15 ส.ค. 64 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าว สถานการณ์โรคโควิด 19 และวัคซีนโควิด 19 ว่า ในวันนี้รายงานผู้ติดเชื้อกว่า 2 หมื่นคน หายป่วยกลับบ้านกว่า 2 หมื่นคน ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบกว่า 5,000 คน ใส่ท่อช่วยหายใจกว่า 1,000 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ 362 คน ยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 209 ราย รวมยอดสะสมกว่า 7,400 คน คิดเป็น 0.85% อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยเฉลี่ยผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 7,552 คน และผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 9 แสนคน
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงการเสียชีวิตวันที่ 15 ส.ค.จำนวน 209 รายว่า อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 83 คน และ 5 จังหวัดปริมณฑล อาทิ สมุทรสาคร นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี จำนวน 58 คน รวม 2 พื้นที่ 141 คน ซึ่งเป็นตัวเลขรวมของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ของทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็นผู้เสียชีวิตเพศชาย 117 คน เพศหญิง 92 คน โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 68 ปี ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มสำคัญ เพราะในกลุ่มผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 137 คน คิดเป็น 66% ส่วนอายุน้อยกว่า 60 ปี แบ่งเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 48 คน คิดเป็น 23% ไม่มีโรคเรื้อรัง 22 คน คิดเป็น 11% เป็นเหตุผลสำคัญในการเน้นย้ำเรื่องการฉีดวัคซีน เพราะมีผลในการป้องกันการเสียชีวิตและป่วยรุนแรง อีกส่วนที่สำคัญคือ การเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ 2 ราย ในพื้นที่จ.ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงในภาพรวม พบว่ามีโรคประจำตัวจะพบความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมไปถึงภาวะอ้วน และโรคประจำตัวอื่นๆ
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า จากที่ได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มอายุของผู้เสียชีวิตมาตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 พ.ค.-14 ส.ค.64 จำนวน 6,758 คน โดยในแผนภูมิที่แสดงกลุ่มอายุของผู้เสียชีวิต สีน้ำเงินเข้มอายุ 60-69 ปี มีประมาณ 24% และสีน้ำตาลอายุ 70 ปีขึ้นไป 42% โดยเฉลี่ยกลุ่มอายุทั้งสองสีนี้อยู่ที่ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 68% ดังนั้นการฉีดวัคซีนก็จะช่วยป้องกันความรุนแรงและการเสียชีวิต ในภาพรวมสถานการณ์ของประเทศไทยยังมีรายการติดเชื้ออยู่ในระดับสูงและคงตัวอยู่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มีมาตรการต่างๆที่เข้มข้นมากขึ้นต่อเนื่องในเดือน ส.ค. โดยพื้นที่ต่างจังหวัดเมื่อก่อนยอดรวมผู้ติดเชื้ออาจจะน้อยกว่าในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีการส่งผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนาทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เยอะขึ้น
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนในไทยเพิ่มจากเมื่อวานจำนวน 2.8 แสนคน สะสมแล้วกว่า 23.4 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17.8 ล้่านคน คิดเป็น 24% และในเข็มที่ 2 จำนวน 5.07 ล้านคน คิดเป็น 7% โดยแยกตามยี่ห้อ ซิโนแวคฉีดไปจำนวน 11 ล้านคน แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านคน ซิโนฟาร์ม 1.8 ล้านคน และไฟเซอร์ 3.6 แสนคน โดยครอบคลุมในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับเข็มที่ 1 แล้วจำนวน 8.5 แสนคน เจ้าหน้าที่ด่านหน้าอื่นๆจำนวน 9.7 แสนคน อสม. จำนวน 5.6 แสนคน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจำนวน 1.9 ล้านคน
ส่วนกรณีข่าวการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) นพ.เฉวตสรร ชี้แจงว่าตามมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 ส.ค.64 ว่า ในข้อนะนำการให้วัคซีน เพื่อทำให้การเข้าถึงการฉีดวัคซีนกว้างขวางและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากการฉีดที่มีคนมารับการฉีดมากกว่า 23 ล้านโดส แสดงถึงความมั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิผลวัคซีน ดังนั้นการฉีดที่รพ.สต. เป็นการจัดบริการให้ใกล้บ้าน และสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งในรายละเอียดคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ก็จะมีการประกาศข้อกำหนดและข้อแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบว่า จะเข้าถึงการฉีดได้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการฉีดนอกสถานพยาบาลที่จะทีมบุคลากรทางการแพทย์ไปฉีด ณ จุดให้บริการ เช่น วัด โรงเรียน หรืออาคารที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย หรือการฉีดตามบ้าน รถโมบาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและบริบทของพื้นที่เพราะต้องมีการจัดบริการที่มีมาตรฐานและครอบคลุม ทั้งอุปกรณ์การฉีดและอุปกรณ์กู้ชีพ ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีน ขึ้นอยู่กับนโยบายและดุลยพินิจของกลุ่มอายุที่จะได้รับวัคซีน รวมไปถึงกลุ่มโรคเรื้อรัง
เมื่อถามถึงในกรณีที่คนในชุมชนหายหน้าไปรักษาโควิดประมาณ 10 วันและ 14 วัน กลับมาใช้ชีวิตปกติในชุมชนจะได้หรือไม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า แนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดในปัจจุบันจะยึดการรักษาผู้ป่วยให้ครบ 14 วัน นับจากวันเริ่มป่วยวันแรก และมีการไปรักษาในโรงพยาบาล หรืออาจจะออกจากโรงพยาบาลมาก่อน 14 วัน ต้องกลับมาแยกกักตัวอยู่ที่บ้านให้ครบ 14 วัน เมื่อครบตามกำหนดแล้วก็ถือว่าหาย เพราะองค์ความรู้สำคัญ คือ ในระยะการรักษา 14 วันจะพ้นระยะของการแพร่เชื้อโรค หรือต้องตรวจให้เจอว่าไม่มีเชื้อหรือไม่นั้น มีแนวทางเขียนชัดเจน ไม่แนะนำให้มีการตรวจ เนื่องจากการตรวจไม่เจอเชื้ออาจจะมีซากเชื้อปริมาณน้อยๆ ที่อาจจะตรวจเจอได้หากนานเกินกว่า 14 วัน แต่ไม่ได้แปลว่าจะแพร่สู่คนอื่น เพราะไปซากเชื้อที่ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ แต่ก็ยังคงมาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้นเช่นเดิม หวังว่าพี่น้องในชุมชนจะเข้าใจ มั่นใจ และอย่างได้รังเกียจ เพราะทุกคนก็ต้องกลับไปดำเนินชีวิต
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงภาพรวมของโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 207 ล้านคน มีรายงานเพิ่มจากเมื่อวานจำนวน 5.5 แสนคน โดยรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดยังคงเป็นสหรัฐอเมริกากว่า 37 ล้านคน โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานกว่า 4.4 หมื่นคน รองลงมาคือ ประเทศอินเดียอยู่ที่ 32 ล้านคน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานจำนวน 3.6 หมื่นคน ซึ่งหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางก็ยังพบการติดเชื้อรายใหม่ในจำนวนที่มาก แต่จำนวนการเสียชีวิตมีจำนวนที่น้อยลง อย่างไรก็ตามการระบาดครั้งนี้จะต้องมีการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยตลอด เพราะสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
จากการเปรียบเทียบประชากรในอัตราการป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน พบสหรัฐอเมริกามากสุดในจำนวน 1.1 แสนคน รองลงมาคืออังกฤษจำนวน 9.1 หมื่นคน มาเลเซีย 4.2 หมื่นคน ส่วนไทยอยู่ที่ 1.2 หมื่นคน และอัตราการตายต่อประชากร 1 ล้านคน พบสูงสุดในอังกฤษ 1,917 คน รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 1,913 คน ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 108 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ห่างจากประเทศที่เจอการระบาดในระลอกแรกและสองอย่างมาก
จากการคำนวนจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิดรายใหม่เฉลี่ยรายวัน โดยการเฉลี่ยยอดหลัง 7 วัน ในกราฟพบว่าสหรัฐมีการติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเกินแสนคน ในจำนวนนี้การเสียชีวิตไม่สูงมาก โดยทางศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการมาตรการแนวทางในการสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกัน จะเห็นว่าแม้มีการฉีดวัคซีน mRNA ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงก็ยังมีโอกาสการติดเชื้อโควิด สายพันธุ์เดลต้าได้ รองลงมาคืออังกฤษที่เฉลี่ยรายวันเกินหมื่นคน ใกล้เคียงกับฝรั่งเศส และเยอรมันนีที่ต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณวันละ 5 พันคน ใกล้เคียงกับประเทศอิสราเอลที่มีการฉีดวัคซีนในวงกว้าง
ด้านความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในอาเซียนรวมฉีดไปแล้วกว่า 203 ล้านโดส โดยอันดับที่ 1 คือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดมีการฉีดวัคซีนไปจำนวน 82 ล้านโดส คิดเป็นเป็นเข็มที่ 1อัตรา 19.6% อันดับที่ 2 คือ มาเลเซียฉีดไปทั้งสิน 26.8 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มที่ 1จำนวน 51% อันดับ 3 ประเทศฟิลิปปินส์ 26.1 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มที่ 1 เท่ากับ 12.7% และอันดับที่ 4 ประเทศไทยรวม 23 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มที่ 1 เท่ากับ 26.7% ซึ่งตัวหาร ณ ขณะนั้น อาจจะแตกต่างจากยอดรวมวัคซีนสะสมของประเทศ ซึ่งห่างจากอันดับรองลงคือประเทศกัมพูชามากพอสมควร ซึ่ง 10 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในปริมาณที่สูงที่สุด คือ ประเทศจีนจำนวน 1.8 พันล้านโดส รองลงมาคือประเทศอินเดียจำนวน 529 ล้านโดส สหรัฐอเมริกาจำนวน 354 ล้านโดส บราซิลจำนวน 160 ล้านโดส ญี่ปุ่นจำนวน 108 ล้านโดส เยอรมันนีจำนวน 96 ล้านโดส อังกฤษจำนวน 87 ล้านโดส ตุรกีจำนวน 82.77 ล้านโดส อินโดนีเซียจำนวน 82.22 ล้านโดส และฝรั่งเศสจำนวน 80 ล้านโดส
ทั้งนี้ขอย้ำว่า การจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ในส่วนของการบริจาคจำนวน 1.5 ล้านโดส มีการกำหนดปริมาณการจัดสรรตามกลุ่มเป้าหมายชัดเจน สามารถติดตามได้ ไม่มีวัคซีนส่วนไหนจะสูญหาย และไม่มีการฉีดวีไอพี เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน หากประชาชนพบเหตุการณ์ที่น่าสงสัยสามารถรายงานมาได้ที่ สธ. เพื่อทำการตรวจสอบ รวมถึงได้มีการย้ำไปทุกจุดที่ให้บริการวัคซีนว่า ต้องฉีดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ บุคลากรด่านหน้า จากการติดตามเมื่อเช้าวันนี้ก็พบว่าในจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ก็เริ่มมีการฉีดไฟเซอร์ในกลุ่มเสี่ยงแล้ว และย้ำอีกทีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูง และมีการเสียชีวิตเกิน 200 คนต่อวัน จึงมีการเพิ่มมาตรการดูแลและการตรวจหาเชื้อด้วย ATK รวมไปถึงการระดมการฉีดวัคซีนให้ถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในปีนี้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |