ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญส่งถึงมือ “ชวน” แล้ว คาด 16 ส.ค.หารือถกวาระ 2 และ 3 เมื่อไหร่ “ไพบูลย์” ยันไร้ปัญหา “โฆษก ปชป.ย้ำ “จุรินทร์-ชินวรณ์” มีประสบการณ์ไม่ทำอะไรผิดกฎแน่ “เพื่อไทย” ปัดจูบปาก “ก้าวไกล” ไม่ยอมชงญัตติเข้าที่ประชุมว่าผิดหลักหรือไม่ แต่ยังไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเพราะเกรงใจเพื่อน
เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 กล่าวถึงการประชุมนัดสุดท้ายว่า การพิจารณารายมาตรา กมธ.ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการพิจารณาแปรญัตติของ กมธ.สัดส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) 2 คน จากนั้นจะนำรายงานของคณะ กมธ.มาให้ที่ประชุมตรวจสอบ ถ้าทั้งหมดเห็นชอบก็รับรองรายงาน และส่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลจะยื่นญัตติด่วนให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาโหวตตัดสินว่า กมธ.แก้รัฐธรรมนูญแปรญัตตินอกเหนือจากที่รับหลักการมาในวาระที่ 1 ได้หรือไม่นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า คงเป็นการใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 151 ซึ่งก็เป็นอำนาจของรัฐสภาต้องตีความเพื่อพิจารณาวินิจฉัย แต่ประเด็นอยู่ที่ข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 นั้นเขียนไว้ชัดเจน โดยเฉพาะวรรค 3 ที่สมาชิกสามารถแปรญัตติเพิ่มมาตราได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการ หากเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการก็ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น กรณีบทเฉพาะกาล ดังนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พิจารณานั้นดำเนินการตามข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 วรรค 3 ชัดเจน แต่ถ้าพรรคก้าวไกลติดใจก็เสนอที่ประชุมรัฐสภาได้ ซึ่งเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาได้อ่านข้อบังคับ ก็เห็นว่าทุกอย่างถูกต้อง ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวว่า คณะ กมธ.จัดทำเนื้อหาตามคำแปรญัตติเสร็จแล้ว และเตรียมส่งให้นายชวนภายในวันที่ 13 ส.ค. ส่วนจะพิจารณาวาระสองเมื่อใด คาดว่าในวันที่ 16 ส.ค. ซึ่งประธานรัฐสภาได้นัดตัวแทนแต่ละฝ่ายหารือจะมีข้อสรุปเรื่องดังกล่าว
นายนิกรกล่าวอีกว่า การแก้ไขรายละเอียดนั้น นอกจากมาตรา 83 และ มาตรา 91 ซึ่งเป็นหลักการใหญ่แล้ว ยังมีการแก้ไขมาตราอื่นประกอบ ได้แก่ มาตรา 85, มาตรา 86, มาตรา 92, มาตรา 93 และมาตรา 94 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ แต่มีประเด็นที่น่าสนใจ และคาดว่าจะนำไปสู่การอภิปรายว่าด้วยเนื้อหาที่ให้กำหนดการคำนวณคะแนนที่ กมธ.ระบุให้นำไปกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งต้องตราขึ้นภายใน 120 วันนับจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขประกาศ และกรณีที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบหรือกฎเพื่อใช้ในการเลือกตั้งไปพลางๆ ก่อน หากกฎหมายลูกนั้นไม่แล้วเสร็จ เช่น มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อน
เมื่อถามถึงกรณีที่มี กมธ.ยังเห็นขัดแย้ง และเตรียมยื่นเรื่องต่อรัฐสภาให้พิจารณา นายนิกรยอมรับว่า อาจต้องยื่นไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตามความของมาตรา 256 (9) แต่ต้องรอให้กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาเสร็จสิ้นในวาระสามเสียก่อน
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ได้ทำหน้าที่เป็นรองประธาน กมธ. ซึ่งเป็นคนละเอียด และได้ดูเรื่องนี้อย่างรอบคอบแล้ว สิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ นายชินวรณ์ไม่ทำแน่นอน ในขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ก็ได้ดำเนินการตามข้อบังคับในการยื่นคำแปรญัตติโดยอาศัยสิทธิอันชอบตามข้อบังคับ หากกล่าวหาว่าไม่สามารถยื่นคำแปรญัตติได้ แสดงว่าสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันลงชื่อ รวมถึงสมาชิกที่รับหลักการ ก็ไม่มีใครสามารถยื่นคำแปรญัตติได้แม้แต่คนเดียว ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องพื้นฐานในเรื่องหลักการในการร่างกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายเกิดความสมบูรณ์
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ. กล่าวในประเด็นนี้เช่นกันว่า รัฐสภามีข้อบังคับอนุญาตให้ดำเนินการได้ แต่ห้ามแก้ไขหลักการ เว้นแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการ ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาและเป็นประเด็นในสังคมกล่าวหาว่า กมธ.พรรคเพื่อไทยเขียนเช็คเปล่าให้ กกต.ในเรื่องบทเฉพาะกาล และบอกว่าเป็นการพิจารณาเกินหลักการด้วยนั้น ยืนยันว่าบทเฉพาะกาลเขียนไป 2 มาตรา ถามว่าหากไม่มอบอำนาจให้ กกต.จะเกิดการเลือกตั้งได้หรือไม่ หรือจะให้ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดประกาศให้มีการเลือกตั้ง ถามว่าจะเอาแบบนั้นหรือ ซึ่งเราก็ไม่เอา ระหว่างเลือก กกต.กับฝ่ายบริหาร เราเลือก กกต.มากกว่า
“ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะให้รัฐสภาตีความเรื่องข้อบังคับที่เราใช้นั้นใช้ไม่ได้ ก็สามารถทำได้ หรือจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาหลักผ่านวาระที่ 3 ก็ทำได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ต้องรอจังหวะเวลา ยืนยันว่าทุกอย่างไม่ได้พิจารณาอย่างร้อนรน เพราะมีเพียงแค่ 2 มาตรา” นพ.ชลน่านระบุ
ส่วนนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ในฐานะ กมธ.ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ที่ยังเป็นอำนาจของ ส.ว. และไม่ได้เป็นการแก้ไขเรื่องการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งเพียง 2 มาตราเท่านั้น และยังมีการตีความแก้ไขเกินเลยไปหลายมาตรา โดยเฉพาะการให้ กกต.ออกข้อกำหนดเองได้ เหมือนเป็นการมอบอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติให้ กกต. ถามว่าเป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่
“รัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมายและหลักนิติธรรม แต่รัฐธรรมนูญฉบบนี้พยายามตีความให้เกินเลย แปลงร่างให้เอาร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยที่ถูกตีตกไปแล้วตั้งแต่ชั้นรับหลักการวาระแรกมาใส่ให้ได้ และทั้ง 2 พรรคค่อนข้างเอื้ออาทร กะหนุงกะหนิงช่วยเหลือกันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราจึงได้พิจารณาจะยื่นให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งว่าการแก้ไขเกินเลยแบบนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยยื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 เพื่อให้บรรจุเป็นญัตติก่อนการพิจารณารัฐธรรมนูญในวาระ 2-3”
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า รู้สึกผิดหวัง และเชื่อว่าการแก้ไขแบบนี้ไม่ช่วยนำพาประเทศออกสู่วิกฤติทางการเมืองได้ ซึ่งพรรคยืนยันว่าการยื่นญัตติดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การตีรวน แต่เป็นการตรวจสอบการกระทำที่มีความพยายามสอดไส้ โดยเบื้องต้นในพรรคเห็นว่าควรใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 ก่อน เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการตีความข้อบังคับ ยังไม่ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพราะเราไม่อยากให้กระทบกับพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับเราด้วย จึงเริ่มจากช่องทางนี้ก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |