สั่งแก้กม.นิรโทษหมอ ก.ย.ส่อล็อกดาวน์ต่อ


เพิ่มเพื่อน    

"ครม." เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มอำนาจคุมโควิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังไม่ชัดออก กม.คุ้มครองแพทย์รูปแบบไหน มอบ "สธ.-กฤษฎีกา" ถกรายละเอียดก่อนส่งกลับพิจารณา "ศบค." เผยพบโควิดรายวันอีก 20,128 ราย ดับนิวไฮ 239 ราย แย้มสิ้นเดือน ส.ค.ติดเชื้ออยู่ระดับ 2 หมื่นเตียงไม่พอ ส่อขยายล็อกดาวน์เพิ่ม "สธ." ห่วงเด็ก 12-18 ปีติดโควิดสูงขึ้น "กลุ่มนวด-สปา" ฟ้องศาลแพ่งเรียกเงินรัฐจ่ายชดเชย 200 ล้าน
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 17 ส.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว โดยเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อแยกการจัดการโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่/โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้สาระของกฎหมายมีความสอดคล้องกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินโรคระบาดมากยิ่งขึ้น และต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) 
    "ครม.เห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดต่อไป โดยหามาตรการคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้าและอาสาสมัครที่ทำงานไปตามปกติ" น.ส.รัชดากล่าว  
    มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุม ครม.หลังจากการประชุม ครม.สัปดาห์ที่แล้วมีการหยิบยกเรื่อง พ.ร.ก.คุ้มครองแพทย์ขึ้นมาหารือ โดยครั้งนี้นายวิษณุได้ให้ข้อมูลว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มาหารือกับตนเกี่ยวกับการปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตามที่ตนได้เสนอแนะไป ซึ่งเนื้อหาที่จะมีการแก้ไขครั้งนี้มีทั้งการให้คำนิยามคำศัพท์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น อาทิ การกักตัว โฮมไอโซเลชั่น คอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น การแก้ไขอำนาจหน้าที่รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แก้ไขเรื่องค่าใช้จ่าย การนำวิธีอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพิ่มเติม รวมถึงการเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง 
    "รัฐมนตรีหลายคนต่างแสดงความเห็นด้วยที่จะใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวสนับสนุนว่าเป็นเรื่องดีหากจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะด้านสาธารณสุข เพื่อจะได้แยกออกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เป็นด้านความมั่นคง ที่มักจะถูกฝ่ายค้านนำมาโจมตีเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแก้ไขปัญหาโรคติดต่อ" แหล่งข่าวระบุ  
    มีรายงานด้วยว่า นายวิษณุยังได้เล่าให้ที่ประชุมฟังหลังจากได้หารือกับ สธ.ว่าสิ่งที่แพทย์ พยาบาลกลัวคือสถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ กังวลเรื่องมาตรฐานการรักษาจะต่ำกว่าเดิม เพราะไม่มีกำลังรักษาเพียงพอต่อผู้ป่วยจำนวนมากขนาดนี้ รวมถึงเรื่องหลักเกณฑ์วัคซีนที่บางคนได้ฉีด บางคนไม่ได้ฉีด จึงกลัวโดนฟ้อง แต่อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.โรคติดต่อที่จะมีการแก้ไขนี้ หรือจะออกเป็น พ.ร.ก.ต่างหาก เพราะรายละเอียดของการจะออกกฎหมายคุ้มครองแพทย์และด่านหน้าก็ยังไม่มีและยังไม่ครบถ้วน จึงให้ สธ.ไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะออกเป็นกฎหมายรูปแบบใดและนำกลับเข้า ครม.อีกครั้ง 
    ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,128 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 19,846 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,349 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,497 ราย และมาจากเรือนจำ 272 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 948,442 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 20,791 ราย หายป่วยสะสม 730,437 ราย อยู่ระหว่างรักษา 210,032 ราย อาการหนัก 5,536 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,169 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 239 ราย (นิวไฮ) เป็นชาย 120 ราย หญิง 119 ราย พบใน กทม.มากสุด 79 ราย รองลงมาคือ สมุทรสาคร 18 ราย 
    นอกจากนี้ มีหญิงตั้งครรภ์ชาวเมียนมาเสียชีวิต 1 ราย ที่สมุทรสาคร รวมถึงมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย อยู่ใน กทม. 4 ราย สระบุรี 1 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 7,973 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 208,686,505 ราย เสียชีวิตสะสม 4,383,513 ราย สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 4,397 ราย สมุทรสาคร 1,843 ราย สมุทรปราการ 1,200 ราย ชลบุรี 1,182 ราย นนทบุรี 983 ราย พระนครศรีอยุธยา 454 ราย ฉะเชิงเทรา 403 ราย สระบุรี 398 ราย ราชบุรี 398 ราย ศรีสะเกษ 397 ราย
    มีรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศกป.ศบค.) ได้หารือถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อใหม่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ยอดผู้ติดเชื้อไม่เป็นไปตามประมาณการ โดยจะให้อยู่ในระดับที่มีผู้ติดเชื้อ 20,000 รายต่อวัน แต่หากสิ้นเดือน ส.ค.นี้ อัตราการติดเชื้อยังคงที่และจำนวนเตียงยังไม่เพียงพอ ก็มีแนวโน้มที่อาจจะพิจารณาขยายการล็อกดาวน์ออกไป และเมื่อขยายเวลาก็จำเป็นต้องจะมีการผ่อนปรนในบางมาตรการ เนื่องจากเวลานี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก  
    ส่วนกรณีสมาคมกีฬาต่างๆ ที่ขอผ่อนคลายให้มีการจัดการแข่งขันกีฬา เช่น การแข่งขันฟุตบอลไทยลีกนั้น ให้เป็นไปตามที่สมาคมกีฬาให้ข่าวไปว่าพูดคุยกับทาง ศปก.ศบค.แล้ว โดยไม่ต้องเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด โดยให้เริ่มมีผลวันที่ 1 ก.ย. โดยการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นเป็นการแข่งขันแบบไม่มีผู้เข้าชม ส่วนข้อเสนอที่จะขออนุญาตให้มีการแข่งขันในพื้นที่สีแดงเข้มโดยไม่มีผู้ชมนั้น ทางสาธารณสุขยังไม่อนุญาต
    ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงว่า สัดส่วนอัตราป่วยตายตามกลุ่มอายุของผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 0-17 ปี พบมีการเสียชีวิตต่ำมากเพียง 0.7% ส่วนอายุ 18-40 ปี สูงกว่ากลุ่มอายุ 0-17 ปี เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ช่วงอายุ 41-60 ปี ในช่วงหลังของเดือน มิ.ย. ก็มีเพิ่มขึ้นมา 2% โดยมากสุดคือในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เดือน เม.ย.สูงถึง 6.97% และเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 9.01% ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์ที่เริ่มมีการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลตา ทำให้ผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้พบสูงสุดในเดือน มิ.ย. ก่อนที่ ก.ค.จะลดจำนวนลงมาที่ 12.7% หากในเดือนต่อไปมีแนวโน้มลดลงกว่านี้ก็จะเป็นสัญญาณที่ดี
    ส่วน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12​-18 ปี​ พบติดเชื้อรายใหม่​ในสัปดาห์​แรกเดือน ส.ค. จำนวน​ 7,787 คน​ และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 ​เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน​ คิดเป็นร้อยละ 12 ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่นจึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น 
    "ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยยังไม่แนะนำสำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีจนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น แต่มุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง" นพ.สุวรรณชัยกล่าว  
    ที่ศาลแพ่ง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายสุเทพ อู่อ้น, นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และทีมทนาย ร่วมเป็นตัวกลางนำนายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย และ น.ส.อักษิกา จันทรวินิจ หรือเพรียว ตัวแทนกลุ่มธุรกิจร้านนวด-สปา เดินทางเข้ายื่นฟ้องรัฐบาลร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดและสปาในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกสั่งปิดสถานประกอบการร้านนวดตามคำสั่งของรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการบริหารจัดการโควิด ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยไปเรียกร้องมาหลายหน่วยงานแล้ว
    นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดได้รับผลกระทบจากนโยบายสั่งปิดกิจการร้านนวดตั้งแต่ปี 2563 และถูกสั่งปิดต่อเนื่องทุกครั้งของการล็อกดาวน์ ซึ่งร้านนวดไม่เคยเป็นสถานที่เสี่ยง และไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น แต่รัฐก็ยังสั่งปิดร้านนวดทุกครั้ง จนผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ จนถึงขณะนี้ยังไม่รับการเยียวยาจากภาครัฐเลยสักครั้ง และในวันนี้กลุ่มผู้ประกอบการได้เรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐเป็นเงินจำนวน 200 ล้านบาท
    ทั้งนี้ ศาลรับคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มเเละให้นัดไต่สวนวันที่ 21 ก.ย. เวลา 09.00 น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"