เบื้องหลังม็อบ-มุ่งล้ม สถาบันพระมหากษัตริย์


เพิ่มเพื่อน    

 ไล่ประยุทธ์ แค่เป้าหลอก เบื้องหลังม็อบ หวังล้มสถาบัน

            รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของม็อบที่นัดชุมนุมกันเพื่อกดดัน-เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 7 ส.ค.-10 ส.ค.-11 ส.ค.-13 ส.ค. เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดภาพเหตุการณ์การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจอย่างตึงเครียด ขณะที่วันอาทิตย์นี้ 15 ส.ค. จะมีการนัดชุมนุมทางการเมืองที่นำโดยอดีตแกนนำเสื้อแดง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง

ทั้งหมดคือสัญญาณความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นว่า การเมืองนอกรัฐสภากำลังกลับมาเข้มข้นดุเดือดอีกครั้งแม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วงวิกฤติโควิดก็ตาม

            มีมุมวิเคราะห์สถานการณ์ม็อบ-การเคลื่อนไหวการเมืองต่อจากนี้ จากคนที่มีประสบการณ์เป็นแกนนำเคลื่อนไหวม็อบการเมืองมาแล้ว อีกทั้งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลในชุดปัจจุบัน ที่มาวิเคราะห์ผ่าสถานการณ์ร้อนในเวลานี้ นั่นก็คือความเห็นของ ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส.-อดีตรมช.คมนาคม รัฐบาลชุดปัจจุบัน-ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ระหว่างการรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ที่ระบุชัดว่า เป้าหมายที่แท้จริงของคนที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของม็อบเวลานี้ เป้าหมายหลักคือต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน แม้จะเป็นอดีต รมต.ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่ก็เห็นว่าที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์อ่อนแอเกินไปในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง อีกทั้งวิพากษ์ว่าการแก้ปัญหาโควิดและการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนของรัฐบาลพบว่า ล้มเหลวและตัดสินใจผิดพลาด

            เปิดฉากบทสนทนา ถาวร-อดีตแกนนำ กปปส. มองการเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วเวลานี้ ในฐานะเคยมีประสบการณ์เป็นแกนนำม็อบ กปปส.มาก่อน โดยกล่าวว่าม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวเวลานี้ ที่เปิดหน้าชก มีอยู่สามวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์แรกคือ ขับไล่นายกรัฐมนตรี เรื่องที่สองคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสาม บอกว่าต้องการให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

            ...เราต้องไปดูว่าคนที่อยู่เบื้องหลังที่ใช้เยาวชน ใช้คนรุ่นหลัง ใช้คนที่มีความคิดด้านซ้ายจัดออกมาเคลื่อนไหว กล้าพูดได้เลยว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ผู้อยู่เบื้องหลังที่ระบุชื่อได้อย่างน้อยสองคนที่ชัดเจนก็คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล อยู่เบื้องหลัง สิ่งที่บอกได้แบบนี้เพราะหลายครั้งที่สองคนนี้ได้ประกาศในม็อบหรือในเวทีต่างๆ เช่น ธนาธรพูดไว้ตอนไปร่วมเวทีที่ธรรมศาสตร์ เดือนธันวาคม ปี 2562 ที่บอกว่า รัฐธรรมนูญต้องมีการแก้ไข สองวิธีคือ 1.แก้โดยยินยอม 2.แก้ด้วยเลือด หรือการชุมนุมในปี 2563 ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ที่เสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ออกมาสิบข้อเรียกร้อง โดยเวทีดังกล่าวมีแกนนำระดับกลางเป็นคนจัด และมีระดับบิ๊กที่ได้เอ่ยชื่อถึงหรือบางคนที่อยู่เบื้องหลัง ที่จะไปปรากฏตัวตามจุดต่างๆ เช่น สนามหลวง เป็นระยะๆ      เพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้อยู่เบื้องหลังและมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

            ...การเคลื่อนไหวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาของม็อบ การใช้ความรุนแรงของม็อบโดยอุกอาจไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย จะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องมาเสี่ยงในการทำหน้าที่ระงับยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายของม็อบ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำผิดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร อัยการ และผู้พิพากษา โดยคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นหลัก ส่วนเรื่องการล้มสถาบันนั้นผมยืนยันว่าผู้อยู่เบื้องหลังของแนวความคิดในการสนับสนุนม็อบ ต้องการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน

“หลังจากนี้จะมีการเคลื่อนไหวต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ แกนนำจะถูกจับ แกนนำถูกถอนประกัน แต่การดำรงไว้ซึ่งความมุ่งหมายในเชิงลึกของแกนนำและผู้อยู่เบื้องหลัง ก็คือ การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมขอขีดเส้นใต้ได้เลย ไม่ใช่การปฏิรูป ต้องการล้มล้าง แต่ใช้คำปฏิรูปเพื่อต้องการเลี่ยงคำให้ดูดี”

.... นอกจากนั้น ปิยบุตรเคยพูดตั้งแต่ช่วงปี 2559 ย้อนไปในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านได้ทรงมีพระราชดำรัสกับประธานศาล อย่างประธานศาลปกครองสูงสุด ที่นำผู้พิพากษาศาลปกครองที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ โดยท่านก็ได้ทรงพูดถึงการแก้ไขปัญหา หลังจากในช่วงนั้นมีการจัดการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องจำนวน ส.ส. ที่ กกต.รับรอง ยังไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ที่ในหลวงท่านก็ตรัสว่าอย่าให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเกี่ยวข้องกับการตั้งนายกฯ ที่เป็นนายกฯ พระราชทานเลย ก็ให้ไปหาทางออกโดยใช้กฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ปิยบุตรไปเบี่ยงเบน ไปบิดผันเจตนารมณ์ของพระองค์ท่านในพระราชดำรัสดังกล่าว ว่าเกิดยุคตุลาการภิวัฒน์ เกิดนิติรัฐประหาร อยู่ภายใต้รัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แต่ต้องการบิดเบือน

ถาวร-อดีต รมช.คมนาคม กล่าวต่อไปว่า สองคนที่เอ่ยชื่อถึงยังคงเคลื่อนไหว ยังคงดำรงความมุ่งหมายที่จะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่ปรากฏชัดจากม็อบเมื่อ 7 ส.ค. ที่ประกาศตอนแรกจะเคลื่อนไหวไปที่พระราชวัง โดยทำทีเหมือนว่าจะไปยึด ไปทวง อย่างนี้มันไม่ใช่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่คำพูดหยาบคาย การใช้ถ้อยคำหยาบคายที่พ่นสีไปตามจุดต่างๆ ที่บ่งบอกว่าผู้อยู่เบื้องหลังและผู้รับงานไปเคลื่อนไหวในม็อบ ก็กลมเกลียวในทางความคิด มีการรับความคิดที่ถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่อง ยังคงเดินหน้าไม่หยุด

...มีการเคลื่อนไหวเมื่อ 3 ส.ค. ปิยบุตรออกบทความ มีข้อเรียกร้องที่นำไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงห้าข้อ ซึ่งหนึ่งในห้าข้อนั้น ก็คือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วยการปฏิวัติ แล้วก็บอกว่าอยู่ในช่วงที่อำนาจนำอ่อนแอ การสถาปนาอำนาจยังไม่แข็งแกร่ง จึงให้รีบดึงมวลชนมาอยู่กับแนวความคิดของเขา และที่สำคัญที่สุดคือ การเสนอให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และพูดถึงขนาดว่าให้กระบวนการเหล่านี้แทรกเข้าไปอำนาจรัฐ เข้าไปในพื้นที่ของระบบราชการให้มากที่สุด แล้วก็เสนอให้อาศัยกฎหมายบางฉบับหรือรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ      

            “ม็อบจะยังคงเคลื่อนไหวโดยไม่หยุด และยังคงดำรงความมุ่งหมาย แต่ความมุ่งหมายอีกสองข้อ เป็นเพียงข้ออ้างและเป็นความมุ่งหมายปกติ แต่ความมุ่งหมายในข้อสุดท้าย ในเรื่องของการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะมีผู้ที่คิดออกมาเคลื่อนไหว”

...เห็นได้จากเมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็มีคนจัดตั้ง มีคนเคลื่อนไหว ปัญหาตามมาก็คือ คนพวกนี้อยากให้เกิดการปะทะ เกิดการนองเลือด ยั่วยุ แล้วเมื่อไหร่เกิดสงครามกลางเมือง ก็จะเข้าทางอีกแนวทางหนึ่งของนักคิด นักเคลื่อนไหวการเมืองกลุ่มนี้

            ส่วนผู้เคลื่อนไหวการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งคือคนในฝ่ายระบอบทักษิณก็อาจจะจับมือกับกลุ่มคนที่เอ่ยถึงข้างต้น เพราะมีการส่งลูกรับลูกกัน เช่น ณัฐวุฒิตอนแรกบอกจะไปร่วมม็อบ 7 ส.ค. แต่พอเห็นประชาชนที่จงรักภักดีออกมาแสดงออกอย่างชัดเจนมากขึ้นก็ถอย แล้วบอกจะเคลื่อนไหว 15 ส.ค.นี้

            ทั้งหลายทั้งปวงนี้มันเป็นแนวร่วม ที่มองได้ทั้งสองอย่าง ทั้้งแนวร่วมถาวรในเชิงลึก และแนวร่วมหลวมๆ ในบางกิจกรรม

-ประเมินว่าเป้าหมายและข้อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก จะสำเร็จหรือไม่?

            ถ้าดูจากภาพที่ปรากฏในที่ประชุม ครม. ที่นายกฯ หารือกับสามหัวหน้าพรรคหลัก คือประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และข้อมูลในเชิงลึกในการประชุมพรรคแต่ละพรรค เขาจะอยู่ให้นานที่สุด อาจจะถึงครบเทอม โดยบอกว่าสถานการณ์โควิด ที่เป็นภาวะวิกฤติของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย หากทิ้งประเทศชาติในยามวิกฤติก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้น ก็คงอยู่กันต่อ และผมเชื่อว่าเขาอยู่ได้ เพราะม็อบไม่เคยชนะรัฐบาล

ที่สำคัญม็อบคณะนี้ วัตถุประสงค์นำคือวัตถุประสงค์หลอก นั่นคือการขับไล่รัฐบาลกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บอกเป็นวัตถุประสงค์หลักจริงๆ คือวัตถุประสงค์รอง เพราะวัตถุประสงค์หลักจริงๆ เขาเก็บไว้และเดินในเชิงลึกทุกครั้ง และมีการแสดงออกที่รุนแรงทุกครั้ง นั่นก็คือ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการล้มสถาบัน

            วิวัฒนาการในการทำม็อบปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อน ในเชิงปริมาณจะใช้โซเชียลมีเดียและการประชาสัมพันธ์ จะไม่ใช่ม็อบที่คนจะมาเต็มพื้นที่กรุงเทพมหานครเหมือนยุค กปปส.หรือพันธมิตรฯ ที่คนออกมานับล้านคน ดังนั้น ในเชิงปริมาณ ที่เราคิดว่าม็อบจะต้องมาเต็มพื้นที่ จึงเป็นไปไม่ได้ แต่ในเชิงปริมาณจะเพิ่มขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อเปลี่ยนความคิดของคน สร้างกระแสถ้าไม่ตายด้วยโควิด ก็เสียชีวิตเพราะอดตาย การสร้างสิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้คนเข้ามาคิดแบบเดียวกับม็อบ ผู้นำม็อบ แกนนำม็อบ แต่การชุมนุมแต่ละครั้งที่จับต้องได้ เป็นเพียงการเอาการ์ดของวีโว่หรือพวกหมั่นไส้ตำรวจ เอาพวกฮาร์ดคอร์ออกมา อาจให้ได้สักประมาณเกือบพันคน พอถึงเวลาม็อบก็แยกย้ายกลับ ดูแล้วก็จะชุมนุมแล้วก็กวนอยู่แบบนี้ จากนั้นเอาภาพการเกิดม็อบไปเผยแพร่ในสากลและในมวลชนที่ตัวเองต้องการ รวมถึงประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากการแก้ปัญหาของประเทศแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ

            ถาวร-อดีต รมช.คมนาคมในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ บอกว่าสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ม็อบในเวลานี้ พลเอกประยุทธ์ต้องจริงใจในการแก้ปัญหาโควิด อย่างคนตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดหาวัคซีนและฟาวิพิราเวียร์ คนเขาสงสัยว่ามีผลประโยชน์เกิดกับรัฐมนตรีบางคน เพราะฉะนั้นการจัดหาวัคซีนไม่ว่าจะเป็นการจอง-การรับบริจาค หรือได้มาแล้วไม่กระจายตามความจำเป็นและเร่งด่วน เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ทำงานด่านหน้า รัฐบาลยังทำในส่วนนี้ได้ยังไม่ประทับใจหรือเรียกว่าล้มเหลว จึงต้องแก้ไขตรงนี้ เพราะอย่างมีการจับได้ไล่ทันว่ามีบางพื้นที่ในบางจังหวัด จะได้รับการดูแลส่งวัคซีนไปมากผิดปกติ จนกระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ หมอ-พยาบาล ที่มีความต้องการประมาณล้านกว่าโดส แต่กลับถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ในลำดับหลังๆ ในกรณีแบบนี้ควรต้องยกเลิกให้ได้ รวมถึงการต้องหาความพอดีในการใช้มาตราการล็อกดาวน์กับการช่วยเหลือประชาชนในการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิต เพราะลำพังแค่การให้เงินเยียวยาช่วยเหลือยังไม่ใช่การช่วยเหลือประชาชนอย่างยั่งยืนภาครัฐต้องรับฟังความเห็น-ข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าไทย สภาธุรกิจท่องเที่ยว ไม่เช่นนั้น ประชาชน ยังไม่ทันตายด้วยโควิด ก็จะมาอดตายเสียก่อน

-คิดอย่างไรที่คนมองกันว่า ระยะหลังเยาวชน นักศึกษา คนรุ่นใหม่มีทัศนคติบางอย่างต่อสถาบัน และบางฝ่ายพยายามดึงไปเป็นแนวร่วมฝ่ายตัวเอง?

            เท่าที่ทราบ ยุคหลังๆ ย้อนไปสักสิบกว่าปี รมว.ศึกษาธิการ คนหนึ่ง มีแนวนโยบายว่า ไม่ต้องให้เด็กเรียนประวัติศาสตร์-หน้าที่ศีลธรรมของพลเมือง ก็ส่งผลให้คนพวกนี้ลืมประวัติศาสตร์ และขาดความกตัญญู เพราะเขาไม่รู้ คุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เรื่องนี้เริ่มใหม่และแก้ไขได้ โดยกระทรวงต่างๆ ต้องมาทำทั้งกระทรวงวัฒนธรรม -ศึกษาธิการ-การพัฒนาสังคมฯ-มหาดไทย ผมยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีพร้อมปกป้องสถาบัน เพราะต้องถามว่าสถาบันไปทำอะไรให้คนพวกนั้น ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ก็ไม่มี แต่ด้วยการที่ถูกปั่นหัวทางความคิด

แกนนำบางคนยกเอาการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1789 แล้วนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งมันไม่ใช่เพราะพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ท่านทรงมีคุโณปการต่อประเทศไทย ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรทุกรัชกาล เพียงแต่รัฐมีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ อย่างต้องดูว่า เหตุอันใด ผู้นำที่อยู่เบื้องหลังม็อบมีข้อเรียกร้อง ไม่ให้มีการประชาสัมพันธ์งานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ก็เพราะเขารู้ว่าถ้าประชาสัมพันธ์ ประชาชนจะรู้ เด็กรุ่นใหม่จะเคารพนับถือ ยกย่องเทิดทูลสถาบัน หรืออย่างในหนังสือ portrait ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พูดถึงการต้องสร้างการต่อรองกับสถาบัน เพราะเขามีแนวคิด ต้องเปลี่ยนให้ได้ ต้องล้มให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม แต่ยืนยันว่าไม่มีทางทำได้สำเร็จ แม้จะมีความคิดที่ว่าทุกอย่างในโลกนี้ ต้อง dynamic แต่ก็ต้องมีเหตุและผล และถึงเวลาต้องมีการเปลี่ยนแปลง การเกิดแก่เจ็บตายเกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีเหตุมีผลที่เหมาะสม

 

นายกฯ อ่อนแอ ในการบังคับใช้กฎหมาย

-คิดว่าการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาที่มีภาพเหตุการณ์ความรุนแรง ความวุ่นวาย คนมองว่านายกฯควรเด็ดขาดในการควบคุมสถานการณ์มากกว่านี้ บางคนบอกนายกฯ อ่อนแอเกินไป มองว่าพลเอกประยุทธ์ เป็นอย่างไรในเรื่องการดูแลความเรียบร้อยในบ้านเมือง?

            นายกฯ ประยุทธ์อ่อนแอก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำไป คนที่กระทำความผิดมาตรา 112 ซึ่งผมต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า การหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ การแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุขแห่งรัฐ ไม่ว่ารัฐนั้น จะเป็นสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีและอีกหลายประเทศ จะมีบทลงโทษตามกฎหมายที่สูงกว่าการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดรายกว่าบุคคลธรรมดา เรื่องนี้รัฐต้องทำความเข้าใจ ทำประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกเป็นระยะ และเมื่อพบการกระทำความผิดเกิดขึ้น ก็ว่าไปตามเนื้อผ้า ผิดเป็นถูก ถูกเป็นถูก นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ ดีเอสไอ อัยการ ศาล ที่ผ่านมาโลว์โปรไฟล์ จนกระทั่งวันหนึ่ง พลเอกประยุทธ์ลุกขึ้นมาบอกว่าต่อไปนี้จะใช้มาตรา 112 อย่างเคร่งครัด นั่นแสดงว่าที่ผ่านมา คุณหย่อนยาน-อ่อนแอ แต่ต่อมามีอะไรไปสะกิดหรือคิดได้ว่าไม่ได้ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการปกป้องพระเกียรติยศหรือองค์สถาบันของสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศที่คนไทยเคารพเทิดทูล นายกฯ เลยประกาศออกมา นั่นแสดงว่านายกฯอ่อนแอ วิธีการก็คือ ต้องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด แล้วก็นำเสนอต่อศาลทุกครั้งที่นำตัวไปฝากขัง หรือทุกครั้งที่มีการคัดค้านการประกันตัว

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่นายกฯ อ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย แต่เข้มข้นด้วยวาจาและสีหน้าท่าทางเท่านั้น”

... สิ่งที่ควรต้องปฏิบัติ นายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในฐานะเบอร์หนึ่งของฝ่ายบริหาร นายกฯ ต้องส่งสัญญาณไปยังหน่วยปฏิบัติทุกหน่วยให้เข้มงวดกวดขัน เอาจริงเอาจัง แม้แต่การไปทำความเข้าใจกับประชาชนและคนที่ออกมาเคลื่อนไหว รวมถึงแกนนำม็อบ ว่าคุณได้รับการประกันตัวมาแล้ว อย่าทำผิดซ้ำอีก ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการถอนประกัน คัดค้านการประกันตัว เมื่อเรามองว่า นายกฯ อ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข

-ประเมินว่าการชุมนุมม็อบหลังจากนี้แนวโน้มเป็นอย่างไร จะรุนแรงแบบในอดีตเช่นตอนเสื้อแดงชุมนุมปี 2553 หรือจะเกิดสงครามกลางเมืองได้หรือไม่?

            ถ้ารัฐอ่อนแอก็เกิดได้ เพราะประชาชนฝ่ายที่จงรักภักดี ฝ่ายที่ดูแลบ้านเมือง ฝ่ายที่ไม่ต้องการเห็นพวกสร้างความปั่นป่วน สร้างความวุ่นวาย ลอยนวลไปเหมือนกัน ก็อาจเกิดได้ แต่ที่สำคัญ จะเกิดหรือไม่เกิด อยู่ที่อำนาจรัฐ ถ้ารัฐปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง มันก็ไม่เกิด ที่หมายถึงรัฐทั้งกระบวนการ ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ทหาร ก็จะไม่เกิด

-เจ็ดปีในการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์หรือลุงตู่ มีข้อผิดพลาดในการบริหารประเทศ ถึงขนาดประชาชน ม็อบออกมาขับไล่ เรียกร้องให้ลาออกได้หรือไม่?

            จริงๆ แล้วก็พอรับได้ในระดับหนึ่ง แต่ยุทธศาสตร์ชาติหลายข้อที่ออกมา ลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ

            เรื่องแรก การแก้ปัญหาการทุจริต ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ มีการทุจริตมากขึ้นกว่ายุคเดิม ดูได้จากตัวเลขขององค์กรระหว่างประเทศที่มาประเมินเรื่องนี้ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ และที่บอกกว่า รับฟัง รับทราบ เห็นด้วยตา อันนี้ถือว่าสอบตกอย่างยิ่ง

            เรื่องที่สอง เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำ ปรากฏว่า ลุงตู่สอบตกเหมือนกัน อย่างการจัดงบประมาณเพื่อนำไปสู่ระดับรากหญ้าเมื่อเปรียบเทียบกับที่ทำโครงการอย่างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ หรือโครงการอีอีซี คือแน่นอนว่าจะต้องมีการจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือทำแหล่งผลิตเพื่อทำผลิตภัณฑ์ส่งออก แต่ก็ต้องให้บาลานซ์กับงบประมาณที่จัดสรรไปให้ตาสีตาสา ยายมียายมา ในต่างจังหวัดไกลๆ เช่นที่นราธิวาส หรือที่อำเภอระโนด ประชาชนก็ควรต้องได้ เช่นโครงสร้างพื้นฐานเรื่องระบบน้ำ การมีถนนลูกรัง จึงถือว่าการลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความยากจนสอบตก เรื่องที่สาม องค์กรตำรวจ ที่เคยบอกว่าจะปฏิรูป แก้แล้วแก้อีก ทำแล้วทำอีก สุดท้ายก็ลูบหน้าปะจมูก ยังคงกระจุกอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจไว้ที่ส่วนกลาง

            เรื่องที่สี่ การกระจายอำนาจ แม้แต่วัคซีนยังไม่กระจายเลย อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ประชาชนก็เลือกมาเหมือนกับเขาเลือก ส.ส.ให้มีสภา แล้วมาเลือกนายกฯ  แต่ท้องถิ่นเขาเลือกโดยตรงด้วยซ้ำไป เขาอยู่ใกล้ชิดประชาชน ควรต้องกระจายลงไป นอกเหนือจากกระจายหน้าที่ กระจายงานแล้ว ต้องกระจายงบประมาณด้วย แต่พบว่าจนถึงขณะนี้การจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นยังไม่ถึงเกณฑ์ที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

            "ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการแก้ปัญหาโควิด ตัดสินใจผิดพลาดมากๆ ในเรื่องการกระจายวัคซีน แม้แต่เรื่องการให้ฉีดวัคซีน ถามว่าทำไม ต้องไปให้ฉีดแบบกระจุกตัวที่สถานีกลางบางซื่อ พอกรุงเทพมหานครจะนำวัคซีนไปฉีดบ้าง ก็ห้ามอีก เหตุก็เพราะการเมืองที่นายกฯไม่เด็ดขาดในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จนเปิดโอกาสให้มีการหาเสียงโดยใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือ เพื่อทวงบุญคุณกับประชาชนหรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้ก็สอบตกอีก"

            การปรับปรุงแก้ไขเรื่องต่างๆ ที่ผมสะท้อนออกมาในฐานะคนรักเคารพท่าน ผมก็เชียร์ท่านมาตลอด ตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จ มีนาคม 2562 ผมเชียร์ ผมต่อสู้ ให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลมาตลอด ก็ขอให้กลับไปคิดว่าผมคือปิยมิตร ที่ส่งสัญญาณดังๆ จากเสียงเล็กๆ ที่เป็น ส.ส.อยู่นอกสภา โดยถึงตอนนี้ พลเอกประยุทธ์ยังมีเวลาอยู่ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องโควิด ต้องรีบจัดหาและกระจายวัคซีนโดยเฉพาะการให้กับบุคลากรทางการแพทย์

 

ไม่ได้ต้องการล้มประยุทธ์ แต่ต้องการล้มสถาบันกษัตริย์

-มองว่าสุดท้ายแล้ว จากสถานการณ์ถึงตอนนี้ พลเอกประยุทธ์จะอยู่ครบเทอมหรือไม่?

            คิดว่าอยู่ครบเทอม แม้โควิดแก้ไม่ได้ก็อยู่ครบเทอม เศรษฐกิจดิ่งลงเหวก็อยู่ครบเทอม เพราะฝ่ายค้านไม่ได้ตั้งใจที่จะล้มรัฐบาล เพราะหากดูการเมืองในอดีตเรื่องสถานะรัฐบาลเช่น ตอนปี 2534 รัฐบาลยุคดังกล่าว (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ถูก รสช.ปฏิวัติ เพราะตอนนั้นมีเรื่อง BUFFET CABINET จากเรื่องทุจริต หรืออย่างตอนช่วงปี 2538-2539 ช่วงรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ก็เกือบจะล้มเพราะเรื่องทุจริต พอช่วงปี 2539 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลดค่าเงินบาท ทุจริตโดยการเอาข้อมูลแบบอินไซเดอร์ในเรื่องการจะลดค่าเงินบาทไปบอกนายทุนใหญ่ ทุจริตเชิงนโยบายรัฐบาลเลยอยู่ไม่ได้ หรือรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2548 ทุจริตมาก ก็อยู่ไม่ได้ พันธมิตรฯ ออกเต็มเมือง ทหารก็อ้างเหตุแล้วก็ออกมาทำรัฐประหาร แล้วพอปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ทุจริตอีก โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว จนเกิด กปปส.

            ดังนั้น ถ้าจะให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ล้ม ต้องตรวจสอบทุจริตรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ที่สามารถหาข้อมูลได้เยอะแยะไปหมด ฝ่ายค้านทำไปเถอะ รวมถึงฝ่ายม็อบที่อยู่กลางถนน หรือฝ่ายก้าวหน้า ก็ทำไปเถอะ แต่เขาไม่ทำ

“เหตุก็เพราะไม่ได้ต้องการจะล้มรัฐบาลจริงๆ แต่ต้องการล้มสถาบันกษัตริย์ต่างหาก และรับรองได้ว่าถ้าจับได้ไล่ทันว่ารัฐบาลมีทุจริต หลักฐานเต็มมือ ไม่มีใครให้อยู่ได้หรอก และผมมั่นใจว่า หลักฐานทิ้งไว้เยอะแยะเพราะประยุทธ์ไม่ปราบทุจริต”

...ทั้งที่ประกาศว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เอาแค่ว่า ตำรวจที่นายกฯ กำกับดูแลอยู่ แต่กลับปล่อยปละละเลยให้เปิดบ่อนที่ระยอง แล้วนายกฯ ทำอะไร ตั้งกรรมการสอบ แล้วตอนนี้ผลออกมาเป็นอย่างไร

-ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่บางฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้พรรคถอนตัวจากรัฐบาล มองว่า ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากฝ่ายค้านอภิปรายแล้วข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างแน่น ประชาธิปัตย์จะประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ ?

            เรื่องถอนตัว ผมมองแล้ว ณ วันนี้ยาก สิ่งแรก เพราะการแก้ปัญหาโควิดที่มีการถูกหยิบยกมาเพื่อหวังให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว แต่คนที่ไม่ต้องการให้ถอนตัวก็จะบอกว่า ถ้าทำแบบนั้น คือการทิ้งม้ากลางศึก ทิ้งงานในยามวิกฤติ ทำแบบนี้ใช้ไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมรับผิดชอบกันต่อไป

            "ผมอ่านใจผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีบางคนในพรรคพยายามเรียกร้อง แต่สุดท้าย ไม่น่าจะมีการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เวลานี้ผมก็ไม่ได้อยู่ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่นั่งมองแบบ outside-in เข้าไป การบรรยายหรืออธิบายสถานการณ์ จะให้ออกซ้ายหรือขวาก็ได้ อย่างถ้าจะให้ถอนตัว ก็จะอธิบายไปในเชิงถอนตัว หรือถ้าจะอยู่ต่อ ก็อธิบายไปในเชิงอยู่ต่อ แต่ดูแล้วคงไม่มีการถอนตัว เพราะเมื่อดูจากปัจจัยเช่น ปัจจัยในพรรค หากดูจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ 48 คนตอนนี้ ไม่น่าจะมีเสียงข้างมากให้พรรคถอนตัวจากรัฐบาล"

                                                                        โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"