ถึงเวลากู้เงินพยุงศก.อีกครั้ง


เพิ่มเพื่อน    

สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ออกจะลูกผีลูกคนสักหน่อย เพราะเจ้าไวรัสร้ายโควิดมันเล่นงานจนอ่วม หาทางฟื้นแทบไม่ได้ ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะหดตัวที่ -0.5% จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้ในเดือน ก.ค. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่จำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันอาจยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ทำให้มาตรการล็อกดาวน์อาจใช้ระยะเวลายาวขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงซึ่งเป็นประเด็นติดตามยังอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่นอกจากอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกแล้ว ยังอาจทำให้สินค้าในประเทศขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลา
    แม้ว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ (สศช.) รายงานจีดีพีไตรมาส 2 กลับมาขยายตัว 7.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 แต่ก็ไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรมากนัก โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ที่คาดว่าจะเลวร้ายอย่างมาก จากมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม รวม 29 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 77% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะขยายระยะเวลาล็อกดาวน์คุมเข้มไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เป็นแรงกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ให้ลดลงอย่างชัดเจน
    โดยทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในไตรมาส 4 หลังประเมินการแพร่ระบาดจะสามารถกลับเข้าสู่ระดับควบคุมได้อีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การคลายล็อกดาวน์ในช่วงต้นกันยายน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัว 0.3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 0.9%
     สอดรับกับข้อมูลของทาง ธปท. โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง และมีผลชัดเจน 4 อาการ ได้แก่ 1.หลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ โดยพบว่า ในช่วงปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปี 2563-2565 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท 2.การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานหรือเสมือนว่างงาน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดถึง 3 เท่าตัว
    3.การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเปราะบาง และ 4.เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย คิดเป็น 11.5% ของจีดีพี และจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 3 ปีจากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี
    ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำชัดว่า สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะต้องดำเนินการคือ 1.การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน จำเป็นต้องกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น
    นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน ผ่านมาตรการทางการคลังซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ขาดไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ การเร่งเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุดเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ที่อาจนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุด และนอกเหนือไปมากว่านั้น การกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท ก็เป็นทางเลือกที่นำมาใช้ได้ แม้ว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ
    "การกู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเราไม่กู้ เพราะการกู้และการใส่เงินเข้าไปตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจ เพิ่มฐานภาษี และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้ ช่วยให้ภาระหนี้กลายเป็นลดลงในอนาคต ดังนั้นภาพระยะยาวการกู้เพื่อใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จริงๆ แล้วทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง". 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"