จากสถานการณ์โควิด-19 ภารกิจสุดหินในมือรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาและผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม ที่รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการและการเยียวยาต่างๆ ต่อเนื่อง
แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ในหลายมาตรการที่ออกไปอาจยังไม่เพียงพอในการบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ที่ผ่านมาจึงยังมีเสียงเรียกร้อง ข้อคิดเห็น ข้อร้องเรียนต่างๆ สะท้อนกลับมายังรัฐบาล ทั้งจากมวลชนที่ลงถนน และจากประชาชนที่ส่งเรื่องร้อนใจผ่านช่องทางของรัฐบาล
ซึ่งล่าสุด สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้มีการสรุปผลข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน การเสนอข้อคิดเห็นของประชาชน ผ่านช่องทางศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล ในห้วงปัจจุบันมีถึง 457,619 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องร้องทุกข์โควิด 29,647 เรื่อง และสอบถามข้อมูลโควิด 367,705 เรื่อง
ขณะเดียวกันยังได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลร้องทุกข์ ร้องเรียน และการเสนอข้อคิดเห็นจากประชาชน ที่น่าสนใจ เช่น ข้อร้องเรียนขอให้รัฐจัดหาชุดตรวจโควิด ATK ที่มีคุณภาพ จากกรณีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่ผลิตโดยบริษัทในประเทศจีนที่ชนะการประกวดราคา แต่ไม่ผ่านการรับรองของหลายประเทศ รวมทั้งเอกสารประกวดราคามีความไม่โปร่งใสหลายประการ ประชาชนจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์ และให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานเป็นสำคัญ
ประเด็นถัดมาคือ ขอให้รัฐเตรียมรับมือกับการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์จำเป็น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงทรงตัว ทำให้ประเทศไทยต้องใช้ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรองรับการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องวัดระดับค่าออกซิเจน เป็นต้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่จะใช้ภายในประเทศ รวมทั้งต้องควบคุมการจำหน่ายไม่ให้เกินราคา
นอกจากนี้ยังมีข้อร้องเรียนกรณีการเบิกเงินทดแทนจากประกันสังคม ที่มีความยุ่งยากและล่าช้าจากกรณีที่ลูกจ้างประกันสังคมและเป็นผู้ติดเชื้อโควิด สามารถใช้สิทธิ์ในการเบิกทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง รวมถึงดูแลค่าบริการทางการแพทย์ได้ด้วยนั้น ยังไม่รวมถึงผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องหยุดงานกักตัวจำนวน 14 วัน ซึ่งทำให้ขาดรายได้ด้วย แต่กลับไม่สามารถเบิกเงินทดแทนในกรณีนี้ได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาแนวทางการช่วยเหลือ
กรณีต่อมาคือ การตรวจสอบสิทธิ์มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองและนักเรียน จากมาตรการให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางการศึกษาแก่ผู้ปกครองและนักเรียนในช่วงการแพร่ระบาด จำนวน 2,000 บาท ต่อนักเรียน 1 คน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เปิดระบบให้นักเรียนเข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อทำการตรวจสอบสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือด้านการศึกษาแล้ว ดังนั้นรัฐควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถตรวจสอบสิทธิ์และเข้าถึงมาตรการได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนว่า บุคลากรด่านหน้าไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ จากกรณีพยาบาลของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่ กทม.ได้กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าที่ไม่โปร่งใส จึงขอให้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมรับทราบ
ขณะเดียวกันยังมีข้อร้องเรียนพบว่า มีพระสงฆ์ในหลายพื้นที่ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าดูแลฉีดวัคซีนและให้งดบิณฑบาต รวมทั้งควรนำอาหารแห้งไปถวายวัดและให้ญาติโยมปรุงอาหารภายในวัดเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
รวมถึงกรณีที่พบข้อร้องเรียนพอสมควร คือ ระบบการกำจัดขยะไม่เพียงพอรองรับขยะติดเชื้อ ขณะนี้พบว่าในหลายพื้นที่มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถกำจัดได้ทันที จึงเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการคัดแยกขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ รวมทั้งหน่วยงานควรมีการวางแผนการรองรับขยะและการกำจัดขยะติดเชื้อให้เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นต้น
ทั้งนี้ จากข้อร้องเรียนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐอย่างครอบคลุม ซึ่ง “บิ๊กตู่” ได้เร่งนำข้อร้องทุกข์ดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขแล้ว ส่วนจะแก้ได้เป็นที่พอใจของประชาชนหรือไม่คงต้องดูกันต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |