เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวในงานเปิด"บ้านนราศิลป์"แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนว่า แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ปัจจุบันมีทั้งหมด 150 แห่ง ในทุกภูมิภาค สำหรับบ้านนราศิลป์เป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ งานปักเครื่องโขน ชุดละครไทย โดยบ้านนราศิลป์ได้เสนอโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการงานหัตถศิลป์ งานปักเครื่องโขน ละคร รุ่นที่ 1 จึงได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ปัจจุบันหาครูปัญญาที่จะถ่ายทอดความรู้งานปักชุดโขนละครที่มีลวดลายโบราณที่สืบทอดกันมายากมาก สำหรับการอบรมรุ่นที่ 1 มีผู้สนใจมาเรียนรู้ 50 คน ถือเป็นครูแม่ไก่ช่วยสืบสานศิลปหัตถกรรมล้ำค่า
" การเปิดบ้านนราศิลป์เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชน เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมย่านนางเลิ้งในปีนี้ยังสอดรับที่ สวธ.ได้เสนอโขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณายูเนสโกจะทราบผลเดือน ธ.ค.นี้ การเรียนรู้งานปักเครื่องโขนจะทำให้ศิปวัฒนธรรมนี้อยู่คู่ชาติและเป็นมรดกโลกตลอดไป ส่วนโครงการต่อไปจะเน้นเผยแพร่งานปักเครื่องโขน ละคร ให้แก่เยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ฝึกหัดศิลปะแขนงนี้ สามารถต่อยอดเป็นวิชาชีพสร้างรายได้ เพราะปัจจุบันช่างปักเครื่องโขนขาดแคลน " นางพิมพ์รวี กล่าว
นายพินิจ สุทธิเนตร ผู้จัดการบ้านนราศิลป์ กล่าวว่า บ้านนราศิลป์ หรือ คณะนราศิลป์ ก่อตั้งครั้งแรกในต้นสมัยรัชกาลที่ 6 โดยคุณแม่ละม่อม สุสังกรกาญจน์ สมัยนั้นรับงานแสดงโขนกลางแปลง โขนหน้าจอ, โขนชักรอก, ละครชาตรี, ละครพันทาง ตลอดจนเป็นบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในยุคแรกๆชื่อ นราศิลป์ภาพยนตร์ ต่อมาคุณแม่จินดา ปานสมุทร์ รับช่วงสืบสานงานนาฏศิลป์จนพัฒนาเป็นลำดับตามความนิยมคนไทยยุคนั้น จนเป็นคณะนาฏศิลป์คณะใหญ่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไทยมาเกือบ 100 ปี ปัจจุบันนอกจากจะรับงานนาฏศิลป์และรับปักเครื่องโขน เครื่องละครแล้ว ยังเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษาเยี่ยมชมสาธิตการปักเครื่องโขน เครื่องละคร และให้ชมหัวโขน ฝีมือครูชิต แก้วดวงใหญ่ และผลิตภาพยนตร์ สารคดี พยายามทำทุกอย่างเหมือนอดีตที่ผ่านมา