วันที่เราไปเป็นเพียงแค่วันซ้อมแถลงข่าว เพราะวันจริงเริ่ม 15-17 มิ.ย.นี้ ซึ่งถือว่าจัดเป็นครั้งแรก เพราะว่าสถานการณ์ราคากุ้งถูกลง เลยนำกุ้งมาจัดเทศกาลให้คนมากิน โดยในงานจะมีการรังสรรค์อาหารที่ทำจากกุ้งหลายอย่างเลย ทั้งกุ้งเผา กุ้งอบ กุ้งชีส กุ้งอบวุ้นเส้น ในราคาเมนูละ 50 บาทเอง แต่ถ้าจะซื้อกุ้งสดๆ กลับไป เขาขายกิโลกรัมละ 150 บาท ถูกมากๆ โดยเฉพาะกุ้งแวนนาไม หรือกุ้งที่ชุมชนนำมาเลี้ยงเอง ซึ่งทางหอการค้าก็รับประกันคุณภาพเลยว่ากุ้งที่นี่ปลอดสารพิษ เพราะว่าตอนที่ส่งออกไปต่างประเทศตรวจไม่พบสารตกค้างหรือสารเคมีอะไรเลย ไว้ใจกุ้งไทยได้เลย ใครสนใจก็อย่าลืมไปกินกุ้งที่นี่ เราไปชิมวันซ้อมมาแล้ว อร่อยชนิดท้องแน่นพุงป่องเลย เรียกได้ว่ามาเที่ยวสมุทรสาครครั้งนี้ไม่เสียเที่ยวจริงๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"