สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ทำงานเสร็จสิ้น
ฉะนั้น สัปดาห์นี้สภาผู้แทนราษฎรจึงมีวาระงานที่สำคัญ โดยจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายปี 65 วาระ 2 และวาระ 3 ระหว่างวันที่ 18-20 ส.ค.นี้
สำหรับผลสรุปการพิจารณาคณะ กมธ.มียอดการปรับลดงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ตามมติของ กมธ.ทั้งสิ้น 16,362 ล้านบาท โดยได้จัดสรรเพิ่มงบจำนวนนี้ไว้ให้แก่ “งบกลาง” ทั้งหมดตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ
อย่างไรก็ตาม ในรายงาน กมธ.พบว่าหน่วยงานที่โดนตัดงบประมาณสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ อันดับที่ 1 กระทรวงกลาโหม ปรับลด จำนวน 3,226 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 92,753 ล้านบาท อันดับที่ 2 รัฐวิสาหกิจ ปรับลด สูงสุด จำนวน 2,231 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 61,944 ล้านบาท อันดับที่ 3 กระทรวงศึกษาธิการ ปรับลด 1,950 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 49,119 ล้านบาท อันดับที่ 4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับลด จำนวน 1,398 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 76,410 ล้านบาท อันดับที่ 5 กระทรวงมหาดไทย ปรับลด จำนวน 744 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 259,593 ล้านบาท
อันดับที่ 6 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปรับลด จำนวน 641 ล้านบาท อันดับที่ 7 กระทรวงการคลัง ปรับลด จำนวน 334 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 10,948 ล้านบาท อันดับที่ 8 กระทรวงการต่างประเทศ ปรับลด จำนวน 211 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 3,744 ล้านบาท อันดับที่ 9 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับลด จำนวน 205 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 34,684 ล้านบาท และ อันดับที่ 10 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับลด จำนวน 158 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 11,235 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะ กมธ.ยังให้ความเห็นและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับงบกลางว่า “การใช้งบกลางด้านค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มาจากการแปรญัตติปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ต้องใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 เท่านั้น โดยไม่นำไปใช้เรื่องอื่นๆ อีกทั้งการใช้งบกลางเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินควรตรวจการเงิน ตามอำนาจที่มีไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 และเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ และควรให้ กมธ.ของสภาฯ ได้ติดตาม ตรวจสอบ เพื่อให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพ โปร่งใส”
ข้อสังเกตของคณะ กมธ.ยังระบุถึง “เงินนอกงบประมาณ” คาดว่าจะสูงถึง 4,375 ล้านบาท จึงควรเปิดเผยให้ กมธ.ได้ตรวจสอบ และที่สำคัญควรทบทวนการจัดทำงบประมาณแผนบูรณาการอย่างจริงจัง เนื่องจากพบว่ามีหลายโครงการภายใต้แผนบูรณาการไม่สามารถทำให้เกิดกระบวนการบูรณาการได้ และเป็นเพียงแผนงานที่รวบรวมจากหลายโครงการเท่านั้น
สำหรับกระทรวงกลาโหม กมธ.แนะนำไว้น่าสนใจหลายประเด็น อาทิ ให้ศึกษาและพัฒนางานวิจัยของหน่วยงาน เพื่อเตรียมรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์รูปแบบปัจจุบันไม่สามารถรับมือได้ ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญกับการรบสมัยใหม่ เช่น การใช้ระบบดาวเทียมและทางอากาศ แทนการใช้อาวุธบนพื้นราบเหมือนในอดีต
ควรส่งเสริมผู้ประกอบการไทยหรือผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม จึงควรยกเว้นอากรนำเข้าสำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เหมือนกับอาวุธยุทโธปกรณ์สำเร็จรูปที่หน่วยงานนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า
ควรลดงบประมาณจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ที่ยังไม่จำเป็นในภาวะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางการคลัง โดยเฉพาะโครงการที่เป็นที่ก่อหนี้ผูกพันข้ามปี เพราะสถานการณ์ทางการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการเก็บรายได้ที่ลดลงจากสภาพ เศรษฐกิจที่ถดถอย
ควรพิจารณาภารกิจและหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย ว่ามีภารกิจที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีความซ้ำซ้อนควรหาแนวทางเพื่อแบ่งการดำเนินงานของ 2 หน่วยงานให้ชัดเจน
ควรมีแผนปรับลดจำนวนบุคลากรของหน่วยงานตามแผนปฏิรูปกองทัพที่เกิดผลสัมฤทธิ์เร็วขึ้น เพราะแผนในปัจจุบันจะปรับขนาดกองทัพได้ ช้าเกินไปจนทำให้โครงสร้างกำลังพลไม่ตอบรับ สถานการณ์ภัยคุกคาม และไม่สามารถแก้ปัญหาภาระงบประมาณของประเทศได้ทันการณ์
ควรขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน หากมีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ เพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมของหน่วยงาน
ทั้งนี้ คณะ กมธ.ยังให้ข้อสังเกตหน่วยงานที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดการการแพร่ระบาดโควิดด้วย คือ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า ควรเปิดเผยสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้สามารถตรวจสอบความโปร่งใสและประสิทธิภาพ การทำงานได้ หรือหากเปิดเผยสัญญาไม่ได้ เนื่องจากเหตุผลเป็นชั้นความลับตามที่ตกลงกับคู่สัญญา ควรเปิดเผยหลักฐานที่มีการระบุข้อความที่คู่สัญญาระบุไว้ว่าเป็นสัญญาที่ห้ามเปิดเผย
อีกทั้งควรร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ไม่ควรแบ่งพื้นที่การทำงาน ทั้งนี้ ในกรุงเทพมหานครมีประชาชนจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานจำนวนมาก หน่วยงานควรจัดรถรับ-ส่งจากกรุงเทพมหานครให้กับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดได้กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา
และควรพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับจังหวัดที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น มีคลัสเตอร์ใหม่ รวมทั้งจัดหาวัคซีนให้กับแรงงานข้ามชาติเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดในแต่ละพื้นที่ โดยไม่เลือกปฏิบัติ
วันพุธที่จะถึงนี้ขอให้จับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาเป็นงบประมาณรายจ่าย ก็คือเงินภาษีของประชาชนคนไทยทุกคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |