ตอลิบันปรับตัวยอมรับสิทธิสตรี ต่างชาติเร่งอพยพคน


เพิ่มเพื่อน    

โฆษกตอลิบันเปิดตัวแถลงข่าวครั้งแรก ยืนยันตอลิบันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว ลั่นจะเคารพสิทธิสตรีภายใต้หลักกฎหมายอิสลาม ตะวันตกรื้อฟื้นปฏิบัติการอพยพคน ผลจากความเละเทะในอัฟกานิสถานฉุดเรตติ้ง "โจ ไบเดน" ร่วง 7 จุด

ซาบิฮุลลาห์ มูจาฮิด โฆษกตอลิบัน แถลงข่าวที่กรุงคาบูลเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 (MARCUS YAM / LOS ANGELES TIMES)

    ซาบิฮุลลาห์ มูจาฮิด ซึ่งทำหน้าที่โฆษกหลักของตอลิบันมานานเกือบ 20 ปี เปิดตัวต่อสื่อมวลชนครั้งแรกระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงคาบูลเมื่อวันอังคาร เขายืนยันว่าตอลิบันไม่ต้องการมีศัตรูทั้งภายในและภายนอกประเทศ และทุกคนที่เคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตอลิจะได้รับการอภัย "เราจะไม่ล้างแค้น" เขากล่าว โดยบอกว่าตอลิบันจะนิรโทษกรรมทุกคน ไม่ว่าอดีตทหารหรือพวกล่ามและผู้ที่เคยทำงานให้กองทัพต่างชาติ

    โฆษกผู้นี้กล่าวอีกว่า ตอลิบันระบอบใหม่จะ "แตกต่างในทางบวก" จากระบอบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งมีชื่อเสียงกระฉ่อนจากการลงโทษด้วยการปาหินจนตาย, ห้ามเด็กหญิงเข้าโรงเรียนและห้ามผู้หญิงทำงานที่ต้องติดต่อกับผู้ชาย ตอลิบันในปัจจุบันจะอนุญาตให้ผู้หญิงทำงานและเรียนได้ และผู้หญิงจะมีชีวิตสังคมได้แต่อยู่ภายในกรอบของอิสลาม

    "ถ้าคำถามอิงจากอุดมการณ์และความเชื่อ ก็ไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าเราคำนวณโดยอิงจากประสบการณ์, วุฒิภาวะ และวิจารณญาณ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีความแตกต่างมากมาย" มูจาฮิดกล่าวกับนักข่าว

    คืนวันเดียวกันนั้น มุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งตอลิบันและเป็นผู้นำอันดับสองของกลุ่มนี้เดินทางจากกาตาร์มาถึงเมืองกันดะฮาร์ โดยมีฝูงชนรอต้อนรับ ถือเป็นการเดินทางกลับประเทศครั้งแรกของเขาในรอบกว่า 10 ปี เขาเคยโดนจับกุมเมื่อปี 2553 แต่ถูกปล่อยจากคุกในปี 2561 ตามคำร้องขอของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อให้เขาสามารถเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพที่กรุงโดฮากับสหรัฐได้

    แม้ตอลิบันจะให้คำมั่นตั้งแต่วันแรกที่เข้ายึดกรุงคาบูลว่าต้องการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ แต่ชาวอัฟกันและชาวต่างชาติยังคงหนีออกนอกประเทศ สหรัฐและหลายชาติเร่งการอพยพทางอากาศหลังจากควบคุมสถานการณ์ที่สนามบินนานาชาติฮามิดการ์ไซได้ ภายหลังความวุ่นวายเมื่อวันจันทร์ที่ชาวอัฟกันแห่ลงมาที่รันเวย์และรุมล้อมเกาะเครื่องบินทหาร จนมีคนตกลงมาเสียชีวิต

    พลตรีแฮงค์ เทย์เลอร์ จากคณะเสนาธิการทหารสหรัฐแถลงที่เพนตากอนว่า พวกผู้บัญชาการตอลิบันให้คำรับประกันความปลอดภัยในการอพยพโดยจะไม่มีการโจมตีสนามบินแห่งนี้ และพลเมืองต่างชาติและชาวอัฟกันที่ต้องการเดินทางออกจะสามารถออกไปได้อย่างปลอดภัย

    เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเผยเมื่อวันอังคารว่า ถึงขณะนี้กองทัพสหรัฐอพยพคนออกมาได้แล้วราว 3,200 คน รวมถึง 1,100 คนในวันอังคารจาก 13 เที่ยวบิน

    ตามคำแถลงของทำเนียบขาวก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน มีชาวอเมริกันเหลืออยู่ในอัฟกานิสถาน 11,000 คน รวมถึงนักการทูต, คนงานสัญญาจ้างและกลุ่มอื่นๆ รัฐบาลสหรัฐต้องการอพยพคนให้หมดก่อนเส้นตายถอนทหารวันที่ 31 สิงหาคม

    มีรายงานว่า หลายชาติเริ่มกลับมาอพยพคนออกมาได้แล้วเช่นกัน ทั้งพลเมืองของตนเอง, ชาวต่างชาติจากองค์กรต่างๆ และชาวอัฟกัน โดยอังกฤษกล่าวเมื่อวันพุธว่า อพยพคนออกมาได้วันละประมาณ 1,000 คน เยอรมนีพาออกมาแล้ว 130 คน  ฝรั่งเศสบอกว่าอพยพออกมาได้ 216 คน เป็นชาวอัฟกัน 184 คน ที่เหลือเป็นชาวฝรั่งเศสและต่างชาติ ส่วนออสเตรเลียเดินทางกลับประเทศได้แล้ว 26 คน

    ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายกฯ บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ เห็นพ้องกันว่าจะจัดการประชุมทางไกลผู้นำกลุ่มจี 7 สัปดาห์หน้า เพื่อหารือยุทธศาสตร์และแนวทางร่วมกันด้านอัฟกานิสถาน

    การตัดสินใจของไบเดนที่ปฏิบัติตามข้อตกลงถอนทหารที่รัฐบาลทรัมป์ทำไว้กับตอลิบัน และความโกลาหลวุ่นวายภายหลังตอลิบันยึดเมืองใหญ่ต่างๆ จนบุกถึงกรุงคาบูลได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 10 วัน ทำให้เขาโดนวิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากภายในสหรัฐและต่างประเทศ

    ผลสำรวจความเห็นชาวอเมริกัน โดยรอยเตอร์/อิปซอสเมื่อวันจันทร์ พบว่าคะแนนนิยมต่อตัวไบเดนตกลงถึง 7% จากผลสำรวจเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว มาอยู่ที่ 46% ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือนนับแต่เขารับตำแหน่ง โพลยังพบด้วยว่า มีชาวอเมริกันไม่ถึงครึ่งที่เห็นด้วยกับการจัดการเรื่องอัฟกานิสถานของเขา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"