15 ส.ค.2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยในการเป็นประธานทดสอบระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 (M9) หรือวงแหวนกาญจนาภิเษก (บางปะอิน-บางพลี) ของกรมทางหลวง (ทล.) โดยลงพื้นที่ศูนย์ควบคุมกลาง (CCB ลาดกระบัง) ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อทดสอบระบบ อุปกรณ์เชื่อมต่อ และระบบควบคุม ในการแก้ไขปัญหารถติดหน้าด่าน และเตรียมความพร้อมก่อนให้บริการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าการทดสอบดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ตามสมมติฐาน หลังจากที่มีรถเข้าใช้ระบบมีการบันทึกกล้องตรวจจับป้ายทะเบียน สามารถอ่านหมายเลขทะเบียน และส่งข้อมูลมายังระบบหลังศูนย์ควบคุมได้ เพื่อให้ตรวจสอบความแม่นยำในระบบอีกครั้ง ขณะนี้ระบบหลังบ้านสามารถทำงานได้ 98.5% แล้ว คาดว่าอีก 2-3 เดือน เมื่อมีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีความสมบูรณ์ในการใช้งาน 100% ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บค่าผ่านทางพร้อม 100% โดยการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ และก้าวสู่ยุคดิจิทัล ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้กรมทางหลวง จะเปิดทดสอบระบบเสมือนจริงแบบครบวงจร (Soft Opening) ในช่วง ต.ค. 2564 เบื้องต้นที่ด่านธัญบุรีก่อน จากนั้นจะพยายามเปิดให้บริการระบบ ระบบ M-Flow ให้ครบทั้ง 4 ด่าน ประกอบด้วย ด่านทับช้าง 1, 2 และด่านธัญบุรี 1, 2 ภายใน ม.ค. 2565 ต่อไป ก่อนที่จะขยายผลมาใช้กับทางพิเศษ (ทางด่วน) ฉลองรัฐของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะแรก จำนวน 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจตุโชติ, ด่านสุขาภิบาล 5-1, และด่านสุขาภิบาล 5-2 ไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2565 หรือภายใน มี.ค. 2565 และจะขยายผลมาใช้กับทางด่วนฉลองรัฐระยะที่ 2 บูรพาวิถี และ กาญจนาภิเษก รวมทั้งมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง ภายในปี 2565 หรืออย่างช้าต้นปี 2566
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ระบบ M-Flow จะช่วยแก้ปัญหารถติดหน้าด่านได้ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการระบายรถหน้าด่านได้เร็วขึ้น 5 เท่า หรือ 2,000 คัน/ช่อง/ชม. โดยรองรับการใช้ความเร็วได้สูงสุดอยูที่ 160 กม./ชม. แต่ขณะที่กฎหมายกำหนดอยู่ที่ 120 กม./ชม. ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับระบบชำระด้วยเงินสด หรือระบบชำระค่าผ่านทางอัตโนมัติ เช่น เอ็มพาส (M-Pass) และอีซี่พาส (Easy-pass) อยู่ที่ 400 คัน/ช่อง/ชม. นอกจากนี้ระบบดังกล่าว จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในอนาคตเรื่องบุคลากร โดยหันมาใช้เทคโนโลยีในการเข้ามาทำงานแทน รวมทั้งเข้าสู่ระบบ New Normal ในการช่วยเรื่องลดสัมผัส และการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย
สำหรับอัตราค่าบริการนั้น จะคิดตามประเภทรถที่ต้องชำค่าผ่านทางที่ใช้ในปัจจุบันเดิมอยู่แล้ว แบ่งเป็น รถขนาด 4 ล้อ ราคา 30 บาท/ด่าน, รถขนาด 6 ล้อ ราคา 50 บาท/ด่าน และรถขนาด 10 ล้อขึ้นไป ราคา 70 บาท/ด่าน ซึ่งมอเตอร์เวย์ M9 มีระยะทาง 64 กิโลเมตร (กม.) อัตราค่าผ่านทางคิดเป็น ไม่เกิน 50 สตางค์/กม. ส่วนการชำระค่าบริการนั้น จะมีการชำระค่าผ่านทางผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือทางแอพพลิเคชั่นที่กำลังพัฒนาขึ้นรองรับระบบชำระค่าผ่าทางของระบบ M-Flow ทั้งแบบเติมเงิน (Prepaid) หรือแบบรายเดือน (Postpaid) คล้ายกับการจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกของประชาชนมากขึ้น จากเดิมที่จะต้องมีการซื้อคูปอง หรือบัตรชำระค่าผ่านทางต่างๆ
ขณะเดียวกัน ทล. อยู่ระหว่างพิจารณาจัดโปรโมชั่น เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้ระบบดังกล่าว อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงโควิด-19 โดยการจัดโปรโมชั่นดังกล่าว มอบหมายให้ไปศึกษา มีต้นแบบการลดราคา 25-50% ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า การจัดโปรโมชั่นดังกล่าว จะกระทบกับงบประมาณของกองทุนมอเตอร์เวย์มากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งพิจารณาระยะเวลาโปรโมชั่น ซึ่งอาจจะเป็น 7 วัน, 14 วัน หรือ 30 วัน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนผู้ใช้ทางที่ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าผ่านทางนั้น ขณะนี้ ทล. บูรณาการร่วมกับ กทพ., กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และตำรวจทางหลวง เพื่อเตรียมมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าผ่านทาง รวมทั้งปรับแก้กฎหมายมารองรับ เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าผ่านทางจะมีอัตราโทษปรับ 10 เท่าจากค่าผ่านทางที่ต้องชำระในด่านที่ใช้บริการนั้นๆ เช่น รถ 4 ล้อ ต้องจ่าย 30 บาท/ด่าน จะปรับ 300 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีค่าปรับแพงมาก หรือปรับเป็นพันเหรียญสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน หากยังฝ่าฝืนอยู่ไม่ยอมจ่ายหรือค้างชำระจะมีผลต่อการนำรถไปต่อภาษีประจำปีกับ ขบ.ด้วย
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า สำหรับการทดสอบแบบเสมือนจริงนั้น จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นสมาชิก เพื่อทดลองใช้บริการและมีส่วนร่วมในการทดสอบเสมือนจริง นอกจากนี้ยังได้เตรียมที่จะมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้ผู้ใช้ทางเข้ามาใช้ระบบ M-Flow ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ทล. ออกแบบระบบ M-Flow ในรูปแบบของ Single Platform System เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการทางพิเศษทั่วประเทศได้บนแฟลตฟอร์มเดียวกัน โดยบูรณาการเทคโนโลยีและการให้บริการอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยในระดับสากล
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบให้รองรับความต้องการใช้งาน และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของประชาชนในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นสังคมไร้เงินสด ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติด้วยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต การหักบัญชีธนาคารแบบอัตโนมัติ การตัดชำระผ่านระบบ Pre-Paid เช่น M-Pass Easy-Pass และ Wallet อื่นๆ ในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็จะยังคงมีบริการรับชำระเงินผ่านช่องของทางธนาคาร และ Counter Service ในรูปแบบต่างๆ ผ่าน QR Code ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยตลอดการเดินทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจสมัครใช้บริการช่วงทดสอบระบบเสมือนจริงแบบครบวงจร ระบบ M-Flow เดือน ต.ค.64 สามารถลงทะเบียนผ่านทางช่องทาง ดังนี้ 1.เว็บไซต์ : www.mflowthai.com 2.โมบายแอพพลิเคชั่น : Mflow และ 3.จุดบริการที่กรมทางหลวงกำหนด ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดการลงทะเบียนเพิ่มเติม ผ่านทาง เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/mflowthailand
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |