ภาพ : ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
เครดิตภาพ : https://www.pmo.gov.sg/Photos/Asia-Regional-Commonwealth-Leaders-Roundtable---May-2021
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2021 ในที่ประชุม Aspen Security Forum ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เอ่ยถึงสถานการณ์โลกที่สำคัญเกี่ยวข้องกับเอเชียแปซิฟิก มีสาระสำคัญดังนี้
ประเด็นแรก โควิด-19
นายกฯ ลีเอ่ยถึงโควิด-19 เป็นประเด็นแรก กล่าวว่า หลายประเทศสถานการณ์ดีขึ้น จำนวนคนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่สายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดและสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดในอนาคต ทำให้สถานการณ์วันข้างหน้าอาจซับซ้อน ณ ตอนนี้วัคซีนคือคำตอบ
นานาชาติหวังว่าโรคระบาดจะผลักดันให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือใกล้ชิดเหมือนสมัยเหตุการณ์ 9/11 ที่ร่วมกันต่อต้านผู้ก่อการร้าย น่าเสียใจโรคระบาดโควิด-19 ไม่เป็นเช่นนั้น แม้มีความร่วมมืออยู่บ้าง เช่น โครงการวัคซีน COVAX แต่ภาพหลักคือหลายประเทศแย่งซื้อสินค้าสำคัญ เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPEs วัคซีน กล่าวโทษกันว่าไวรัสมาจากที่ใด ซ้ำเติมให้ประชาชนวิตกกังวล รู้สึกไม่มั่นคง
ประการที่ 2 มุมมองต่อสหรัฐระดับภูมิภาค
การก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดีไบเดนทำให้นโยบายต่างประเทศสหรัฐกลับสู่สภาพปกติมากขึ้น (ลักษณะที่คุ้นเคย คาดเดาได้) เน้นพหุภาคีนิยม สร้างหุ้นส่วนและเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก นานาชาติพากันโล่งอกและอยากเห็นยุทธศาสตร์สหรัฐที่เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้ระเบียบโลกคงตัวดังเช่นหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ประการที่ 3 ประเด็นสหรัฐกับจีน
ไม่กี่ปีมานี้ความสัมพันธ์สหรัฐกับจีนเลวร้ายลง ทั้ง 2 พรรคใหญ่ของอเมริกาคิดตรงกันมองจีนในแง่ลบ การมองจีนแง่ลบนี้ขยับลงจนถึงระดับประชาชนคนอเมริกันซึ่งมีผลต่อนโยบายรัฐบาล เช่นเดียวกับมุมมองจีนต่อสหรัฐเปิดเผยชัดเจนรุนแรงขึ้น อิทธิพลทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจจีนเติบใหญ่ขึ้น แสดงบทบาทในเวทีนานาชาติอย่างกระตือรือร้น ปรับเปลี่ยนระเบียบระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ตนเอง ในขณะเดียวกัน พันธมิตรกับมิตรสหรัฐปรารถนารักษาความสัมพันธ์กับทั้งคู่ รู้ว่าความขัดแย้งไม่ก่อผลดีใดๆ หากปะทะกันจะเป็นหายนะต่อทั้งคู่และโลก
นายกฯ ลีมองการเยือนเอเชียแปซิฟิกของรัฐมนตรีต่างประเทศ Antony Blinken กับรัฐมนตรีกลาโหม Lloyd Austin และรองประธานาธิบดี Kamala Harris ที่กำลังจะมาในแง่บวก แสดงให้เห็นว่าสหรัฐต้องการลงทุนในภูมิภาคและมีผลประโยชน์ที่ต้องปกป้อง สหรัฐมีบทบาทด้านความมั่นคงและสมดุลอำนาจภูมิภาค ทั้งยังมีผลประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนด้วย หวังว่าสหรัฐจะแสดงบทบาทสร้างระเบียบโลกที่ตั้งบนกฎเกณฑ์และนำทุกประเทศเข้าร่วม
นายกฯ ลีมองความขัดแย้ง 2 มหาอำนาจในแง่บวกชี้ว่าไม่ใช่เรื่องที่จะระเบิดพรุ่งนี้ แต่เป็นเรื่องที่มีผลร้ายแรงตามมา ขึ้นกับว่าทั้งคู่มองอีกฝ่ายอย่างไร จนบัดนี้สหรัฐยังคงเห็นว่าร่วมงานกับจีนได้แม้มีเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ ขัดแย้งกัน เช่น ประเด็นการค้า ค่าเงิน สิทธิมนุษยชน
จีนในวันนี้ยังไม่คิดท้าทายอเมริกา แต่จีนเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว ทะเยอทะยานมากขึ้น มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งต่อภูมิภาคกับโลกมากกว่าเดิม โดยเฉพาะต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ใกล้จีน
ฝ่ายรัฐบาลไบเดนมองจีนเป็นคู่แข่งขัน จีนเป็นศูนย์กลางอิทธิพลและความมั่งคั่งอีกศูนย์หนึ่ง สหรัฐต้องตัดสินใจว่าจะตอบสนองเรื่องนี้อย่างไร
สมัยก่อนคนอเมริกันมีความมั่นใจ เปิดแข่งขันเสรีให้คนเก่งสุดชนะ เพราะมั่นใจว่าตนจะเป็นผู้ชนะ มาบัดนี้ไม่มั่นใจเหมือนเดิมแล้ว สหรัฐยังต้องการเป็นผู้ชนะโดยทางใดทางหนึ่ง ยังพูดว่าต้องการแข่งขัน แต่เป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม
นายกฯ ลีไม่มั่นใจว่ารัฐบาลไบเดนจะไม่มองจีนเป็นแค่คู่ขัดแย้ง กำลังคิดหาวิธีจัดการจีน ฝ่ายจีนคิดว่าสหรัฐพยายามสกัดการก้าวขึ้นมาของตน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเป็นโลกหลายขั้ว ขั้วเหล่านี้ควรทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ร่วม สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน
หลายคนเอ่ยเรื่องอเมริกาถดถอย แต่นายกฯ ลีไม่เชื่อเช่นนั้น ในขณะกันไม่เชื่อว่าสหรัฐจะคว่ำจีนแบบที่ทำกับอัฟกานิสถานหรืออิรัก เพราะจีนเต็มด้วยพลัง คนเก่ง ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะโดดเด่นในเวทีโลกอีกครั้ง เมื่อต่างไม่สามารถล้มอีกฝ่าย การปะทะกันจึงไร้ประโยชน์ สิ่งที่ควรทำคือ “หยุดไว้ก่อน” และคิดทบทวนว่าควรทำอย่างไรต่อไป
ประเด็นที่ 4 ไต้หวัน
จีนถือว่าไต้หวันเป็นผลประโยชน์สำคัญของตน การรวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูชาติ เป็นการก้าวข้ามเส้นต้องห้ามหากไต้หวันประกาศอิสรภาพ นานาชาติไม่เห็นด้วยกับแนวคิดไต้หวันประกาศอิสรภาพ สิ่งที่ควรทำคือรักษาสถานะเดิม เพิ่มความร่วมมือด้านต่างๆ ตามแนวทาง 1992 Consensus
ปัญหาในระยะนี้มาจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ที่ไม่อยากยึดแนวทาง 1992 Consensus อีกทั้งมุมมองคนไต้หวันส่วนใหญ่ที่ระยะหลังมองแง่ลบต่อจีนมากขึ้น คิดว่าตนเป็นชาวไต้หวัน (ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีนอีกต่อไป)
สิ่งที่จีนทำคือพยายามกดดันไต้หวันทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่จะไม่บุ่มบ่ามลงมือก่อน เพราะแม้ชนะสงคราม แต่ยากจะปกครอง 20 ล้านคนที่ไม่ยินยอม
แม้สหรัฐในระยะหลังจะแสดงท่าทีแข็งกร้าว แต่ลึกๆ แล้วรัฐบาลไบเดนยังคงยึดหลักการดั้งเดิม ยอมรับนโยบายจีนเดียว (one China policy) ไม่เห็นด้วยหากจีนหรือไต้หวันเปลี่ยนท่าทีจากเดิม ประเด็นไต้หวันจึงไม่ใช่เรื่องเร่งร้อนในขณะนี้
ประเด็นที่ 5 โลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ก่อประโยชน์มากมาย ไม่เพียงเรื่องการค้าการลงทุน ยังส่งเสริมโอกาสที่จะเดินทางไปที่ต่างๆ หางานเหมาะกับตนเองมากสุด แม้มีผลกระทบบ้างต่อคนพื้นถิ่น จำต้องมีกฎระเบียบควบคุม ทุกอย่างจะสัมพันธ์กัน การค้าจะสัมพันธ์กับการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างคนชาติต่างๆ การพยายามกีดกันการค้าการลงทุนต่างชาติจะสร้างความเสียหายแก่ทั้งคู่
สิงคโปร์มีแรงงานต่างด้าว รวมทั้งพวกมืออาชีพ รัฐบาลจำต้องชี้แจงต่อประชาชนว่าทำไมจึงต้องใช้แรงงานต่างด้าว
การไม่พึ่งพาอาศัยกันจะยิ่งทำให้เป็นศัตรูกันมากขึ้น การสร้างขั้วเศรษฐกิจแบบยุคสงครามเย็นไม่เป็นผลดี ทุกวันนี้ชาติเอเชียหลายประเทศเป็นคู่ค้าสำคัญกับยุโรป จีน และเป็นมิตรหรือพันธมิตรกับอเมริกา จึงต้องคิดหนักหากจะแตกหักความสัมพันธ์กัน
มีอีกมากที่ต้องเพิ่มความร่วมมือ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องเหล่าทั้งจีนกับสหรัฐไม่อาจจัดการหรือแก้ไขด้วยตัวเอง ต้องวางกฎเกณฑ์ร่วมกันแก้พร้อมกัน และอีกหลายประเด็น เช่น การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือ ห่วงโซ่อุปทาน
RCEP เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดี รวมหลายประเทศตั้งแต่จีน อาเซียน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แม้ไม่สัมพันธ์ลึกเท่า TPP แต่เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับเอเชีย เป็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมและจะก้าวหน้ากว่านี้ในอนาคต
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
เมื่อ 2 มหาอำนาจเผชิญหน้ากันย่อมกระทบต่อระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลก ขณะที่ชาติมหาอำนาจไม่ปะทะกันเอง แต่อาจสู้กันในพื้นที่อื่นๆ เป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ดังนั้นประเทศทั้งหลายต้องระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งดังกล่าว แนวทางของชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศชัดเจนว่ายึดมั่นสันติภาพ ไม่ขัดแย้งด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอีกต่อไป แสวงหาความร่วมมือทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศที่คนในชาติเรียกร้อง
อาจมองว่าเป็นเรื่องแปลกแต่จริงคือ กระทรวงพาณิชย์จีนรายงาน 7 เดือนแรกของปีนี้ยอดการค้าระหว่างประเทศของจีนสูงสุดในรอบ 10 ปีเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ส่งออกเพิ่ม 24.4% นำเข้าเพิ่ม 24.5% ที่น่าสนใจคือเฉพาะส่งออกสู่สหรัฐ อียู และญี่ปุ่นเพิ่ม 22.6% จะเห็นว่าด้านการเมืองระหว่างประเทศขัดแย้งมากขึ้น แต่สวนทางตัวเลขการค้าการลงทุน
การถ่วงดุลอำนาจควรเน้นการถ่วงดุลทางการทูต ไม่พยายามเลือกอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่งเสริมแนวคิดพึ่งพาอาศัยกันและกัน (Interdependent) หรือโลกาภิวัตน์ที่เอ่ยถึงในขณะนี้.
----------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |