นายกฯ ย้ำฉีดวัคซีนโควิดตามแผน เตรียมจัดหาเพิ่มช่วงปลายปี เผย สธ.สามารถจัดหาวัคซีนตามเป้า 100ล้านโดส "อนุทิน" เยี่ยมโรงงานต้นแบบวัคซีนโควิด "จุฬาฯ-ใบยา" เริ่มทดสอบในคนเฟส 1 เดือน ก.ย.นี้ "สปส." เปิดฉีดวัคซีนเข็ม 2 ผู้ประกันตน ม.33 ทั่วกรุง 26 จุด เริ่ม 16 ส.ค.นี้ "บวรศักดิ์" เตือนรัฐบาลระงับส่งออกแอสตร้าฯ อาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นแกะดำในวงการระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากบ้านพัก โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การทำงานต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกัน รวมทั้งการแก้ปัญหาแรงงาน การติดตามวัคซีนและยาใหม่ๆ ที่สาธารณสุขรับผิดชอบและเสนอมา ขณะเดียวกันต้องเตรียมวัคซีนสำหรับช่วงปลายปีเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มพูดคุยแล้ว ซึ่งสาธารณสุขรายงานที่ได้มาก็ฉีดไปตามแผน สำหรับอีก 20 ล้านโดส เงินมัดจำจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อังคารนี้ ส่วนอีก 10 ล้านโดสจะดำเนินการนำเสนอ ครม. โดยล็อตแรกจะเป็นสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ย. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามสัญญา
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนาวัคซีน 2 ชนิด คือชนิด mRNA และชนิดจากใบยา subunit ซึ่งภายในปีหน้าน่าจะมีผลที่ชัดเจน ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดี ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามเป้า 100 ล้านโดส
ที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ โดยนายอนุทินกล่าวว่า นับว่าเป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนสัญชาติไทยโดยบริษัทของคนไทย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จโดยเร็ว เพราะถือเป็นนวัตกรรม องค์ความรู้ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศ ที่สำคัญคือวัคซีนนี้สามารถปรับปรุงรองรับสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ทันที ขณะนี้กำลังดำเนินการใน 10 สายพันธุ์ หากสำเร็จ อนาคตอาจจะเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สามารถใส่หลายสายพันธุ์ลงไปในวัคซีนได้ ทำให้การป้องกันก็น่าจะสูงขึ้น
ทั้งนี้ วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา จะเริ่มต้นทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 ช่วงต้นเดือนกันยายน เบื้องต้นประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าในไตรมาส 3 ของปี 2565 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฝีมือคนไทยในประเทศเองได้มาก 1-5 ล้านโดสต่อเดือน หรือราว 60 ล้านโดสต่อปี
ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า วันที่ 12 ส.ค. มีการฉีดไป 219,840 โดส ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสม 22,508,659โดส
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน ร่วมแถลงข่าวประจำวันของศบค.ว่า สำหรับการบริหารวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดส ขอย้ำว่านโยบายในการบริหารให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีล็อตไหนที่มีการสูญหาย ได้มีการแบ่งชัดเจนว่าจะไปในกลุ่มใดบ้าง และย้ำว่าไม่มีประเด็นของการฉีดวีไอพี หากประชาชนพบเห็นและมีข้อสงสัย สามารถแจ้งเข้ามาได้เพื่อที่จะได้มีการตรวจสอบ ยืนยันเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย คาดว่าการส่งในรอบที่สองนี้จะถึงพื้นที่ไม่เกินวันที่ 14 ส.ค.
นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ในช่วงนี้มีกรณีที่เป็นข่าวบุคลากรการแพทย์หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สาม เป็นบุคลากรที่อยู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางคลาน จังหวัดพิจิตร เพศชาย อายุ 44 ปี หลังจากฉีดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พบว่าเสียชีวิตในวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ที่เสียสละทุ่มเทในการทำงานอาจจะด้วยความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขึ้นมา ทั้งนี้ รายละเอียดการชันสูตร ได้รวบรวมข้อมูลนำเข้าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อไป แล้วจะได้นำมารายงานให้ทราบ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ไปแล้วกว่า 1.3 ล้านราย เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา และขณะนี้คณะทำงานบริหารจัดการและกระจายวัคซีนฯ ได้เตรียมจัดศูนย์ฉีดวัคซีนฯ เพื่อให้บริการผู้ประกันตนมาตรา 33 ในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 โดยจะเริ่มฉีดในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป เป็นวัคซีนยี่ห้อ AstraZeneca ทั้งหมด โดยสำนักงานประกันสังคมได้เตรียมพร้อมศูนย์ฉีดวัคซีนกระจายทั่วพื้นที่ กทม.ทั้ง 12 เขตความรับผิดชอบ รวม 26 จุดฉีด และทั้ง 5 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว จะส่งแจ้งนัดหมายให้ผู้ประกันตนทราบล่วงหน้าผ่าน SMS เข้าโทรศัพท์ มือถือให้ผู้ประกันตนทราบตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเพซบุ๊กส่วนตัว กรณีการเสนอให้ไทยห้ามการส่งออกแอสตร้าเซนเนก้า โดยระบุว่า ถ้าห้ามหรือจำกัดการส่งออก Astra ข้อดีก็คือ 1.เราอาจมีวัคซีนฉีดเพิ่มขึ้น 2.คนป่วยอาการหนักอาจน้อยลง แต่การระบาดจะลดลงหรือหมดไปยังไม่รู้แน่ เพราะหลายประเทศที่ฉีดเกินครึ่งประชากร ก็กลับมาติดใหม่มากมาย เช่น อิสราเอล อังกฤษ 3.หมอและบุคลากรการแพทย์คงเบาแรงลง 4.ห้องไอซียู เตียง เครื่องช่วยหายใจคงเพิ่มขึ้น
แต่ข้อเสียก็มีมากไม่แพ้กันคือ รัฐบาลอาจต้องรับผิดหลายด้านเพิ่มจากความรับผิดทางสังคม และความรับผิดทางการเมืองในสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ 1.ความรับผิดทางหลักศาสนาที่ยึด “สัจจะ” เป็นคุณธรรมสำคัญ เพราะรัฐบาลไปทำสัญญากับสยามไบโอไซเอนซ์ผิดพลาดเอง โดยสั่งวัคซีนน้อยกว่าที่ควร บัดนี้จะมาใช้อำนาจฝ่ายเดียวที่รัฐบาลมีบังคับเขาแทนภาษาหยาบหน่อยก็เรียกว่า "ตระบัดสัตย์" 2.ความรับผิดในแง่รัฐธรรมนูญ เพราะแทนที่จะเคารพกฎหมายเกี่ยวกับสัญญารัฐ กลับละเมิดสัญญาเสียเอง เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
3.ความรับผิดทางกฎหมายปกครอง รัฐบาลทำได้ก็จริง แต่สยามไบโอไซเอนซ์ได้รับความเสียหายเพราะส่งมอบวัคซีนให้คู่สัญญาในต่างประเทศไม่ได้ ถูกคู่สัญญานั้นเรียกค่าเสียหายเท่าใด รัฐบาลไทยก็ต้องถูกศาลปกครองพิพากษาให้ใช้ค่าเสียหายนั้นให้บริษัทเต็มจำนวน ซึ่งอาจเป็นพันล้านหมื่นล้านบาทก็ได้ 4.ความรับผิดระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยไม่ให้ส่งออกวัคซีนไปยังประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆ ที่มาทำสัญญากับบริษัทไปแล้ว ประเทศเหล่านั้นเขาเดือดร้อน เราก็จะเป็นแกะดำตัวใหญ่ในอาเซียนและในวงการระหว่างประเทศ 5.ความน่าเชื่อถือในประเทศไทยในการลงทุนที่พยายามทำกันมาแทบตายเพื่อขยับฐานะจะหายวับไป เพราะไม่รักษาสัญญา ไม่มีสัจจะ ไม่น่าลงทุน 6.ต่อไปสยามไบโอฯ ไปทำสัญญากับใคร ก็ไม่มีใครอยากคบค้าด้วย
วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้าพบ ร.ต.ท.ถิรพุทธิ์ สุขชัย และ ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. แจ้งความเอาผิด ต๊อด-ปิติ กรณีโพสต์ข้อมูลเท็จ “วัคซีนผสมน้ำ” มีด้วยหรือ? ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และอาจเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศฯ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขปี 2560 ม.14(2) จึงต้องนำความไปร้องต่อปอท. เพื่อแจ้งความเอาผิด ตามครรลองของกฎหมายต่อนายต๊อด-ปิติ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในสังคมต่อ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |