จับตา ศบค.ประชุม เคาะคลายล็อก 4 ธุรกิจในห้าง “แรงงาน” ชงแฟคตอรีแซนด์บ็อกซ์ หวังแยกปลาออกจากน้ำ คุมโควิดคู่กับเดินหน้าเศรษฐกิจ “สุชาติ” เล็งประเดิม 4 อุตสาหกรรมใน 4 จังหวัด เริ่มปลายเดือนนี้
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า สำหรับการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 12/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ส.ค. มีวาระสำคัญคือการพิจารณาขยายมาตรการยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด เดิมระบุว่าจะดูถึงช่วงถึงวันที่ 18 ส.ค. อาจจะต้องขยายไปให้ถึงวันที่ 31 ส.ค. เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับที่สูงมาก รวมถึงยังมีการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการในห้างสรรพสินค้าตามที่สมาคมศูนย์การค้าไทยเสนอขอผ่อนปรน 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธนาคารและสถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อสารและไอที ร้านเบ็ดเตล็ด และร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น
นอกจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะเสนอขอให้พิจารณาผ่อนปรนการล็อกดาวน์ธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ 4 ประเภท ได้แก่ อาหาร ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถส่งออกได้ ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจดังกล่าวมากไปกว่านี้ รวมถึงการดำเนินการโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน หรือ Factory Sandbox
ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรืออีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอให้ ศบค.พิจารณาขยายเวลาการใช้มาตรการควบคุมโรคใน จ.ภูเก็ตออกไปอีก เนื่องจากคำสั่งเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 16 ส.ค. และมีรายงานว่า ศบค.อาจพิจารณากรณีสมาคมฟุตบอลฯ เสนอแนวทางการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีกำหนดการเปิดสนามนัดแรกในช่วงวันที่ 3-5 ก.ย. ว่าจะสามารถแข่งขันได้ตามกำหนดหรือไม่
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.จะเสนอมาตรการแฟคตอรีแซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) ซึ่งเป็นรูปแบบการผสมผสานมาตรการสาธารณสุขกับเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เพื่อควบคุมโควิดในพื้นที่โรงงานและกิจการก็เดินสายการผลิตต่อไปได้ ทั้งนี้ สำหรับโครงการแฟคตอรีแซนด์บ็อกซ์ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง สธ., แรงงาน, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจหาโควิดเชิงรุกภายในโรงงาน หากพบผู้ติดเชื้อจะนำผู้ป่วยแยกตัวไปเข้าสู่ระบบการรักษาตามโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือประกันสังคม ส่วนผู้ไม่พบเชื้อจะได้รับการฉีดวัคซีนทันที โดยเบื้องต้นเตรียมขอวัคซีนประมาณ 200,000-300,000 โดส เพื่อใช้ในโครงการนี้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อทำการสุ่มตรวจหาเชื้อในแรงงานทุกสัปดาห์ และต้องควบคุมเส้นทางการเดินทางของแรงงาน (Sealed Route) เช่นเดียวกับการควบคุมการระบาดในแคมป์คนงานก่อนหน้านี้
“โครงการแฟคตอรีแซนด์บ็อกซ์ จะเริ่มต้นกับอุตสาหกรรม 4 ประเภท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำร่องใน 4 จังหวัดคือ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรสาคร โดยเน้นไปที่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีแรงงานตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 400 แห่ง มีแรงงานรวมกันมากกว่า 400,000 คน คาดว่าหาก ศบค.ให้ความเห็นชอบ จะสามารถเริ่มโครงการได้ในช่วงปลายเดือน ส.ค. และจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เราแยกปลาออกจากน้ำ”
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) โดยจะดำเนินการทยอยโอนให้ลูกจ้างและนายจ้าง ม.33 พื้นที่ 16 จังหวัดที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ต่อไป พร้อมกับโอนเงินให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ใน 29 จังหวัด กลุ่มแรกวันที่ 24 สิงหาคมนี้ เช่นกัน ซึ่งจะทยอยโอนวันละ 1 ล้านราย โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
นายธนกรกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประจำปีการศึกษา 1/2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างการยืนยันตรวจสอบสิทธิ์การได้รับความช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการ จะโอนเงินช่วยเหลือให้นักเรียนและผู้ปกครองในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ได้รับเงินเยียวยาในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมีประมาณ 11 ล้านคน วงเงินรวมประมาณ 21,600 ล้านบาท
โฆษก ศบศ.กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการผู้ใช้สิทธิ์สะสมรวม 38 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 62,967.7 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพิจารณาเชื่อมต่อแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีเพื่อให้สามารถเชื่อมกับโครงการคนละครึ่งด้วย คาดว่าจะดำเนินการเชื่อมระบบเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ เพื่อให้ทันกับการรองรับการโอนเงิน “คนละครึ่ง” รอบ 2 อีก 1,500 บาท ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเร่งเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |